“GIB” เอสเอ็มอีไทยในเวทีโลก

“GIB”  เอสเอ็มอีไทยในเวทีโลก

พวกเขาคือธุรกิจเอสเอ็มอีที่นำผลงานวิจัยจากไทยไปคว้ารางวัลในเวทีโลก ขยับจากกิจการเล็กๆ มาเป็นธุรกิจร้อยล้าน พร้อมแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 5 ปี

การนำเสนอแผนธุรกิจ(Pitching) ในระยะเวลา “90วินาที” ต่อหน้านักลงทุน ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ของ บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด (GIB)ผู้ผลิต วัคซีนพืชจากธรรมชาติ อาหารเสริมสำหรับพืชและสัตว์แม้ไม่ได้รางวัลใหญ่กลับมา แต่เป็นเวทีที่พวกเขาได้ “พาร์ทเนอร์” ผู้ชนะเลิศจากเวทีเดียวกัน สัญชาติแคนาดา มาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจในประเทศไทย

ทุกครั้งที่ได้นำพาตัวเอง ไปแข่งขันในเวทีระดับโลก ถ้าไม่ได้รางวัล หรือได้เงินทุน ก็ยังได้คอนเนคชั่น ไม่ก็ “หุ้นส่วนธุรกิจ” เป็นของแถมให้ทุกครั้ง

“เราใช้เวลาวิจัยอยู่ 15 ปี พอต้องขายของจริงๆ ปรากฏว่าขายไม่ได้ เพราะสมองซีกการค้าผมถูกทำลายไปหมดแล้ว ฝ่อไปหมดเพราะได้แต่ทำวิจัย ก็ต้องหาคนเก่งเข้ามาอยู่ในทีม ซึ่งกว่าจะหาได้ก็ต้องอาศัยผ่านเวทีประกวดต่างๆ”

.สพ.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร” ประธานเจ้าหน้าที่นวัตกรรม บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด (GIB) บอกที่มาของเกมรบฉบับ GIB ที่มีเวทีประกวดเติมจิกซอว์ธุรกิจให้ ตั้งแต่การประกวดครั้งแรก 7 Innovation Awards 2015 ก็คว้ารางวัลชนะเลิศมาได้สำเร็จ จากนั้นก็กลายเป็น “นักล่ารางวัล” จากเวทีทั้งในและต่างประเทศ

อาทิรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ Silver Prize และ Special Award จากงาน "Seoul International Invention Fair 2014" สาธารณรัฐเกาหลี รางวัล Gold Medal "Vaccin Pour Plantes" DIPLOME INVENTIONS GENEVA สวิตเซอร์แลนด์ ไม่กี่สัปดาห์ก่อน ก็เพิ่งคว้า 3รางวัลใหญ่ จากเวทีBrussels Innova (อดีตชื่อBrussels Eureka) ที่เบลเยียม โดยยังได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ชั้นอัศวิน” จากรัฐบาลเบลเยียมกลับมาชื่นชมอีกด้วย

ทำไมเอสเอ็มอีตัวเล็กๆ จากประเทศไทย ถึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในเวทีโลก มีผลงานเข้าตานักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ผู้บริหารนักวิจัยบอกเราว่า มาจากการมีผลิตภัณฑ์ ที่สามารถตอบโจทย์ ปัญหา และจุดเจ็บ (Pain) ของคนทั้งโลก นั่นคือเรื่อง อาหารปลอดภัย และความยั่งยืนในอาหาร โดยพวกเขาพัฒนานวัตกรรมเกษตร ที่ใช้กับพืชและสัตว์ เพื่อช่วยให้เกษตรกร ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และปลอดสารพิษ 100% ซึ่งนับเป็นต้นทาง “อาหารปลอดภัย” ของโลก

“การทำให้นักลงทุนสนใจมีอย่างเดียวเลยคือสิ่งที่เราทำตอบโจทย์โลกหรือเปล่า แก้ปัญหาโลกได้จริงหรือเปล่า ถ้าเป็นปัญหาของโลก ทุกคนสนใจหมด แต่ถ้าตอบโจทย์แค่ในไทย ก็มีเฉพาะนักลงทุนไทยเท่านั้นที่จะสนใจ” เขาแนะ

นอกจากมีผลิตภัณฑ์ที่ดี โตด้วยฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เอสเอ็มอียังต้อง รู้จักเรียนรู้จากบริษัทใหญ่ และเป็นนักขวยขวาย “แสวงหาโอกาส” ไม่ใช่รอแต่จะให้โอกาสเข้ามาหา โดยนอกจากการนำพาตัวเองไปหาแข่งขันในเวทีระดับโลก GIB ยังเข้าหาหน่วยงานต่างๆ เพื่อเติมเต็มจุดแกร่งให้ธุรกิจอยู่เสมอ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานความร่วมมือจากทั้งในและต่างประเทศ

ล่าสุดก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ ที่กำลังจะย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในโครงการ Food Innopolis เมืองนวัตกรรมอาหาร ที่จัดตั้งตามนโยบาย Super Cluster ของรัฐบาล โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นฐานทัพวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของพวกเขา

“ผมเหมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ทุกวัน ความหมายคือ ทุกครั้งที่ติดขัดอะไร จะมีคนช่วยเราแก้ปัญหาได้หมดเพราะมีนักวิชาการ มีผู้เชี่ยวชาญ มีคนที่จบระดับท็อปๆ ของโลก โดยที่ผมไม่ต้องไปนั่งเรียนเองทุกมหาวิทยาลัย แต่มีผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขามาคอยช่วย ซึ่งสำคัญมากสำหรับเอสเอ็มอีที่คงไม่มีเงินทุนมาสร้างสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเองได้”เขาว่า

