ธกส.เตรียมขาย'ข้าวเอไรซ์' ผ่านเว็บ'อาลีบาบา'ก.พ.60

ธกส.เตรียมขาย'ข้าวเอไรซ์' ผ่านเว็บ'อาลีบาบา'ก.พ.60

"ธกส." เพิ่มช่องทางขายข้าวเอไรซ์ เตรียมส่งขายบนเว็บไซต์อาลีบาบาเดือนก.พ.ปีหน้า พร้อมเจรจาส่งออกไปสิงค์โปร์ เผยจ่ายเงินโครงการสินเชื่อชะลอขาย

ข้าวแล้ว 1.2 ล้าน และจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวแล้วกว่า 1 พันล้าน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้พยายามหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ในการขายข้าวแบรนด์เอไรซ์ (A-Rice) โดยจะมีทั้งการหาช่องทางส่งออกและการใช้ตลาดอีคอมเมิร์ซ เช่น การขายบนเว็บไซต์อาลีบาบา ซึ่งเป็นการสนับสนุนของรัฐบาล ที่จะส่งเสริมให้มีสินค้าเกษตรขายบนเว็บไซต์อาลีบาบา คาดจะเริ่มได้ในช่วงเดือนก.พ.ปีหน้า 

"นอกจากนี้ทางสิงคโปร์ ก็สนใจจะสั่งซื้อข้าวจากไทย หากได้ข้อสรุปคาดจะเริ่มส่งออกได้ปีหน้าเช่นเดียวกัน จากปัจจุบันนี้ยังไม่มีการส่งออก"

สำหรับการขายข้าวในประเทศ ช่วงนี้มีกระแสการซื้อข้าวชาวนาเข้ามาช่วย อีกทั้งทางกระทรวงการคลังยังมีนโยบายว่าของขวัญปีใหม่ของทุกหน่วยงานในกระทรวงจะให้เป็นข้าวทั้งหมด ซึ่งเราก็จะทำเหมือนผู้รับจ้างผลิต หรือโออีเอ็ม (OEM)แล้วติดแบรนด์ของแต่ละหน่วยงาน

เขากล่าวต่อว่า ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 (จำนำยุ้งฉาง) แล้ว และล่าสุดวานนี้ (30 พ.ย.) มีชาวนาเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกแล้วจำนวน 30 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 118.88 ตัน วงเงิน 1.12 ล้านบาท และได้โอนเงินเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวไปแล้ว 87,029 ราย วงเงินรวม 1,044 ล้านบาท หลังจากนี้ ธ.ก.ส. ทยอยจ่ายสินเชื่อให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่มีความพร้อม

ทั้งนี้ธนาคารได้ เริ่มจ่ายเงินสินเชื่อให้แก่ชาวนา ที่เข้าร่วมโครงการไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันแรก ที่จังหวัดสกลนคร มีชาวนาเข้าโครงการจำนวน 19 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 63.9 ตัน คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 670,050 บาท และเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวตันละ 2,000 บาท (ไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่) วงเงินไม่เกินรายละ 12,000 บาท มีชาวนาได้รับโอนเงินไปแล้ว 2,111 ราย วงเงิน 25.33 ล้านบาท

ส่วนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก สามารถบรรเทาความเดือดร้อน จากราคาข้าวตกต่ำให้แก่ชาวนาทั่วประเทศประมาณ 4 ล้านครัวเรือน โดย ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อในโครงการจำนวน 36,509.70 ล้านบาท และวงเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวจำนวน 41,090 ล้านบาท รวมเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ทั้งสิ้น 77,600 ล้านบาท

“สินเชื่อชะลอการขายข้าวเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเหลือชาวนา ในกรณีที่ชาวนายังไม่พอใจราคาตลาดในปัจจุบัน อีกทั้งการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ ธ.ก.ส. แต่อย่างใดภายในระยะ 5 เดือนที่เข้าร่วมโครงการ”

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เข้าร่วมโครงการชะลอขายข้าว ขอให้พี่น้องชาวนาติดตามข่าวสารเรื่องราคาข้าวเปลือกในพื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจขายข้าวเปลือกของตนเอง สำหรับชาวนาที่ตัดสินใจขายข้าวเอง โดยไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ก็ยังคงได้รับเงินค่าเก็บเกี่ยวปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาท ตามเกณฑ์ที่กำหนดเช่นกัน