เภสัชกรรพ.ดังชี้ 'หญ้าดอกขาว' ช่วยลดความอยากอาหาร-บุหรี่

เภสัชกรรพ.ดังชี้ 'หญ้าดอกขาว' ช่วยลดความอยากอาหาร-บุหรี่

"ภญ.ผกากรอง" รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เผย "หญ้าดอกขาว" ช่วยลดความอยากอาหารและบุหรี่ แนะกลุ่มโลหิตจาง-ขาดสารอาหารห้ามกิน

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยหญ้าดอกขาว พบว่ามีสรรพคุณช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ได้ เนื่องจากในหญ้าดอกขาวจะมีสารไนเตรท มีฤทธิ์ทำให้ประสาทรับรู้รสบริเวณลิ้นมีความรู้สึกชา ผู้ที่บริโภคหญ้าดอกขาวเข้าไปจะไม่รับรู้รสชาติใดๆ ส่งผลให้ไม่มีความอยากจะสูบบุหรี่

นอกจากนี้ หญ้าดอกขาวมีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย โดยในคนที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน มีการแนะนำให้รับประทานหญ้าดอกขาวก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ เพราะสารไนเตรดที่มีอยู่ในหญ้าดอกขาวจะไปเคลือบต่อมรับรสที่อยู่บริเวณลิ้นเวลารับประทานอาหารเข้าไปจะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย จนทำให้รับประทานอาหารได้น้อย ทั้งยังช่วยลดความอยากรับประทานอาหารลงได้ด้วย

ภญ.ผกากรอง กล่าวต่อว่า สารไนเตรทที่ไปเคลือบบริเวณต่อมรับรสบนลิ้น จะไม่เกิดการตกค้างในร่างกาย เพราะสารนี้จะถูกชะล้างออกจากลิ้นได้เพียงกลืนน้ำลายหรือดื่มน้ำ และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังยืนยันชัดเจนอีกว่าการที่น้ำชะล้างสารไนเตรทลงไปในร่างกาย จะไม่มีผลกระทบต่อระบบต่างๆในร่างกาย โดยฤทธิ์ของสารไนเตรทที่อยู่ในหญ้าดอกขาวจะอยู่ติดลิ้นได้ประมาณ1-2 ชั่วโมงเท่านั้นก็จะจางไป

"การรับประทานหญ้าดอกขาวจริงๆแล้วสามารถรับประทานได้ตามความต้องการ เพราะไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่ร่างกายสามารถขับออกเองได้ ทั้งนี้ การรับประทานหญ้าดอกขาวสามารถรับประทานได้ใน2รูปแบบ ได้แก่ 1.การรับประทานในรูปแบบของการชงเป็นชาดื่ม และ2.การรับประทานแบบลูกอม ซึ่งจะรับประทานครั้งละ 2-3เม็ด ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้รับประทาน หากน้ำหนักตัวมากก็ให้รับประทานมากตามน้ำหนักตัว เป็นต้น" ภญ.ผกากรองกล่าว

ภญ.ผกากรอง กล่าวด้วยว่า สำหรับหญ้าดอกขาวที่นำมาทำชาหรือลูกอมนั้น จะใช้ได้จากทุกส่วนของหญ้าดอกขาวที่อยู่เหนือดินขึ้นมา ทั้ง ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ยอด และดอก ส่วนผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่หรืออยากลดน้ำหนักส่วนเกินที่ต้องการกินในรูปแบบยาอม สามารถหาซื้อ “ยาอมไม่อยากข้าว” ได้ที่ร้านขายยา เนื่องจากยาอมไม่อยากข้าว เป็นยาควบคุมที่ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้จำหน่าย เพื่อคอยให้คำแนะนำก่อนรับประทาน เช่น ต้องรับประทานร่วมกับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ5หมู่ และลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ไม่แนะนำให้รับประทานยาอมไม่อยากข้าว ได้แก่ กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องโลหิตจาง และกลุ่มคนที่ขาดสารอาหาร