‘สมคิด’นำทีมบุกจีนถกเพิ่มค้า 2 เท่าใน 5 ปี

‘สมคิด’นำทีมบุกจีนถกเพิ่มค้า 2 เท่าใน 5 ปี

“สมคิด” นำทีมเศรษฐกิจประชุมร่วมเจซีไทย-จีน ลงนามต่ออายุแผนพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองประเทศออกไปอีก 5 ปี ตั้งเป้าการค้าทะลุ1.2 แสนล้านดอลล์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเข้าประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 5 (The 5th Meeting of the Joint Committee of Trade, Investment and Economic Cooperation between Thailand and China : เจซี ) ที่ประเทศจีนระหว่างวันที่ 7-11 ธ.ค.นี้ พร้อมหารือกับนายแจ๊ค หม่า ประธานกรรมการบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป และผู้บริหารบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ถึงความร่วมมือด้านการลงทุนในไทย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมคิด แจ้งว่า การเดินทางไปประชุมร่วมกับจีนครั้งนี้จะหารือถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย ในส่วนความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมชักชวนให้นักลงทุนจีนมาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลเร่งรัดการลงทุน

ในที่ประชุมครม.ได้อนุมัติกรอบท่าทีไทยและร่างเอกสารสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 5 ซึ่งนายสมคิด จะเป็นผู้ลงนามในการประชุมร่วมกับรัฐบาลจีน

เตรียมลงนามร่วมจีน9ฉบับ

สำหรับการประชุมเจซีครั้งนี้ จะลงนามความร่วมมือ 9 ประเด็น 1.ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน เป็นการเน้นย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศและร่วมมือกันขยายมูลค่าการค้าเป็น 2 เท่าจากปัจจุบันภายใน5ปี หรือเป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563 โดย 2 ฝ่ายจะขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการลงทุนใน10 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออกและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างการ โดยเน้นบทบาทนำของไทยในการเป็นศูนย์กลางของ CLMVT และ อาเซียน

2.ขยายการค้าสินค้าเกษตร จะเร่งรัดและผลักดันความร่วมมือให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยสินค้าเกษตร 3.ความร่วมมือด้านสาธารณูปโภคและโครงการต่างๆ จะผลักดันความร่วมมือด้านรางรถไฟให้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระบบรางระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน 4.ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และความร่วมมือด้านอวกาศ

5.ความร่วมมือด้านการเงิน จะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมด้านสกุลเงินหยวน สนับสนุนเงินทุนจากสถาบันการเงินของจีนในโครงการความร่วมมือต่างๆ 6.ความร่วมมือด้านท่องเที่ยวเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 7. ด้านพลังงานจะผลักดันความร่วมมือ ที่เป็นรูปธรรมและการลงทุนจากจีนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานขยะ พลังงานลม พลังงานชีวมวล

8.ความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ผลักดันการใช้ประโยชน์จากกลไกการหารือระหว่างไทยและมณฑลสำคัญของจีน และ 9.การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค มีการผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว และเร่งรัดเจรจาประเด็นคงค้างภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เช่น การเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม

ขอยืดแผนพัฒนาศก.ร่วมต่ออีก5ปี

นอกจากนี้ จะมีการเห็นชอบต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีน ระยะ 5 ปี รวมถึงแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน การหารือครั้งนี้จะต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย-จีนออกไปอีก 5ปี ตั้งแต่ 2560-2564 ครอบคลุมสาขาความร่วมมือ14 สาขา ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว การให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ทรัพย์สินทางปัญญา วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม เกษตร อุตสาหกรรม (สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์) สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เหมืองแร่ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และ การเงิน

ขณะเดียวกันจะลงนามเอกสารสำหรับการต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี ไทย-จีน มี Joint Action Plan ที่เป็น Economic Strategic Partnership โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การลงนามเส้นทางรถไฟโคราช-หนองคาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และการลงนามเอกสาร ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการสำหรับใบรับรองดิจิทัลในสินค้าเกษตร โดยเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และการลงนาม Letter of Intent ร่วมกับ Alibaba Group

ลงนามเอ็มโอซีรถไฟเร็วสูง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าจะลงนามในบันทึกความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าที่ประเทศจีนวันที่9ธ.ค.นี้

เอ็มโอซีดังกล่าวจะตอกย้ำเจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ซึ่งลงนามไปก่อนหน้านี้พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับฝ่ายจีนว่าโครงการความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนจะก่อสร้างจากกรุงเทพฯถึงจ.หนองคายและเชื่อมโยงกับรถไฟจากประเทศลาวเพราะปัจจุบันฝ่ายไทยและจีนหารือเฉพาะช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเท่านั้น

ดึงอาลีบาบาร่วมพัฒนา

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าการลงนามกับอาลีบาบา ระบุถึงแผนความร่วมมือว่าด้วยการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าถึงโครงสร้างของระบบอีคอมเมิร์ช ทั้งระดับประเทศและนานาประเทศ สนับสนุนการเกิดของโครงสร้างอีคอมเมริชของไทย และความร่วมมือการพัฒนาซัพพลายเชนที่เชื่อถือได้ สำหรับเอสเอ็มอีในการดำเนินการต่ออีคอมเมิร์ชท้องถิ่น เช่น ลาซาดา และเว็บไซต์ระดับนานาชาติ อย่างอาลีบาบา และTmall Global

บริษัท Alibaba cloud เสนอการสนับสนุนภาครัฐในการพัฒนาระบบคลาวด์ และระบบการบริหารจัดการข้อมูลในการดำเนินโครงการ smart Tour Smart Education และโครงการ smart City เสนอการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลไทย โดยใช้ประสบการณ์และเทคโนโลยีของบริษัท เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะด้านอี-คอมเมิร์ช อุตสาหกรรมเกมส์ และสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ เสนอการแลกเปลี่ยน

บริษัท ลาซาด้า เสนอการขยายการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เสนอการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย เพื่อให้สอดรับกับการเติบโตของอี-คอมเมิร์ช การพัฒนาระบบอี-เพย์เมนท์ และระบบอี-มันนี่ ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นหน่วยงานหลักเจรจา