โนเกียชี้กรุงเทพฯสมาร์ทซิตี้ขาดความยั่งยืน

โนเกียชี้กรุงเทพฯสมาร์ทซิตี้ขาดความยั่งยืน

“โนเกีย” โชว์ผลสำรวจการพัฒนาซิตี้ทั่วโลก ชี้กรุงเทพฯ อยู่ระดับปานกลาง ขาดการพัฒนาที่ยั่งยืน จะสำเร็จได้ต้องโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม

นายฮาราลด์ ไพรซ์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเอเชียเหนือ โนเกีย กล่าวว่า การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับปานกลาง (เบต้า) ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างแพลตฟอร์ม หรือโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแอพพลิเคชั่นและบริการอัจฉริยะต่างๆ

ขณะเดียวกัน มีการนำหลายแอพพลิเคชั่นมาทดลองเป็นระบบนำร่อง ก่อนตัดสินใจนำมาปฏิบัติในระยะยาว หากประเมินจาก 3 ปัจจัยหลักในการพัฒนา ด้านความสมาร์ทและความปลอดภัยอยู่ในระดับปานกลาง ทว่าคะแนนความยั่งยืนยังน้อย

ดังนั้น โนเกียเชื่อว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก ส่วนของบริษัทกำลังรอดูความชัดเจนของโรดแมพเศรษฐกิจดิจิทัลรัฐบาล ที่ทำอยู่ขณะนี้คือนำเสนอองค์ความรู้และแนวทางที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ซึ่งได้ศึกษามาจากต่างประเทศ จากนั้นหากเป็นไปได้ก็หวังเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย

อย่างไรก็ตาม แต่ละเมืองมีความท้าทายที่แตกต่างกันไป โมเดลที่เป็นไปได้ในไทย เช่น การบริหารจัดการจราจร การเชื่อมต่อสมาร์ทดีไวซ์ในกลุ่มเฮลธ์แคร์ สมาร์ทโฮม โดยรวมโนเกียมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ได้ครบวงจร ทั้งการพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ เครือข่ายไร้สาย อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ รวมไปถึงการสนับสนุนการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ

ข้อมูลระบุว่า การขับเคลื่อนและทดลองแอพพลิเคชั่นของกรุงเทพมหานคร ได้นำเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจมาปรับใช้เพื่อผลประโยชน์ที่ชัดเจนในระยะสั้นถึงระยะกลาง แม้มีโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องและเห็นผลได้เร็ว ทว่ายังมีความท้าทายเรื่องการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่มากขึ้น

อย่างไรก็ดี พบว่ามีโอกาสสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน เช่นเรื่องปรับปรุงสภาพการจราจรและควบคุมมลพิษทางอากาศ ด้วยกรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ในเอเชีย จึงเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ความแห้งแล้ง ความปลอดภัยของอาหาร และระดับน้ำทะเลขึ้นสูง

ผลสำรวจชี้ว่า เมืองที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีกฏระเบียบที่โปร่งใสในการใช้ฐานข้อมูลที่จำเป็นจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจหลายเมืองที่อยู่ในขั้นก้าวหน้า ผู้ใช้งานทั้งจากในและนอกภาครัฐต้องเข้าถึงข้อมูล ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะจะต้องปรับขนาดได้ เพื่อที่จะรองรับความต้องการตลาดและการเติบโตในอนาคต ขณะที่เมืองใช้แพลตฟอร์มเปิดไม่ผูกขาดจะมีความได้เปรียบในการพัฒนามากกว่า

นายฮาราลด์ กล่าวอีกว่า กระบวนการในการสร้างเมืองอัจฉริยะนั้นมีความซับซ้อน ทั้งมีการนำเสนอกลยุทธ์ที่แตกต่างกันจำนวนมากจนทำให้การเลือกแนวทางที่เหมาะสมเป็นความท้าทายอย่างมาก ดังนั้นจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนลงมือ

ทั้งนี้ มีคาดการณ์ว่า 66% ของประชากรในโลกจะอยู่ในหัวเมืองหลักภายในปี 2593 ซึ่งทำให้รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ จำเป็นต้องวางแผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเติบโตของประชากร ระบบสารสนเทศและการสื่อสารที่ชาญฉลาดและแพลตฟอร์มไอโอที จึงมีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการของเมืองอัจฉริยะ

รายงานดังกล่าวจัดทำโดยมาคิน่า รีเสิร์ช ในนามของโนเกีย เพื่อศึกษากลยุทธ์ของ 22 เมืองสู่การเป็นเมืองอัจริยะ ความปลอดภัย และความยั่งยืน แสดงให้เห็นถึง 3 แนวทางหลักสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาของเทคโนโลยีและโมเดลทางธุรกิจ ที่ผลักดันให้เมืองต่างๆ ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

เมืองต่างๆ ได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและโครงสร้างพื้นฐาน การนำข้อมูลมาประกอบในการตัดสินใจได้ดีขึ้น การเพิ่มช่องทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อกันในสังคมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชุมชนและยกระดับมาตรฐานของสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันก็พัฒนาปรับปรุงการบริการสาธารณะต่างๆ