เปิด 'กระบวนการ' อัญเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

เปิด 'กระบวนการ' อัญเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

การสถาปนา "รัชกาลที่10" เปิดขั้นตอน "กระบวนการ" อัญเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 2 วรรค 2 ได้บัญญัติ ให้บทบัญญัติของหมวด 2 “พระมหากษัตริย์” ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังคงใช้บังคับต่อไป

ดังนั้นในเรื่องการ “ทรงราชย์” จึงต้องยึดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

และจากการที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงแต่งตั้ง “พระรัชทายาท” ไว้แล้ว คือ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร"

การขึ้น “ทรงราชย์” ของ “พระรัชทายาท” ในครั้งนี้ จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่า ด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ .2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

สรุปว่า การขึ้น“ทรงราชย์ ” มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน คือ

1.ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2559 คณะรัฐมนตรีแจ้งมายังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภาเพื่อทราบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้ว ตามความในมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และทรงสถิตอยู่ในที่พระรัชทายาทสืบมาจนถึงปัจจุบัน

2.ประธาน สนช.แจ้งต่อที่ประชุมให้รับทราบ ( เมื่อวันที่ 29 พ.ย.59) มีการประชุมสภานิติบัญญัติ วาระพิเศษ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธาน เพื่อพิจารณาวาระตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นวาระ การแจ้งการสถาปนาองค์รัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ให้ สนช. ได้รับทราบ

3.ประธาน สนช. เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงราชย์

4. ประธาน สนช. ประกาศให้ประชาชนทราบ

เมื่อ 4 ขั้นตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว จะต้องเรียกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และจนกว่าจะมี "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" จึงจะเรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ” ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มีพระราชอำนาจเท่ากันทุกประการ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนที่ 1และที่ 2 ไปแล้ว ยังเหลือขั้นตอนที่ 3 และ 4 จึงเสร็จสิ้นกระบวนการ