ธปท.มั่นใจเฟดขึ้นดบ.กระทบไทยน้อย

ธปท.มั่นใจเฟดขึ้นดบ.กระทบไทยน้อย

“ธปท.” มั่นใจเฟดขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทยน้อย ระบุบาทผันผวนน้อยกว่าภูมิภาค รับอนาคตความผันผวนสูง เตือนผู้นำเข้า-ส่งออก บริหารเสี่ยงค่าเงินให้ดี

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ตลาดเงินในขณะนี้กว่า 90% คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธ.ค.นี้ ดังนั้นหาก เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจริง ก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนไทยที่รุนแรงมากนัก

ส่วนสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงที่ผ่านมานั้น ยอมรับวี่เงินไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้(บอนด์) บ้าง โดยเฉพาะในตลาดบอนด์เห็นได้ค่อนข้างชัด เพราะนักลงทุนที่ลงทุนในบอนด์เป็นนักลงทุนที่ไม่เน้นความเสี่ยง เมื่อดอกเบี้ยพันธบัตรปรับสูงขึ้น นักลงทุนกลุ่มนี้จึงขายออกมาก่อน 

“บอนด์ยีลด์(ผลตอบแทนพันธบัตร)ที่ปรับเพิ่มขึ้น ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าตกใจ เพราะขึ้นมาอยู่ใกล้ๆ ระดับเดียวกับในช่วงต้นปี ซึ่งช่วงกลางปีบอนด์ยีลด์ของเราตกลงไปมาก อีกทั้งนโยบายการเงินของเราก็ดูแลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับต่ำ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” 

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ความผันผวนของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยทั้งภายนอกและภายในของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน บางประเทศมีปัญหาเรื่องการเงินในประเทศ บางประเทศพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อมีเหตุการณ์ที่มากระทบระดับการไหลออกของเงินทุนของประเทศเหล่านี้ จึงมีมากกว่า  

สำหรับประเทศไทยนั้น ถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถรองรับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค อย่างไรก็ตามสถานการณ์ค่าเงินบาท ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูต่อเนื่อง เพราะอาจมีข่าวใหม่ๆ เข้ามากระทบและสร้างความผันผวนให้กับอัตราแลกเปลี่ยนได้

“สิ่งที่แบงก์ชาติเตือนมาตลอด คือ ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุน ยิ่งเวลาที่สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ระดับสูง และเงินไหลเข้าในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย เวลาที่ข้างนอกเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็จะส่งผลให้มุมมองของนักลงทุนที่เคยอยู่ในภาวะกล้าเสี่ยง กลายมาเป็นภาวะที่กลัวเสี่ยง สถานการณ์เหล่านี้เหล่าก็จะเห็นเงินทุนไหลออกได้”

นายวิรไท กล่าวว่า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกและนำเข้า จำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ โดยเฉพาะในภาวะข้างหน้าที่ความเสี่ยงมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นจากหลายๆ เหตุการณ์ โดยเฉพาะปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัจจัยเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็มีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน