'ทรัมป์'ลั่นถอนทีพีพี พาณิชย์ชี้ผลบวกไทย

'ทรัมป์'ลั่นถอนทีพีพี พาณิชย์ชี้ผลบวกไทย

"ทรัมป์"เผยแผนเข้ารับตำแหน่งวันแรก ระบุถอนตัวทีพีพี พร้อมตรวจสอบโครงการให้วีซ่าต่างชาติ หวั่นแย่งงานคนอเมริกัน ด้านพาณิชย์ชี้เป็นผลบวกต่อไทย

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เผยแผนงานที่จะลงมือทำวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 ม.ค.ปีหน้าว่า จะประกาศอย่างเป็นทางการ ถึงเจตนารมณ์ว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งนายทรัมป์ระบุว่าเป็นหายนะสำหรับสหรัฐ และจะแทนที่ทีพีพีด้วยการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่มีความยุติธรรม เพื่อนำงานและอุตสาหกรรมกลับไปยังอเมริกา

นายทรัมป์ ซึ่งเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ระบุถึงก้าวย่าง 6 อย่าง ที่จะลงมือทำทันที เพื่อให้ความสำคัญกับอเมริกาเป็นอันดับแรกและเสริมสร้างชนชั้นกลาง ว่าวาระในการทำงานของเขาจะยึดหลักการง่ายๆ คือให้ความสำคัญกับอเมริกาเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเหล็ก รถยนต์ หรือยารักษาโรค เขาต้องการให้การผลิตและนวัตกรรมรุ่นต่อไปเกิดขึ้นบนแผ่นดินอเมริกา เพื่อสร้างความมั่งคั่งและตำแหน่งงานสำหรับคนอเมริกัน

นอกจากนั้น จะยกเลิกข้อจำกัดด้านการผลิตพลังงานในสหรัฐ โดยเฉพาะน้ำมันหินดินดานและ “ถ่านหินสะอาด” ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงานหลายล้านตำแหน่งที่ให้ค่าจ้างสูงซึ่งท่าทีดังกล่าวสวนทางกับความพยายามของรัฐบาลชุดปัจจุบันของสหรัฐ ที่ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

นายทรัมป์รับปากจะสั่งให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบว่า มีการนำโครงการวีซ่าสำหรับคนงานต่างชาติ ไปใช้ในทางที่ผิดหรือไม่ การเคลื่อนไหวนี้น่าจะทำให้โครงการออกวีซ่าสำหรับคนงานภาคเทคโนโลยี ถูกตรวจสอบมากขึ้น เพราะวุฒิสมาชิกเจฟฟ์ เซสชันส์ ซึ่งเป็นตัวเก็งรัฐมนตรียุติธรรม วิจารณ์โครงการนี้มาตลอด

ทั้งนี้ นายทรัมป์หาเสียงพุ่งเป้าไปที่ความรู้สึกของชนชั้นทำงานในสหรัฐ ที่ไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน และรู้สึกว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลังท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ โดยนายทรัมป์โจมตี ทีพีพีและข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ว่าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและตำแหน่งงานสหรัฐ

การถอนตัวจากข้อตกลงทีพีพีนั้น เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีสามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภา อีกทั้งข้อตกลงทีพีพีก็ยังไม่ผ่านการให้สัตยาบันจากสภาสหรัฐ

ญี่ปุ่นชี้ไม่มีสหรัฐ ทีพีพีไร้ความหมาย

ด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่น กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเปคที่เปรู ว่าไม่มีการหารือกันว่าประเทศอื่นจะพยายามผลักดันทีพีพีให้มีผลบังคับใช้หากสหรัฐถอนตัวหรือไม่ พร้อมเสริมว่าทีพีพีจะไม่มีความหมายหากปราศจากสหรัฐ และเป็นไปไม่ได้ที่จะหยิบทีพีพีขึ้นมาเจรจาใหม่

อย่างไรก็ตาม โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่าญี่ปุ่นมีแผนจะรับบทนำในการผลักดันให้ทีพีพีมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด โดยญี่ปุ่นมีแผนลอบบีประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้

ขณะที่นายไมเคิล ฟรอแมน ผู้แทนการค้าพิเศษสหรัฐ เตือนว่าการถอนตัวจากข้อตกลงทีพีพีจะส่งผลเสียอย่างหนักทางยุทธศาสตร์และก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

