ธุรกิจปรุงสูตรลับ ท้าชนเศรษฐกิจปีหน้า

ธุรกิจปรุงสูตรลับ ท้าชนเศรษฐกิจปีหน้า

นับถอยหลังปีเก่า ธุรกิจมองข้ามชอต สู้ศึกปีหน้า ถอดเคล็ด(ไม่)ลับปรุงสูตรธุรกิจ ผ่านมุมมองหลากซีอีโอแถวหน้าเมืองไทย

ก้าวเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2559 ปีที่ธุรกิจต้องรับมือกับ “มรสุม” หลากลูก ทำเอาภาพรวมธุรกิจสะบักสะบอม สะท้อนจากกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศที่มีแต่ทรงกับทรุด จนรัฐต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ล่าสุดกับแนวคิดออกพันธบัตรแสนล้าน กระจายสู่ 18 กลุ่มจังหวัดทั่วไทย กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2560 

ที่ผ่านมาการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) ยังส่งผลกระทบระยะสั้นทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลง จนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งกระทบตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ 

ขณะที่ภาคส่งออกไทยยังอยู่ในแดนลบ บทสะท้อนกำลังซื้อทั่วโลกซบเซา อาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2560 ที่ยังมีปัจจัยผันผวนภายนอกประเทศให้กังวล โดยเฉพาะนโยบายการค้าระหว่างประเทศของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีของใหม่ ของมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ1ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา

ปีที่กำลังจะผ่านมา ยังเกิดมรสุมใหญ่ที่ประชาชนชาวไทยไม่คาดฝัน นั่นคือ การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ยังความโศกเศร้าให้ประชาชนทั้งแผ่นดิน ส่งผลให้ภาคธุรกิจร่วมแสดงความอาลัยโดยงดและลดการจัดกิจกรรมรื่นเริง ขณะที่การบริโภคชะลอตัว

ทว่า ธุรกิจยังต้องเดินต่อไป บนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจปีหน้า โดยต้องทำตัวเองให้พร้อมรับทั้ง “อุปสรรคและ โอกาส” 

ในงาน “Business Outlook & Must-Do for 2017” ที่จัดโดยศูนย์การเรียนรู้ เอ็ม อะคาเดมี่ ได้เชิญนักธุรกิจผู้มากประสบการณ์ มาเผย “เคล็ดลับ” ความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในสภาวะต่างๆ

มีเวลาเพียง 3-4 สัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ ที่ภาคธุรกิจจะหัวหมุนวุ่นกับการทำ “ตัวเลข” ยอดขายให้เติบโตตามเป้า หรือจะเลือกเผชิญหน้ากับความจริงที่เกิดขึ้น แล้วปรับตัวเองและองค์กรให้เข้ากับสถานการณ์ดี คือคำถามชวนคิดของ ทอม เครือโสภณ” ดีลเมคเกอร์ที่เพิ่งเป็นตัวกลางซื้อขายหุ้นดีลใหญ่ระหว่างไทยแอร์เอเชีย กับคิงเพาเวอร์ ฉายภาพเศรษฐกิจที่ธุรกิจไทยต้องตัดสินใจทำในช่วงโค้งสุดท้าย

เพราะต้องรับยอมแบบไม่โลกสวยว่า สถานการณ์หลายอย่างในปีนี้ ไม่เอื้อต่อการ เติบโต เช่น การท่องเที่ยวเวลานี้จะหวังให้มีนักท่องเที่ยวจากจีนไหลเข้ามาเป็นล้าน ย่อมยาก! ดังนั้นหากสิ่งที่หวังไม่เป็นดั่งใจ สิ่งที่ต้องทำคือ 

เผชิญหน้ากับความจริง ปรับตัวเอง ปรับใจคนให้เข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริง แล้วใช้เวลาเดือนสุดท้ายเพื่อเตรียมตัวสำหรับ 12 เดือนข้างหน้า

ก่อนจะเตรียมตัวรับอนาคต ต้องคาดเดาปีหน้าเสียก่อน ส่วนจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตัดสินใจ เพราะหากมี 100 คน มองปีหน้าจะแย่ 90 คน โดยมีแค่ 10 คนที่มองดี อย่างนั้นคุณจะเลือกเป็นใคร

ความเชื่อมั่น เป็นสิ่งสำคัญ ในปี 2560 ธุรกิจจะเป็นอย่างไร ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่เกี่ยวกับตัวคุณก่อนว่าจะตัดสินใจยังไง จะดีหรือแย่  ทอม ให้ความเห็น 

“หลายคนมองปีหน้าอาจไม่ดี แต่ถ้าในห้องมืด คุณเป็นไฟได้ ทุกอย่างก็จะสว่างไปหมด แต่ถ้าทุกคนนั่งในห้องมืดกันอยู่ได้ จะทำมาหากินอย่างไร” ดังนั้นมุมมองที่ดีและความเชื่อมั่นจะต้องสร้างจากตัวเองก่อน เพื่อเป็นแรงขับไขว่คว้าโอกาสสู่ความสำเร็จ เขาเชื่อเช่นนั้น

แม้มองบวก แต่หากฉายภาพธุรกิจ โดยเฉพาะ การซื้อและควบรวมกิจการ” (Mergers and Acquisitions : M&A) ปีหน้า ทอม ว่า ธุรกิจจะเข้าขั้น มีปัญหา เยอะ สัญญาณที่บ่งชี้อาการดังกล่าวคือ การส่งออกที่ “ตกมาก” การท่องเที่ยวหดตัวเกือบ 3% การบริโภคภายในประเทศ การจับจ่ายใช้สอยลดลงมาก จะกระทบสภาพคล่องของผู้ประกอบการ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ธุรกิจขาด กระแสเงินสด จะทำให้เกิดความตื่นเต้น แตกตื่น เพราะกลัวเจ้าหนี้จะมาเคาะประตูเรียกคืนเงินกู้ หรือหนี้สินต่างๆ

แล้วธุรกิจไหนอยู่ในภาวะเช่นนั้น เขาบอกว่า อสังหาริมทรัพย์ เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการจำนวนมาก แต่ปริมาณ เหลือขาย สูง และจะก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มากขึ้น

ปีหน้าคนจะ ช็อตเงินสด เมื่อเงินช็อตก็จะตัดสินใจผิด กลัวเจ้าหนี้มาทวง งั้นก็ขายกิจการออกมาแล้วกัน ดังนั้นปีหน้าจะเห็นการเจรจาซื้อขายกิจการหรือดีลกันเยอะมาก” ซึ่งเข้าทางบทบาทของดีลเมคเกอร์เช่นเขา

ยุคนี้ หากต้องการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ทอมบอกเคล็ดลับว่า “ต้องหาพันธมิตร” และหากต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว พลิกธุรกิจขนาดเล็กให้กลายเป็นใหญ่ในข้ามคืน ก็อาศัยวิธีการซื้อและควบรวมกิจการ เพราะ “ธุรกิจทุกวันนี้ขนาดเป็นสิ่งสำคัญ หากเริ่มเล็กจะลำบาก” ส่วนการคัดคู่ เขาบอกว่าต้องมองคนที่จะ “เติมเต็ม” ส่วนที่ขาดเพื่อทำให้บริษัทสมบูรณ์ อย่างดีลแอร์เอเชียกับคิงเพาเวอร์ เป็นการจับคู่ธุรกิจสายการบิน มาเจอกับสินค้าอุปโภคบริโภคดิวตี้ฟรี เป็นการขยายอาณาจักรสู่ Non-Duty free อย่างสวยงาม

เป็นธุรกิจที่ใกล้ชิดกับ ผู้บริโภค และรับรู้กำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคแบบ  Real time สำหรับ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) หรือบีเจซี และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) เพราะนอกจากจะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นแล้ว บิ๊กซียังเป็นหน้าร้านในการขายสินค้าเหล่านั้นด้วย

หลังการบีเจซี ทุ่มเงินแสนล้านบาท ซื้อบิ๊กซี ทำให้การค้าขายของบริษัท ครบวงจร” จากเดิมบีเจซีตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นำสินค้าจากต่างประเทศมากระจายในไทย จนตั้งโรงงานผลิต และกระจายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค แต่ถึงปลายทาง ไม่สุด” ส่วนบิ๊กซี มีแค่ปลายน้ำ ไม่มีโรงงานผลิตต้นน้ำ และกลางน้ำ เพราะรับจากผู้ผลิตและเจ้าของสินค้ามาขายอีกทอดหนึ่ง  

ขณะที่การพยายามสร้างห้างค้าปลีกเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทุ่มเงินและพลังกายมหาศาล แต่กลับเปิดได้ 3 สาขา สูตรสำเร็จสำหรับเขาจึงเป็นการ ซื้อกิจการ” มาสานต่อเสริมแกร่ง

นอกจากนี้ ความสำเร็จจะเกิดไม่ได้ หากไม่เป็นเพราะ “อัศวิน” ทุ่มเททำงานหนักขึ้น เดิมดูยอดขายบีเจซีเป็นเดือน แต่กับบิ๊กซี ไม่ใช่ เพราะทุกเม็ดเงินที่ทุ่มซื้อสื่อโฆษณาผ่านโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ทำให้ต้องเกาะติดยอดขายเป็น“รายสัปดาห์”เพื่อดูผลตอบแทนกำไรจากเม็ดเงินที่ลงไป

นี่คือการปรับตัวในการทำงานที่เปลี่ยนไป เพราะก้าวจังหวะธุรกิจค้าปลีกเร็ว กระชับ

ส่วนการจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกสำเร็จควบคู่การผลิตและกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มี ปีหน้าทิศทางของบริษัทคือการ เชื่อมโยง” เครือข่ายธุรกิจที่มี โดยนำค้าปลีกบิ๊กซีไปผนึกกำลังกับบีเจซีในประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม ซึ่งมีฐานค้าปลีกกว่า 100 สาขา ลาวกว่า 50 สาขา และอาจเห็นในกัมพูชา และเตรียมนำสินค้าจากบีเจซี เข้าไปทำตลาดในมาเลเซียด้วย 

“ปีหน้าเราตั้งใจจะเป็นกลไกหนึ่งในการนำเสนอสินค้าดีๆของไทยไปโลดแล่นในต่างประเทศมากขึ้น”

ส่วนในประเทศ เขามุ่งไปที่การ สร้างประสบการณ์ชอปปิง” แก่ผู้บริโภคให้ได้สัมผัสกับบริการที่ดีทุกจุดสำคัญของห้าง (Touch-point) ไม่ว่าจะเป็นจุดชำระค่าสินค้าและบริการว่าให้รอนานเกินไปหรือไม่ หาสินค้าไม่พบมีพนักงานมาช่วยเหลือหรือไม่ พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน คนทำความสะอาดกล่าวทักทายยิ้มแย้มแจ่มใสหรือไม่ เป็นต้น    ​    

ขณะเดียวกันจะเดินหน้าสร้างฐานข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้รู้ว่าใครซื้อสินค้าเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร ลูกค้าภาคไหนนิยมหรือไม่ชอบสินค้าใดบ้าง จะได้ตอบสนองได้ตรงความต้องการ 

“บีเจซีมีลูกค้าหลักพันราย เช่น องค์กร คู่ค้า แต่บิ๊กซีมีลูกค้านับสิบล้านราย และเมื่อก่อนบีเจซีไม่เคยรู้เลยว่ามันฝรั่งที่ผลิตไป ไม่รู้เลยว่าผู้บริโภคอีสาน ภาคใต้ ชอบรสชาติใด สบู่ ทิชชู่ที่ผลิตไป ไม่รู้เลยว่าใครใช้ ถ้าอยากได้ข้อมูลเหล่านี้ต้องซื้อ แต่ปัจจุบันเราทราบทุกจังหวัด ทุกสาขา ทุกพื้นที่ ตรงนี้คือข้อมูลมหาศาล เป็นสินทรัพย์ก้อนหนึ่ง และเราจะสร้างฐานข้อมูลให้มากขึ้น”  

