“สถาบัน”ลุยซื้อหุ้นโค้งสุดท้าย

“สถาบัน”ลุยซื้อหุ้นโค้งสุดท้าย

ต้นไตรมาส4นักลงทุนสถาบันทยอยซื้อหุ้นเข้าพอร์ตลงทุนมูลค่า 2.8 หมื่นล้าน ต่างชาติเทขาย 4.7 หมื่นล้าน

ตั้งแต่เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี (ต.ค. - ธ.ค.) พบว่า นักลงทุนต่างชาติ ที่เคยซื้อสะสมมาในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ 1.32 แสนล้านบาท กลับมาเป็นฝ่ายขายสุทธิ 4.7 หมื่นล้านบาท โดยเดือนต.ค.ถึงปัจจุบัน สวนทางกับสถาบันในประเทศที่เคยเป็นฝ่ายขายสุทธิ 5 หมื่นล้านบาทช่วง 9 เดือนแรก กลับกลายมาเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท

หากพิจารณาข้อมูลจากแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) จะเห็นว่านักลงทุนสถาบันหลายแห่ง ต่างปรับพอร์ตการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีทั้งการถือครองเพิ่มขึ้นและลดสัดส่วนการลงทุน
หุ้นที่นักลงทุนสถาบันรายงานการถือครองเพิ่มขึ้นช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ได้แก่ บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) โดย บลจ.กสิกรไทย โดยซื้อเข้ามา 1.74% ที่ราคา 12.1481 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 634 ล้านบาท รวมถือหุ้นทั้งสิ้น 5.68%

ขณะที่ อเบอร์ดีน แอสเส็ท แมนเนจเม้นท์ เอเชีย ลิมิเต็ด รายงานการถือครองเพิ่มขึ้นในหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำนวน 0.0495% ที่ราคา 160.76 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 270 ล้านบาท รวมถือหุ้นทั้งสิ้น 5.0033%

ด้าน บลจ.บัวหลวง ซื้อหุ้นเข้ามามากที่สุด 4 บริษัท ได้แก่ แม็คกรุ๊ป (MC) ทีพีบีไอ (TPBI) ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) และโรงพยาบาลราชธานี (RJH) โดยแมคกรุ๊ป ถือครองเพิ่มขึ้น 0.04% ที่ราคาเฉลี่ย 14.97 บาท คิดเป็นมูลค่า 4.49 ล้านบาท รวมถือครอง 10.01% ทีพีบีไอ ถือครองเพิ่มขึ้น 0.45% ที่ราคาเฉลี่ย 15.9 บาท คิดเป็นมูลค่า 28.62 ล้านบาท รวมถือครอง 10.04% ไทยยูเนี่ยน ถือครองเพิ่มขึ้น 0.37% คิดเป็นมูลค่าราว 350 ล้านบาท รวมถือครอง 5.12% และโรงพยาบาลราชธานี ถือครองเพิ่มขึ้น 2.17% ที่ราคาเฉลี่ย 20.46 บาท คิดเป็นมูลค่า 133 ล้านบาท รวมถือครอง 5.7%

ทั้งนี้ ราคาหุ้นที่กองทุนรายงานการซื้อในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. จนถึง 22 พ.ย. พบว่า ทีพีบีไอ เพิ่มขึ้นมากสุด 12.32% อยู่ที่ 15.5 บาท รองลงมาคือ บิวตี้ คอมมูนิตี้ เพิ่มขึ้น 11.58% อยู่ที่ 10.6 บาท ส่วนแมคกรุ๊ป เพิ่มขึ้น 10.29% อยู่ที่ 15 บาท ขณะที่ รพ.ราชธานี เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.72% อยู่ที่ 23.7 บาท และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 21.4 บาท ส่วนแบงก์ไทยพาณิชย์ ลดลง 3.04% ปิดที่ 143.5 บาท

สำหรับหุ้นแบงก์ไทยพาณิชย์ ลดลงจากประมาณ 165 บาท เมื่อเดือน ส.ค. เป็นผลจากกำไร 9 เดือนที่หดตัว 1.39% อยู่ที่ 34,896 ล้านบาท ขณะที่ บล.คันทรี่ กรุ๊ป คาดการณ์งบไตรมาส 4 ว่ากำไรสุทธิน่าจะทรงตัวจากปีก่อนที่ทำได้ 11,794 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมของสินเชื่อปีนี้จะเติบโตได้ 5.5% จาก 9 เดือนที่เติบโต 4.2% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ดี ในด้าน NPL ยังดูมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวลงอยู่ในปัจจุบัน โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.8% ดังนั้น การตั้ง Credit Cost ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยเราคาดว่าปีนี้จะตั้ง Credit Cost ไว้ที่ 1.4% ขณะที่ปีหน้าจะตั้งไว้ที่ 1.2%

ในมุมกลับกัน พบว่า บลจ.เหล่านี้ต่างรายงานการขายหุ้นบางส่วนที่ถืออยู่ออกมาเช่นกัน
บลจ.บัวหลวง รายงานการขายหุ้น เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และบ้านปู (BANPU) ออกมา 0.39% และ 0.21% ตามลำดับ โดยเอเชีย เอวิเอชั่น ขายออกมาที่ 7.65 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 145.35 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือครองลดลงเหลือ 9.71% ขณะที่บ้านปู ขายออกมาที่ 16.3 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 163 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือครองลดลงเหลือ 4.82%
ด้าน บลจ.กสิกรไทย รายงานการขายหุ้น ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) ออกมา 0.27% ที่ราคา 40.50 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 116 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการถือครองลดลงเหลือ 4.93%