ธปท.เปิดเจรจาทวิภาคีกับเมียนมาตั้งมาตรฐานแบงก์อาเซียน

ธปท.เปิดเจรจาทวิภาคีกับเมียนมาตั้งมาตรฐานแบงก์อาเซียน

ธปท.จับมือ “แบงก์ชาติเมียนมา” หารือตั้งเกณฑ์ “มาตรฐานธนาคารอาเซียน” แบบทวิภาคี เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ ทำธุรกิจข้ามประเทศยืดหยุ่นขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ U Kyaw Kyaw Maung  ผู้ว่าการ ธนาคารกลางเมียนมา ได้ร่วมลงนามในเอกสารแสดงความประสงค์เข้าร่วมการเจรจาทวิภาคีเพื่อ จัดตั้ง มาตรฐานธนาคารอาเซียน หรือ Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างไทยและเมียนมา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2559 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา โดยการลงนามในเอกสารดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาทวิภาคี ระหว่างกันอย่างเป็นทางการ

เมียนมาเป็นประเทศที่สามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่ร่วมลงนามในเอกสารแสดงความ ประสงค์เข้าร่วมเจรจาทวิภาคีกับไทย โดยการเจรจาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้กรอบ การรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) ซึ่งจะเปิดโอกาส ให้ธนาคารพาณิชย์อาเซียนเข้าสู่ตลาดระหว่างกันได้บนหลักการต่างตอบแทน และให้มีความยืดหยุ่นใน การประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น

เมียนมามีความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับไทยมาอย่างยาวนาน โดยเป็นประเทศที่มีปริมาณ การค้าการลงทุนบริเวณชายแดนกับไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงในระยะหลังได้มีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุน ในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การจัดตั้ง QABs ระหว่างกันจึงจะเป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของ ภาคการธนาคารในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและรองรับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการเงินของทั้งสอง ประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

สำหรับ มาตรฐานธนาคารอาเซียน หรือ QABs เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2554 เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของภาคเศรษฐกิจจริงที่เข้าสู่การเป็น AEC ผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้เห็นชอบให้ริเริ่มการจัดทำกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน หรือ ABIF เป็นแนวทางส่งเสริมให้การรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับลักษณะของประเทศสมาชิกโดยมีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกมีการจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างกันให้ได้ภายในปี 2563

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้ลงนามเห็นชอบต่อกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียนดังกล่าว โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถเจรจาทวิภาคีเพื่อจัดตั้ง QABs ระหว่างกันได้ บนหลักการต่างตอบแทน ตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่อาจเข้าข่ายได้รับการคัดเลือกเป็น QABs จะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์สัญชาติอาเซียน มีที่ความแข็งแกร่ง และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของ Host country ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมการกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพในระบบการเงินของสมาชิกอาเซียน