เพราะต้องขับเคลื่อน 2 องค์กรพร้อมกัน อีกภารกิจที่ต้องทำคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ไปด้วยกันได้ 

ปี 2559 เป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของผมเอง และถือเป็นปีที่หนัก แต่สนุก  และสิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำอยู่ปิดปีนี้คือพยายามช่วยทำให้ภาพรวมดีขึ้น 

ส่วนปีหน้าเขายังเชื่อมั่นและมองว่าประเทศไทยในภาพรวมยังดี แต่ก็ไม่ประมาท จึงมีการบริหารความเสี่ยงด้วย เพราะหากเดินหน้าอย่างเดียวแล้วเกิดผิดพลาด ย่อมเกิดผลกระทบตามมา 

 ความเชื่อมั่นมีพลังมหาศาลจริงๆ การไปลงทุนในต่างประเทศ ความเชื่อมั่นมีความหมายมาก มีน้ำหนักความสำคัญพอๆกับปัจจัยพื้นฐาน ถ้าคนหลายๆคนเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆจะดี มันก็จะดี ขณะเดียวกันทั้งประเทศคือคนไทย ถ้าคนในประเทศมีใจเข้มแข็ง ก็จะนำพาประเทศให้เดินหน้าไปได้ เช่นเดียวกับองค์กร”  

ด้านภาคอุตสาหกรรมที่ปีหน้ามองโอกาส สดใส” จากอานิสงส์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท บวกกับแรงหนุนจากเอกชนลงทุน 2 ล้านล้านบาท ทำให้ จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มองแค่ปี 2560 เป็นปีที่ดีปีเดียว 

“แต่จะช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า และเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะบูมมาก” เพราะจะเกิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ และการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมใหม่ด้วย 

เราจึงต้องเตรียมตัวหาซัพพลายน้ำที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า” เขาเผยภารกิจปีหน้า 

แต่การหาน้ำ ไม่ง่าย เพราะธุรกิจของอีสวอเตอร์ น้ำที่บริษัทต้องการนั้นมาจากฝน ธรรมชาติ  ทุกปีเลยต้องพึ่งเทวดามาช่วย “โมเดลธุรกิจเราง่าย สูบน้ำจากแหล่งเก็บน้ำส่งไปตามท่อให้กับลูกค้า และเราเป็นรายเดียวที่ซัพพลายน้ำดิบให้อุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ไม่มีคู่แข่ง เหมือนง่าย สบายๆ แต่จริงๆพึ่งเทวดาอย่างเดียว” เขาเล่าติดตลก 

นอกจากเตรียมรับมือเรื่องน้ำ อีกเรื่องที่จะต้องทำในปีหน้าคือการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น สถานีสูบน้ำมีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ 2 คน ในอีกมุม มองว่าไม่จำเป็นต้องใช้ แต่เทคโนโลยีมาทดแทน และช่วยให้ส่วนกลางควบคุมได้ด้วย ทำให้ลดต้นทุนการบริหารจัดการ ที่มาพร้อมประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงการพยายามนำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนมากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและทรัพยากรของประเทศ  

ส่วนเรียลเซ็กเตอร์อย่างภาคก่อสร้าง อนุทิน ชาญวีรกูล ประธานคณะกรรมการ บริษัท เอทีพี แอนด์ ไอ จำกัด(มหาชน) ผู้ผ่านและฝ่า “วิกฤติ” มาแล้ว เมื่อเกิดการ “ลอยตัว” ค่าเงินบาท นำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จากเศรษฐี กลายเป็นหนี้ในชั่วข้ามคืน 

วันที่ 2 ก.ค.40 ยังนั่งดูทีวี พิธีส่งมอบเกาะฮ่องกงกลับคืน นึกไม่ถึงว่าในอีก 12 ชั่วโมงให้หลัง เราจะหมดตัว เพราะขนาดซีเอฟโอของบริษัทเดินมาบอกว่ารัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงิน ยังย้อนถามกลับ “แปลว่าอะไร” และตอนลดค่าเงินจาก 26 บาทเป็น 28 บาทต่อดอลลาร์ ขณะนั้นมีหนี้ 200 ล้านดอลลาร์ ขยับไปเป็น 400 ล้านดอลลาร์ ยังมองเรื่องเล็ก กังวลไปเสียเวลา 

“ด้วยความไม่รู้เรื่องลอยตัว ลอยไปเรื่อยๆ ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ค่าเงินบาทแตะ 56 บาทต่อดอลลาร์ ตอนนั้นคำนวณดูหนี้เพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาทพอดี”

ด้วยพื้นฐานวิศวะฯ จึงหาทางปลอบใจตัวเอง ว่ามุมตกเท่ากับมุมสะท้อน “ถ้าไม่ปลอยใจ เดินต่อไปไม่ได้” ธุรกิจก่อสร้างที่พ่อ (ชวรัตน์ ชาญวีรกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ทำมา 30 กว่าปี มีทุนกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ลอยตัวค่าเงินบาททำให้ “ติดลบ” 4,000 ล้านบาททันที กว่าจะฟื้นตัวได้ เรียกว่าต้องยอมล้มละลาย เจรจาประนอมหนี้กับธนาคาร ยอมให้คนนอกเข้ามา “ปฏิวัติ” องค์กร เรียกว่ายอมทำทุกอย่าง เพื่อล้างหนี้ ให้บริษัทฟื้นตัวกลับมาใหม่ 

การก้าวจุดต่ำสุดมาได้ เขาบอกอย่างหนึ่งว่า ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจธุรกิจ" อย่างถ่องแท้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อตั้งหลักแล้วเดินต่อ ซึ่งขณะนั้นมีหนี้ แต่เจ้าหนี้ยังไม่เรียกชำระหรือเก็บหนี้ แต่งบการเงินจะต้องสำรองหนี้ไว้ “ดูสภาพธุรกิจแต่ละวัน เงินสะสม งานในมือยังมีและยังทำกำไรได้อยู่ ทำไม่ได้อย่างเดียวคือการคืนเงินต้นและดอกเบี้ย” 

 คน ยิ่งสำคัญ เพราะการก่อสร้างใช้แรงงานจากคนล้วนๆ บริษัทจึงไม่ยอมให้มีการลดสิทธิประโยชน์ใด จากนั้นจะรวมพลังช่วยกันทำงาน สุดท้ายการทำความเข้าใจ “งบดุล” เพื่อให้รู้สถานะองค์กร เพราะไม่น้อยที่ดูแค่สินทรัพย์ (หนี้สิน+ทุน) ทั้งที่ไส้ในอาจมีหนี้ มโหฬาร! แต่ทุนน้อยนิด!  

ยามเศรษฐกิจไม่ดี ให้บริหารเงินสด ไม่ต้องคำนึงถึงกำไรหรือขาดทุน แต่ทำยังไงก็ได้ให้มีเงินสด ประมูลงานอาจราคาต่ำหน่อย แต่สิ่งเดียวที่จะทำให้รอด ต้องมีเงินสดเยอะๆ จึงต้องประมูลงานเยอะๆ เพราะสำหรับก่อสร้างเมื่อเซ็นสัญญาแล้วจะมีการจ่ายเงินล่วงหน้า (Upfront payment) 10% มาหมุนก่อน 

แม้ปี 2559 หลายคนอาจมองเป็นปีที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่สำหรับ อนุทิน" เขายังเชื่อมั่นในประเทศไทยเต็มเปี่ยม ด้วยพื้นฐานทุุกด้านแข็งแกร่ง ไม่มีแรงกดดันจากภายนอก เว้นเสียแต่ “คนไทยเท่านั้นที่ทำให้สั่นคลอน” และคนที่เผชิญความล้มเหลว คือคนที่ไม่ยอมทำอะไรเลย และฝืนกระแส เช่น ประชาชนชาวไทยอยู่ในภาวะโศกเศร้า แล้วมีคนค้าขายเสื้อสันสีฉูดฉาด อย่าโทษคนอื่น ให้โทษตัวเองที่ฝืนกระแส 

อย่างไรก็ตาม 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่ภายใต้การบริหารรัฐบาลแบบพิเศษ การเติบโตของธุรกิจจึงคิดบวกว่า “ได้แค่นี้ก็พอแล้ว ได้แค่นี้ก็บุญแล้ว” เพราะในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก่อสร้างได้รับผลกระทบเพราะ 4 เดือนแรก ไม่มีงานประมูลโครงการต่างๆออกมาจากภาครัฐ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุด ประเทศไทยยังต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล เพื่อจะได้ยืนบนเวที และการแข่งขันในโลกได้  

-----------------------------

ผู้นำธุรกิจมองปีหน้ามิติไหน

ยักษ์ใหญ่ค่ายเบียร์เบอร์ 1 ของไทย พลิศร์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด แม่ทัพบริษัท สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด มองสถานการณ์ธุรกิจปี 2560 ยังเผชิญ ความไม่แน่นอน รอบด้าน ทั้งสถานการณ์ภายในประเทศ โดยกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัว และต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นผลที่ตามมาหลังอังกฤษแยกตัวออกจากยูโรหรือเบรกซิท การเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐ การระหว่างประเทศทั้งรัสเซีย-ตุรกี รัสเซีย-ซีเรีย กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

“โลกไร้พรมแดน และเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด และสถานการณ์ต่างๆทั้งในและต่างประเทศก็ไม่แน่นอนทั้งนั้น ซึ่งเวลาเอกชนดำเนินธุรกิจ เราต้องการความมีเสถียรภาพ เพราะเมื่อเกิดความไม่แน่นอน ต่างชาติชะลอการลงทุน คนไทยใช้จ่ายน้อยลง แต่เราต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่สิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และบริษัทต้องดำเนินงาน ทำตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีสุด”

ในปีหน้าสิงห์ยังคงเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่อง ให้น้ำหนักในการบุกตลาดอาเซียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอนแอลกอฮอล์ และมองโอกาสที่ดีของธุรกิจอื่นๆ โดยมีหัวหอกอย่าง บริษัท สิงห์ เอเชียฯ บุกภูมิภาคทั้งในด้านการค้า การลงทุน และซื้อและควบรวมกิจการ(เอ็มแอนด์เอ) แต่ทั้งหมดจะต้องพิจารณาโอกาสการลงทุนที่ดีเพื่อต่อยอดให้บริษัท

เป็นแม่ทัพธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าจะ ฟื้นตัว กลับมาดีขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่เดินหน้าอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ “พื้นฐาน” เศรษฐกิจของประเทศยังดี คาดหวังธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) สตาร์ทอัพจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ๆเป็นอีกแรงที่ช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของจีดีพีได้

นอกจากนี้ ปีหน้าไทยจะไม่มีเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประชาชน จึงคาดว่ากำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย เอื้อต่อตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค(คอนซูเมอร์)ให้เจริญเติบโตได้ในอัตรา 3% สอดคล้องกับจีดีพี จากภาพรวมปี 2559 ตลาด “ทรงตัวได้ถือว่าเก่งแล้ว”

เป็นอีกคนที่มองปีหน้าจะ เติบโต ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม สำหรับ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) บิ๊กเครื่องดื่มเอเชีย ที่คาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และปั๊มการบริโภคภายในประเทศ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจอาเซียนอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ของตลาดเกิดใหม่ ก่อให้เกิดการบริโภคภายในเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่ไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาตร์ที่ดีของภูมิภาค จึงทำให้มีโอกาสที่จะสร้างการเจริญเติบโตได้จากแรงขับเคลื่อนทั้งภายในและภายนอกประเทศ

“บริษัทมั่นใจว่าการเลือกตั้งในปีหน้าของประเทศไทย จะเป็นไปอย่างราบรื่น และมั่นใจว่าแนวโน้มธุรกิจเครื่องดื่มยังเติบโตได้ และหากพิจารณาการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศมาเลเซียมาแรง และไทยสู้มาเลเซียไม่ได้หรือบางที สู้อินโดนีเซียไม่ได้ แต่วันนี้ชาติอื่นๆไม่ว่ามาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซียและสิงคโปร์ กำลังมองว่าทำไมไทยรุดหน้าไปไกล"