เผยผลสำเร็จ 'คลินิกเลิกบุหรี่' รพ.น่าน ช่วง3ปี

เผยผลสำเร็จ 'คลินิกเลิกบุหรี่' รพ.น่าน ช่วง3ปี

เผยผลสำเร็จ “คลินิกเลิกบุหรี่” รพ.น่าน ช่วง 3ปี ช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้เกือบครึ่ง ลดโรคแทรกซ้อน ประหยัดค่ารักษาพยาบาลรัฐได้ถึง 4.9 ล้านบาท

นางอุลี ศักดิ์สุวรรณ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาล(รพ.)น่าน  กล่าวถึงการถอดบทเรียนคลินิกเลิกบุหรี่ โรพ.น่าน  สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ว่า เป้าหมายของคลินิกเลิกบุหรี่ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคเอ็นซีดี (NCDs) เช่น โรคมะเร็งปอด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ให้มีความรู้ความเข้าใจในพิษภัยของบุหรี่ และสามารถ ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ด้วยตนเอง ทำให้สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้  ซึ่งผลการดำเนินงานของโครงการฯ ในปีพ.ศ. 2557-2559 ทำให้อัตราผู้เลิกบุหรี่ในผู้ป่วยโรคเอ็นซีดี จำนวน 576 ราย เลิกบุหรี่ได้สำเร็จจำนวน 245 ราย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐได้ถึง 4.9 ล้านบาท คิดเป็น 1,633,333  บาทต่อปี 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผอ.ฝ่ายบริการปฐมภูมิ  รพ.น่าน กล่าวว่า  สิ่งที่ทำให้คลินิกเลิกบุหรี่ รพ.น่าน ประสบผลสำเร็จในการช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้ คือตัวผู้ป่วยหรือผู้ต้องการเลิกบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ถ้าผู้ป่วยมีความสมัครใจและให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามที่ผู้ให้การปรึกษาแนะนำอย่างตั้งใจ มุ่งมั่น มีแรงบันดาลใจหรือใจต้องมาก่อนเสมอ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่ต้องสนับสนุน เสริมแรง ติดตามสม่ำเสมอ โดยใช้หลักการให้คำปรึกษารายบุคคลและดำเนินการโดยใช้หลัก 5A  คือ ASK = ถาม , ADVISE =แนะนำ , ASSESS = ประเมิน , ASSIST = ช่วยให้เลิก , ARRANGE = ติดตาม โดยการทำงานเริ่มจากซักประวัติการสูบบุหรี่/ประเมินระดับการติดสารนิโคติน จากนั้นตรวจสมรรถภาพปอด ใช้สื่อการสอนสุขศึกษาหลากหลาย แนะนำเทคนิคการเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง โดยใช้มะนาว ใช้น้ำยาบ้วนปากอดบุหรี่ที่ผลิตจากกลุ่มงานเภสัชกรรม ควบคู่กับการให้กำลังใจ และติดตามทางโทรศัพท์ทุก 7 วัน , 1 เดือน ,  3 เดือน ,6 เดือน  โดยเมื่อครบ 6 เดือน จึงประเมินผล  ถ้าหากเลิกบุหรี่ไม่ได้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาช่วยเลิก ควบคู่กับการให้คำปรึกษา และติดตามผล

“คลินิกเลิกบุหรี่ฯ มีกระบวนการดำเนินงานและเก็บข้อมูล บันทึกประวัติและคัดกรองผู้ป่วยที่มารับบริการทุกราย เชื่อมข้อมูลผู้เลิกบุหรี่ในคลินิกเลิกบุหรี่ต่างๆ ติดตามผลการทำงานชัดเจน  และมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายในโรงพยาบาล ด้วยการดูแลผู้ป่วยและสร้างเสริมสุขภาพเชื่อมต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันแบบครบวงจร แบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน เป็นการดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการ โดยการเชื่อมโยงกับเครือข่ายและสหวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์   เภสัชกร พยาบาล เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  (อสม.) เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และเครือข่ายองค์กรสงฆ์ ในพื้นที่ด้วย  นพ.พงศ์เทพ กล่าว