บลจ.กรุงไทยขายตราสารหนี้ 6 เดือนชูยิลด์ 1.55%ต่อปี

บลจ.กรุงไทยขายตราสารหนี้ 6 เดือนชูยิลด์ 1.55%ต่อปี

บลจ.กรุงไทยขายตราสารหนี้ 6 เดือนชูยิลด์ 1.55% ต่อปี ระบุจับตาผลการประชุมอีซีบี ขยายคิวอีหรือไม่

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้เอฟไอเอฟ 124 ( KTFF124) ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 13 ธ.ค. อายุ 6 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศประเภทเงินฝากประจำ China Construction Bank Corporation Limited ผลตอบแทนของตราสาร 1.75%ต่อปี , Emiratcs NBD PJSC ผลตอบแทน 2%ต่อปี , Commercial Bank of Qatar ผลตอบแทน 1.75% ต่อปี , Ahi bank QSC. ผลตอบแทน 1.95% ต่อปี และ First Gulf Bank PJSC ผลตอบแทน 1.75%ต่อปี ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และมีค่าใช้จ่าย 0.23%ต่อปี ดังนั้น ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทน 1.55%ต่อปี ซึ่งกองทุนมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ หลังโอเปค บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันได้สำเร็จ มีผลเริ่มบังคับใช้ในเดือน ม.ค. ปีหน้า ถือเป็นการลดกำลังการผลิตครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551 โดยถัดไปต้องติดตามท่าทีของผู้ผลิตน้ำมันที่ไม่ได้อยู่ใน โอเปค โดยเฉพาะรัสเซีย ว่าจะลดกำลังการผลิตด้วยหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 1,326 ล้านบาท โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 1.64% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ที่ 2.11% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี อยู่ที่ 2.74% ต่อปี ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 1.11% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ที่ 1.84% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี อยู่ที่ 2.40% ต่อปี

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็ว หลังโอเปค บรรลุข้อตกลง ซึ่งนับเป็นสัญญาณเงินเฟ้อในระยะต่อไป นอกเหนือจาก จีดีพี ไตรมาส 3 ของสหรัฐที่ขยายตัว 3.2% ดีกว่าที่คาดไว้ที่ 3.0% รวมถึงโอกาสค่อนข้างสูงที่ เฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาที่ 178,000 ตำแหน่ง ใกล้เคียงกับตลาดคาดการณ์ที่ 180,000 ตำแหน่ง 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม จะเป็นผลการประชุม ECB ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) ว่าจะขยายอายุมาตรการ QE หรือไม่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน ผลกระทบของ เบร็กซิท ต่อ อียู และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