ทั้งนี้ อนาคตของทีพีพีที่มีสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม สหรัฐ และญี่ปุ่น ตกอยู่ในความไม่แน่นอน หลังจากนายทรัมป์ย้ำว่าสหรัฐจะถอนตัว โดยสหรัฐกับญี่ปุ่นเป็นประเทศใหญ่ที่สุดที่เข้าร่วมทีพีพี ซึ่งจะมีสัดส่วน 40% ในเศรษฐกิจโลก และนายอาเบะก็เป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ได้เข้าพบนายทรัมป์ที่นิวยอร์กเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้

“พาณิชย์” ชี้สหรัฐถอนทีพีพีดีต่อไทย

ด้าน น.ส.สุนันทา กังวลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ จะยกเลิกการเข้าร่วม ทีพีพีว่า หากทรัมป์ดำเนินการตามที่ประกาศไว้จะมีผลดีกับไทย ในแง่การลดแรงกดดันที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่ และจะทำให้ไทยมีเวลาในการปรับตัวมากขึ้น รวมทั้งลดความได้เปรียบของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้เป็นสมาชิกทีพีพีไปแล้วเช่นเวียดนาม และมาเลเซีย

นอกจากนี้ จะทำให้นานาประเทศหันกลับมาสนใจในความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเฉพาะอาเซียนที่เป็นแกนนำในการเจรจาข้อตกลงดังกล่าว หลังจากที่ไม่มี ทีพีพี น่าจะส่งผลให้มีการเร่งสรุปในข้อตกลง RCEP ได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะจีน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้อตกลงทีพีพีจะไม่เกิดขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยคงหนีไม่พ้นเรื่องของปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ทันกับสถานการณ์การค้าของโลกที่มุ่งไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานที่สูงขึ้นในด้านต่างๆ

“การเจรจาการค้ากับสหรัฐที่มีแนวโน้มจะกลับมาปกป้องการค้าและเน้นการเจรจาทวิภาคีมากขึ้นนั้น เบื้องต้นประเมินว่าทรัมป์ จะโฟกัสในมุมมองของประโยชน์สหรัฐฯ แต่หากสหรัฐเสียประโยชน์ก็จะยกเลิก เช่นกรณีของทีพีพี ซึ่งสำหรับไทย และสหรัฐ จะมีเวทีเจรจาระดับทวิภาคีอีกครั้งไตรมาสแรกปีหน้า ในกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือการขยายการค้า การลงทุนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน”

เอกชนเรียกร้องรัฐชัดเจนจุดยืน“ทีพีพี”

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยว่า การที่สหรัฐมีท่าทีชัดจนที่จะยกเลิกข้อตกลงทีพีพีนั้น จากการประเมินเบื้องต้นพบว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย

โดยข้อดี คือหากยกเลิกไปถือว่าไทยได้ประโยชน์ เพราะหากข้อตกลงดังกล่าวถูกบังคับใช้ไปตั้งแต่ตอนนั้น ไทยก็ต้องรอและต้องขอเปิดเจรจากับ 12 ประเทศอีก ดังนั้นการที่ทีพีพีส่อเค้าล่มจะเป็นโอกาสดีของไทย

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้น่าจะเห็นจีนพยายามเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทนที่สหรัฐฯ โดยที่เห็นชัดคือการเข้ามาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศในเอเชียซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อไทยด้วย

“ข้อเสียตอนนี้คืออยากให้รัฐบาลมีจุดยืนชัดเจนว่าจะเข้าทีพีพีหรือไม่ เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับการปรับมาตรฐานการค้าของไทยให้ได้มาตรฐานในระดับโลก หากยกเลิกไป ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กระตือรือร้นที่จะปรับมาตรฐานให้สูงขึ้น จึงมองว่านี่เป็นข้อเสีย และในระยะสั้นนี้ คิดว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ก็คงจะเลือกเจรจาแบบทวิภาคีมากขึ้นกับประเทศที่เสียดุลอย่างเข้มข้นทั้งจีน และไทย เพื่อให้เกิดความสมดุลทางการค้า”

ดังนั้นไทยต้องเตรียมพร้อมรับกับการเจรจาครั้งนี้ให้ดี ไม่ควรรอจนไม่มีจุดยืนและสุดท้ายทำให้ไทยเสียเปรียบ อีกทั้งไทยต้องแสดงความเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้ความสำคัญกับทุกประเทศอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศก็ควรทำ