เวลาเดียวกับแสวงหาโอกาสจากข้างนอก ก็ต้องสร้างทีมที่แข็งแกร่งไปพร้อมกันด้วย

“ถ้าไม่มีทีม เดินคนเดียวทำได้ยากมาก ดูอย่างองค์กรใหญ่ๆ จะเติบโตได้ ก็ด้วยทีมเวิร์ค ผมว่า เงิน กับ ทีมเวิร์ค สิ่งที่หายากสำหรับวันนี้ คือ ทีมเวิร์ค ทำอย่างไรที่จะได้ทีมที่รู้ใจกัน หลับตาเดินไปพร้อมกัน และมีความคิดมุมมองคล้ายๆ กัน เรื่องนี้สำคัญที่สุด”

ทีมแบบ GIB ไม่ใช่แค่ คนที่คิดและเชื่อในสิ่งเดียวกัน รู้อกรู้ใจกัน แต่เขาว่า ต้องมี “คุณธรรม” ในหัวใจด้วย

“เราเป็นผู้ประกอบการปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องการเงินมาเสริมในองค์กร แต่ในระหว่างทางที่เดินไป ก็ต้องตระหนักเสมอว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้น ตั้งอยู่บนคุณธรรมด้วย”

แม้โตมาจากนักวิจัย แต่พวกเขาก็เปิดกว้าง รับฟังคำแนะนำ คำทักท้วง และความเห็นต่างจากภายนอก และแม้จะก่อตั้งกิจการขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ไม่เคยปิดกั้นนักลงทุน หรือมืออาชีพจากข้างนอกที่จะเข้ามาร่วมบริหารองค์กร เพื่อให้มุมมองในด้านที่นักวิจัยอย่างพวกเขาขาด มีคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยเติมเต็มให้

“ธุรกิจเราทำวิจัยและพัฒนามา 15 ปี เพิ่งไดรฟ์เรื่องการตลาดจริงๆ ก็ไม่นานมานี้เอง โดยเราเพิ่งมี CEO จากข้างนอกมานั่งบริหาร เมื่อ 1 กุมภาพันธ์มานี้ เราเอามืออาชีพเข้ามา เพราะเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง” เขาว่า

นอกจากมี CEO คนนอก ที่นี่ก็เปิดรับความร่วมมือจากทั้งในและต่างประเทศ เช่น การทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่าง อ๊อกซฟอร์ด, เคมบริดจ์, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลีส (UCLA) เป็นต้น

หรือการจับมือกับบริษัทนวัตกรรมสัญชาติแคนาดา ที่ทำเกี่ยวกับสาหร่ายบำบัดน้ำเสีย เปิดบริษัทร่วมกันในไทย โดยผสานศักยภาพของผลิตภัณฑ์จากทั้งสองบริษัท ให้เป็นโปรดักส์ที่สร้างแวลู่ได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน GIB มีบริษัทลูกอยู่ถึง4 บริษัท และมีโปรดักส์อยู่ในมืออีกกว่า 10ตัว ที่พร้อมทยอยออกสู่ตลาด โดยความร่วมกับเหล่าพันธมิตรรอบข้าง

เอสเอ็มอี มักติดกับดักเรื่องเงินทุน แต่ GIB เป็นบริษัทที่มีนักลงทุนเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ต้น โดยได้นักลงทุนคนไทยมาถือหุ้นในบริษัทที่ทำเรื่องวัคซีนพืชไปแล้ว ตอนนี้เองก็กำลังจะระดมทุน (Fund raising) ที่ซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อด้วยที่สิงคโปร์อีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็เตรียมเดินเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อดึงดูดมืออาชีพเข้ามาร่วมงาน และระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจรับการเติบใหญ่ในตลาดโลก

“เราจะระดมเงินมาลงทุนสร้างระบบที่ยังไม่แข็งแรง เช่น โรงงานที่คงต้องใหญ่ขึ้น และได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อรองรับออเดอร์จากทั่วโลก วันนี้เราขายของไป 4-5 ประเทศ ปีหน้าจะทำให้ได้ 10 ประเทศในอาเซียน จากนั้นก็จะไป แอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งมีการทำเกษตรอยู่เยอะ โดยปีที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าเราน่าจะมีมูลค่าธุรกิจเกิน 500 ล้านบาท จากทุกวันนี้มีรายได้เกือบ 100 ล้านบาทต่อปี” เขาบอก

นี่คือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีวิธีคิดต่างไปจากเอสเอ็มอียุคเก่า เขาบอกว่า การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มจากแพสชั่น มีแรงบันดาลใจ และตัดเสียงรบกวนรอบข้างออกไป แล้วมุ่งตรงไปสู่เป้าหมายข้างหน้า

ไทยเราไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย ไม่มีอะไรที่สู้เขาไม่ได้ ขอแค่ กล้าคิด และลงมือทำเท่านั้น” เขาย้ำในตอนท้าย

.............................

Key to success

สูตรรบ GIB ในตลาดโลก

๐ เติบโตด้วยนวัตกรรม

๐ ตอบปัญหาของคนทั้งโลก

๐ ชอบขวยขวาย แสวงหาโอกาส

๐ หาพันธมิตร เงินทุน จากเวทีแข่งขัน

๐ ทำงานเป็นทีม ดึงมืออาชีพร่วมงานด้วย

๐ ใช้คุณธรรม นำธุรกิจ

๐ กล้าคิด และลงมือทำ