‘อาม่ามารีน’ ระดมทุนขยายบริการเรือ ‘เท่าตัว’

‘อาม่ามารีน’ ระดมทุนขยายบริการเรือ ‘เท่าตัว’

"อาม่า มารีน" เดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น นำเงินขยายบริการเรือเท่าตัว ชูจุดเด่นเป็น "หุ้นขนส่งสินค้าเฉพาะของเหลว" รายแรก

หากเอ่ยถึงธุรกิจให้บริการขนส่งทางเรือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับหุ้นกลุ่มเดินเรือ คงจะมีแต่คนเบือนหน้านี้ เพราะทิศทางค่าระวางเรือที่มักจะถูกกล่าวถึงอย่างดัชนี Baltic Dry Index (BDI) ที่ลดลงต่อเนื่องจากระดับ 2,300 จุด ลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 290 สุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวมาอยู่ที่ 1,100 - 1,200 จุด ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิ้นปีนี้ คาดว่าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จะได้ต้อนรับน้องใหม่อีกรายหนึ่ง ซึ่งอยู่ในธุรกิจให้บริการเดินเรือเช่นเดียวกัน ‘บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) AMA’

‘อาม่า มารีน’ เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือในต่างประเทศและธุรกิจขนส่งสินค้าเหลวทางรถในประเทศ โดยสัดส่วนรายได้กว่า 70% นั้นมาจากธุรกิจเดินเรือ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่บริษัทให้บริการมาตั้งแต่ปี 2539

พิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการของบริษัท กล่าวว่า แม้อาม่า มารีนจะเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางเรือเช่นเดียวกับบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หลายราย แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ อาม่า มารีน จะเป็นบริษัทขนส่งทางเรือรายแรกที่ขนส่งสินค้าเฉพาะของเหลวที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย

แม้ดัชนีบีดีไอจะปรับตัวลงมากในช่วงที่ผ่านมาจนทำให้ผลประกอบการของหลายบริษัทออกมาไม่ดีนัก แต่จะเห็นว่ารายได้และกำไรของบริษัทยังเติบโตได้ต่อเนื่องเป็นเพราะว่าการให้บริการขนส่งของเหลวนี้ไม่ได้อิงกับดัชนีบีดีไอ

“สินค้าหลักที่บริษัทให้บริการขนส่งคือ น้ำมันปาล์ม มีอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นผู้ผลิตหลักของโลก และการใช้น้ำมันปาล์มส่วนมากจะอยู่ในเอเชียเป็นหลัก ทำให้การให้บริการขนส่งน้ำมันปาล์มของบริษัทค่อนข้างจะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) และการกำหนดค่าบริการขนส่งนี้จะใช้วิธีการเจรจาต่อรองโดยอิงกับราคาตลาดของการให้บริการประเภทนี้ โดยขึ้นอยู่กับต้นทุนในแต่ละช่วง ทำให้บริษัทค่อนข้างที่จะรักษาอัตรากำไรไว้ได้ใกล้เคียงกัน”

แม้ค่าบริการอาจจะมีการปรับตัวขึ้นลงตามแต่ต้นทุน สำคัญคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่โดยปกติแล้วอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ประมาณ 30% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ราว 15-20%

สำหรับโอกาสในการเติบโตของบริษัทจะเป็นไปตามความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม และการขยายฐานลูกค้าในพื้นที่ใหม่ โดยน้ำมันปาล์มถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่าง ใช้ประกอบอาหาร ส่วนผสมของยา และน้ำยาทำความสะอาด รวมถึงการพัฒนามาเป็นส่วนผสมของน้ำมันดีเซล

ที่ผ่านมาฐานลูกค้าหลักจะอยู่ในอาเซียนเป็นหลัก โดยขนส่งจากลูกค้ารายใหญ่ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม บริษัทเริ่มมีฐานลูกค้าใหม่ๆ ใน 2 ประเทศที่สำคัญ คือ อินเดีย และจีน ซึ่งมีความต้องการใช้ค่อนข้างสูง จากจำนวนประชากรขนาดใหญ่ โดยทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มอันดับใหญ่รวมกัน 15.1 ล้านตัน (ณ ปี 2558) ซึ่งบริษัทเพิ่งเริ่มให้บริการเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

“แม้กองเรือของบริษัทจะพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ 2 ราย ถึง 76% แต่ที่ผ่านมาก็ให้บริการมาต่อเนื่องกว่า 10 ปี ด้วยการให้บริการที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามบริษัทก็พยายามขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ รวมถึงสินค้าใหม่ๆ ในกลุ่มของเหลวและสารเคมีซึ่งเป็นตลาดเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงด้วย”

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายเรือเพิ่มอีก 3 ลำ จากที่มีอยู่ 7 ลำ แต่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการให้บริการอีกเท่าตัว เพราะเรือ 3 ลำใหม่นี้จะมีขนาดใหญ่กว่าเดิม มีน้ำหนักบรรทุกรวม 3.9 หมื่นเดทเวทตัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 295 - 348 ล้านบาท และโดยปกติแล้วบริษัทจะมีอัตราการให้บริการถึง 90% ของความสามารถในการให้บริการทั้งหมด โดยเรือลำแรกนั้นเริ่มให้บริการแล้ว ขณะที่อีก 2 ลำ จะเริ่มให้บริการไตรมาส 2 ปี2560

ด้านธุรกิจให้บริการขนส่งทางรถบรรทุก ปัจจุบันมีจำนวน 80 คัน จะเพิ่มเป็น 100 คัน ในสิ้นปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 150 คัน ในปี 2560 โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเฉพาะส่วนของบริษัทราว 44 - 55 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการใช้สินเชื่อ โดยลูกค้าหลัก 90% ของบริษัท คือ พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG)

การให้บริการรถบรรทุกนี้ พีทีจี ถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญ ด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทที่เป็นเครือญาติกัน โดยการเติบโตของธุรกิจนี้จะเป็นไปตามแผนการขยายปั๊มน้ำมันของพีทีจี ซึ่งยังเติบโตต่อเนื่อง และพีทีจีเองก็เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอาม่า 24%

นอกจาก 2 ธุรกิจเดิมนี้ บริษัทพยายามมองหาโอกาสในการขยายการให้บริการด้านโลจิสติกส์เพิ่มเติม แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาการลงทุน จึงยังมีความไม่แน่นอนในการลงทุน ขณะเดียวกันการที่บริษัทมี พีทีจี เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำให้บริษัทพยายามมองหาความร่วมมือทางธุรกิจเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน

ผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา มีรายได้รวมระหว่างปี 2556-2558 ที่ 434 ล้านบาท 514 ล้านบาท และ 658 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 23% ต่อปี ขณะที่ 9 เดือน ปี 2559 มีรายได้รวม 677 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิระหว่างปี 2556-2558 ทำได้ 20 ล้านบาท 85 ล้านบาท และ 130 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 152% ต่อปี และงวด 9 เดือนของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัท อาม่า มารีน จะดำเนินการเสนอขายหุ้นไอพีโอ 108 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปซื้อเรือเพิ่ม 2 ลำ ซึ่งจะใช้กระแสเงินสด 250 ล้านบาท เพราะปกติการซื้อเรือของบริษัทจะใช้เงินกู้ 70% และกระแสเงินสด 30% และนำเงินซื้อรถบรรทุกเพิ่มอีกประมาณ 40-50 คัน ซึ่งจะใช้เงิน 44-45 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการกู้เงิน 90% ส่วนที่เหลือใช้กระแสเงินสด โดยบริษัทมองหาโอกาสในการเข้าลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์อื่นๆ และที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

โดยบริษัทได้คาดรายได้ปี 2560 เติบโตต่อเนื่อง หลังจากมีแผนซื้อเรือจำนวน 2 ลำ ภายในไตรมาส 1 ปี2560 ขนาด 1.3 หมื่นเดทเวทตัน ราคาลำละ 12 ล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่มีกองเรือ 8 ลำ และบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มรถบรรทุกน้ำมันอีกประมาณ 40-50 คัน จากปัจจุบันที่มี 95 คัน นอกจากนี้ ตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรขั้นต้น (Gross margin) ที่ประมาณ 30% และอัตรากำไรสุทธิ (Net margin) ที่ 15-20%