หุ้นใหญ่บจ. 'เปลี่ยนมือ' หนุนราคาพุ่ง

หุ้นใหญ่บจ. 'เปลี่ยนมือ' หนุนราคาพุ่ง

บริษัทจดทะเบียนมาร์เก็ตแคปพุ่ง หลัง "ผู้ถือหุ้นใหญ่" เปลี่ยนมือ โบรกเชื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากฐานทุนและการต่อยอดทางธุรกิจ

ตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมานี้ พบว่าบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งต่างมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ตั้งแต่ดีลขนาดใหญ่อย่างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ซึ่งเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่จากกลุ่มคาสิโนกรุ๊ป ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 58.6% ให้กับ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ในกลุ่มทีซีซี ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ราคา 252.88 บาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.22 แสนล้านบาท

โดยหลังจากที่มีการเปิดเผยเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นของบิ๊กซีเพิ่มขึ้นจากราว 200 บาท ไปอยู่ที่ 250 บาท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1.65 แสนล้านบาท เป็น 2.06 แสนล้านบาท แต่หลังจากที่ดีลจบลง ราคาหุ้นบิ๊กซีก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนกลับมาซื้อขายที่ระดับ 200-210 บาท อีกครั้ง

นอกจากนี้ กลุ่มทีซีซี ยังได้เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) จนขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งที่สัดส่วน 40% ใช้เงินลงทุนราว 1.3 หมื่นล้านบาท โดยราคาหุ้นของไทคอนก็วิ่งขึ้นตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยเพิ่มขึ้นจากราว 11.5 บาท มาอยู่ที่ 15.4 บาท มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นจาก 1.26 หมื่นล้านบาท เป็น 1.69 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ดีลใหญ่อีกดีลหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีคือ การเข้ามาซื้อหุ้นเอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ของตระกูลศรีวัฒนประภา เจ้าของคิง เพาเวอร์ โดยเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 39.83% ใช้เงินลงทุนราว 8.1 พันล้านบาท จากการซื้อหุ้นที่ราคา 4.2 บาท และภายหลังดีลนี้ส่งผลให้ราคาหุ้นเอเอวีวิ่งขึ้นจากราว 6 บาท ไปแตะ 7.5 บาท ทำให้มาร์เก็ตแคปของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2.91 หมื่นล้านบาท เป็น 3.63 หมื่นล้านบาท

ส่วนมาสเตอร์ แอด (MACO) ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่เช่นกัน โดย วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ได้เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มอีก 12.46% ที่ราคาหุ้นละ 1.1 บาท ใช้เงินลงทุนเพิ่ม 412.5 ล้านบาท จนถือรวม 37.42% และภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้ราคาหุ้นมาสเตอร์ แอด เพิ่มขึ้นจาก 1.1 บาท ไปแตะ 1.6 บาท ทำให้มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นจาก 3.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 5.3 พันล้านบาท ก่อนที่ราคาหุ้นจะร่วงกลับมาซื้อขายในระดับ 1.1 บาท ในปัจจุบัน

หุ้นขนาดเล็กอย่าง ไดอิ กรุ๊ป (DAII) ได้สิงห์ เอสเตท (S) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 55.6% และสุธากัญจน์ (SUTHA) ได้ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ชื่อ ซีอี ไลม์ ผู้ผลิตและจำหน่ายปูนขาวรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 45% ทำให้มาร์เก็ตแคปของทั้ง 2 บริษัท ต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นไดอิ กรุ๊ป เพิ่มขึ้นจาก 500 ล้านบาท เป็น 620 ล้านบาท ขณะที่หุ้นสุธากัญจน์ เพิ่มขึ้นจาก 1.6 พันล้านบาท เป็น 1.9 พันล้านบาท

นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า โดยหลักแล้วการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มใหม่ หากเป็นผู้ถือหุ้นที่มีศักยภาพ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอันดับแรกคงเป็นเรื่องของฐานเงินทุนที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเงินทุนแล้วสิ่งที่ควรจะเข้ามาพร้อมกับผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่คือ การต่อยอดธุรกิจไปในอนาคต และช่วยเสริมศักยภาพในด้านต้นทุน

“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น มาเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้นนั้น ประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับนอกจากฐานทุนแล้ว คือเรื่องของการต่อยอดธุรกิจ และการเพิ่มฐานลูกค้า รวมไปความสามารถในเรื่องการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างในลักษณะนี้ หากเป็นการต่อยอดในธุรกิจเดิมเชื่อว่าจะช่วยให้บริษัทเห็นการพัฒนาได้ภายใน 1-2 ปี แต่หากต้องเปลี่ยนแปลงธุรกิจ หรือปรังปรุงธุรกิจใหม่ทั้งหมด ก็อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น”