คนไทยเสพดาต้าพุ่ง’เอ็มคอมเมิร์ซ‘แรง

คนไทยเสพดาต้าพุ่ง’เอ็มคอมเมิร์ซ‘แรง

การขยายโครงข่าย 3จี/4จี และบริการฟรีไวไฟ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งการแข่งขันแพ็คเกจดาต้าที่หลากหลายของผู้ประกอบการมือถือ

ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นการบริโภค“ดาต้า”ผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น 

นีลเส็น ได้จัดทำผลสำรวจ Informate Mobile Insights ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลการใช้สมาร์ทโฟนของผู้บริโภคไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาพฤติกรรมการ, รูปแบบ/ปริมาณการเสพดาต้าและทิศทางตลาด"เอ็มคอมเมิร์ซ 

ยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทนีลเส็น ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่าจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทยไตรมาส3 ปีนี้ พบว่าใช้เวลาเฉลี่ย 230 นาที หรือ เกือบ 4 ชั่วโมงต่อวัน ช่วงเวลาที่ใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุด คือ 8.00-22.00 น. เฉลี่ยการใช้งานที่ 10นาทีต่อชั่วโมง 

"ช่วงเวลาทองที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูงสุดอยู่ระหว่าง 1ทุ่มถึง 3 ทุ่ม เฉลี่ยใช้เวลากับสมาร์ทโฟนกว่า 13 นาทีต่อชั่วโมง"

 กิจกรรมที่ใช้เวลาบนสมาร์ทโฟน อันดับหนึ่งคือ การสื่อสาร (communications) รวมทั้งแอพพลิเคชั่นแชททุกรูปแบบ โดยใช้เวลา 75นาทีต่อวัน  รองลงมาคือการใช้งานแอพ เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เป็นต้น อยู่ที่ 67นาทีต่อวัน ตามมาด้วยเอ็นเตอร์เทนเม้นท์และเกม ทั้งการดูยูทูบ ฟังเพลง 45 นาทีต่อวัน  ต่อมาเป็นการเบราซิ่งเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ผ่านมือถือ อยู่ที่ 24 นาที และการใช้งานหรือตั้งค่ามือถือ 18 นาทีต่อวัน 

หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปีนี้ กิจกรรมที่ใช้เวลาเพิ่มขึ้น คือ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์และเกม จาก 42 นาที เป็น 45 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากการเล่นเกมโปเกม่อน โก ที่เปิดตัวในช่วงไตรมาส3 

สิ่งที่น่าสนใจคือถึงแม้เวลาที่ใช้งานกับสมาร์ทโฟน “คงที่” จากไตรมาส2 แต่ตัวเลขของการใช้ข้อมูล(ดาต้า) เติบโตจาก 689 MB ต่อวัน ในไตรมาส2 เป็น 810 MB ต่อวัน ในไตรมาส 3  หรือเพิ่มขึ้น 18%  เพิ่มขึ้นจากการใช้งานผ่านไวไฟ และการใช้งานผ่านเครือข่ายมือถือ (cellular)  ช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนใช้งานด้านข้อมูล (data consumption) มากที่สุดคือ 20.00 น.-23.00 น.

ยุวดี กล่าวอีกว่าการใช้งานสมาร์ทโฟนปัจจุบัน มีส่วนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด จากประโยชน์ของการใช้งานมือถือทั้งการเข้าถึงของข้อมูลที่ง่ายขึ้น การส่งต่อข้อมูลที่รวดเร็ว รวมไปถึงการใช้งานเพื่อความบันเทิง เช่น การดูหนัง ฟังเพลง หรือการเล่นเกมส์ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถอยู่ในเทรนด์และตามกระแสของสังคมได้  

“แบรนด์ควรตื่นตัวในการเข้าถึง รวมถึงวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านมือถือให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของพวกเขา ไม่ว่าจะผ่านทางกิจกรรมการใช้มือถือหรือคอนเทนท์”

       ข้อมูลการสำรวจผู้ใช้สมาร์ทโฟนไตรมาส3  แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของ “เอ็ม คอมเมิร์ซ”  ทั้งด้านธุรกรรมธนาคาร, การชอปปิง ออนไลน์ผ่านมือถือ (mobile shopping) และการชำระเงินผ่านมือถือ(mobile payment) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

การทำธุรกรรมธนาคาร, เทรดหุ้นออนไลน์ และธุรกิจประกัน (ฺBanking, Financial Service & Insurance )เติบโตจาก 49% ในไตรมาส 2 เป็น 51% ในไตรมาส 3 โดยแอพที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ KMobile Banking Plus 22%, SCB EASY 11% และ ฺ Bualuang mBanking 9% 

ขณะที่การชอปปิง ออนไลน์ผ่านมือถือเติบโต จาก 33% ในไตรมาส 2 เป็น 35% ในไตรมาส 3  โดยโมบาย ชอปปิง ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ  Lazada 23% ,  Kaidee.com 9%  และ AliExpress app 5%  

 ทางด้านการจ่ายเงินผ่านมือถือ (Mobile Payment) เติบโตจาก 24% ไตรมาส 2 เป็น 26% ในไตรมาส3  ช่องทางที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ TrueMoney Wallet 17% Major Movie Plus app 3% และ AliPay 3%

 จากตัวเลขการเติบโตนี้ตอกย้ำว่าการใช้งานสมาร์ทโฟนด้านการเงินการธนาคารและชำระเงินผ่านมือถือ รวมถึงชอปปิงผ่านมือถือมีบทบาทในสังคมไทยและได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นตัวบ่งชี้ว่า “แบรนด์” มีโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากช่องทางเหล่านี้ 

"หากแบรนด์มีการนำเสนอการให้บริการบนเอ็ม คอมเมิร์ซ จะเป็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการปฏิสัมพันธ์หรือการเอ็นเกจลูกค้าได้ดี”