ยูพีเอส รุกภาคตะวันออก “อีอีซี”ดันโลจิสติกส์ติบโต

ยูพีเอส รุกภาคตะวันออก “อีอีซี”ดันโลจิสติกส์ติบโต

ยูพีเอส ชี้เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ดันโลจิสติกส์ขยายตัว เดินหน้าขยายเครือข่าย 4 จังหวัดตะวันออก

นายบุนเทียม ตัน กรรมการผู้จัดการ ยูพีเอส ประเทศไทย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษี ทำให้นักลงทุนต่างๆ สนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความต้องการด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้ามาขยายขอบเขตการให้บริการใน 4 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี และระยอง โดยจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกปีหน้า 

“สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ คาดการณ์ว่า 5 ปีจากนี้ จะมีการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี ภาครัฐและเอกชนคิดเป็นมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท” 

นายบุนเทียม กล่าวว่า ธุรกิจที่จะนำมาให้บริการ ประกอบด้วย UPS Worldwide Express Plus หรือบริการส่งด่วนถึงที่หมายช่วงเช้าตรู่ของวัน หรือ 10.30 น. ครอบคลุม 56 ประเทศทั่วโลก, UPS Express บริการส่งด่วนถึงที่หมายเวลาเที่ยงวัน ครอบคลุม 118 ประเทศ และเขตการปกครองทั่วโลก และ UPS Express Saver บริการส่งด่วนถึงที่หมายก่อนสิ้นวัน ครอบคลุม 220 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก

การขยายการให้บริการของยูพีเอสในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาตัดรอบส่งพัสดุประจำวัน ช่วยให้ลูกค้าขยายช่วงเวลาในการผลิตและจัดการคำสั่งซื้อได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบสถานะการขนส่งพัสดุ ได้ด้วยโซลูชั่นลิขสิทธิ์เฉพาะของยูพีเอส เพิ่มประสิทธิการทำงานด้วยโซลูชั่นการเรียกเก็บเงินแบบไร้กระดาษ พร้อมทั้งขอคำปรึกษาแบบครบวงจรจากผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ และยังมีทีมงานที่ด้านศุลกากรโดยใช้ระบบเชื่อมต่อกับศุลกากรทั่วโลก ทำให้มีประสิทธิภาพในการลดข้อผิดพลาดต่างๆ ซึ่งทำให้สินค้าไม่ต้องไปตกค้างที่ศุลกากร

นายบุญเทียม กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย มีการแข่งขันที่สูงและมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง ในส่วนของบริษัทจะอาศัยเครือข่ายพันธมิตรทั้งผู้ประกอบการต่างชาติ และท้องถิ่น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการภายในประเทศไทย

ขณะที่ภาพรวมบริษัทในช่วงไตรมาส 3 มีรายได้ 1,490 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เติบโต 4.9% มีกำไรเพิ่มขึ้น 14% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ 576 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท