มะเร็งเต้านม...สิ่งที่ได้ยินมาเชื่อได้แค่ไหน

มะเร็งเต้านม...สิ่งที่ได้ยินมาเชื่อได้แค่ไหน

มะเร็งเต้านม แม้จะเป็นโรคที่ได้ยินมานานและบ่อย หากแต่ยังมีความเข้าใจผิดบางประการที่ผู้หญิงควรรู้ไว้ รับฟังความจริงจาก นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ

แม้จะเป็นโรคที่ได้ยินมานาน ได้ฟังมาบ่อยและเป็นโรคใกล้ตัวผู้หญิง หากแต่ยังมีความเข้าใจผิดบางประการที่ผู้หญิงควรรู้ไว้ ฟังความจริงจาก นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ โรงพยาบาลวัฒโนสถ

แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่เราได้ยินมานาน ได้ฟังมาบ่อย และเป็นโรคใกล้ตัวผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันพบเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ที่พบในผู้หญิงทั่วโลก หากแต่ยังมีความเข้าใจผิดบางประการที่ควรรู้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นข้อสงสัยที่ว่าขนาดเต้านมเล็กอาจมีโอกาสเสี่ยงน้อยกว่าเต้านมใหญ่ มีก้อนเนื้อแต่ไม่เจ็บไม่ใช่มะเร็ง หรือการทำรังสีจากเครื่องแมมโมแกรม ยิ่งทำยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม


ส่วนสาเหตุการเกิดโรคนั้นปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด หากแต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น ปัจจัยด้านอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี ปัจจัยทางพันธุกรรมโดยเฉพาะหากมีญาติสายตรง เช่น มารดา พี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมหลายคน หรือมีญาติเคยเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อย หรือเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ถัดมาคือ ปัจจัยด้านฮอร์โมนเพศ มีประจำเดือนเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปีหรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ผู้หญิงที่กินฮอร์โมนทดแทนหลังวัยทองเป็นเวลานานเกิน 5 ปี 

ปัจจัยทั้งหมดนี้ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน รวมทั้งการดื่มสุรา การฉายรังสีบริเวณทรวงอก และการกินยาคุมกำเนิด พบว่าเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคอยู่บ้างแต่ไม่ชัดเจนมากนัก

หลากหลายข้อสงสัย
1. สิ่งที่ได้ยินมา :อาหารไขมันสูง ของมันและของทอด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม
ข้อเท็จจริง อาหารไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมโดยตรง แต่อาหารบางอย่างจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น อาหารไขมันสูง เมื่อรับประทานมากๆ จะสะสมกลายเป็นไขมันในร่างกาย และเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนเพศมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ส่วนอาหารพวกเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การบริโภคพืชผักหรือไฟเบอร์ จะช่วยลดการเกิดมะเร็งได้ทุกชนิดรวมทั้งมะเร็งเต้านมด้วย
2.สิ่งที่ได้ยินมา : การสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับ เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม
ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน แม้ในอดีตจะมีหนังสือตีพิมพ์ว่าการสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับ อาจเกิดการบีบรัดระบบน้ำเหลือง ทำให้ระบบน้ำเหลืองไหลเวียนไม่สะดวกและมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้ถึงความเกี่ยวพันดังกล่าว การสวมชุดชั้นในขณะหลับจึงไม่ได้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด
3. สิ่งที่ได้ยินมา : หากไม่มีประวัติคนในครอบครัว เราก็จะไม่เป็น
ข้อเท็จจริง เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะมะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมแค่ 10% และมะเร็งเต้านมในปัจจุบันเกิดขึ้นได้เองมากกว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้
4.สิ่งที่ได้ยินมา : เต้านมเล็กเสี่ยงน้อยกว่าเต้านมใหญ่
ข้อเท็จจริง ไม่เป็นความจริง ปัจจัยเรื่องขนาดไม่ได้มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่มีเต้านมเล็กและใหญ่ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เท่าๆ กัน
5. สิ่งที่ได้ยินมา : ทำแมมโมแกรมบ่อยๆ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่มีน้ำหนักเพียงพอยืนยันถึงความเชื่อดังกล่าว อีกทั้งรังสีที่ใช้ในการตรวจแมมโมแกรมมีปริมาณน้อยนิด รวมทั้งการตรวจเช็คแมมโมแกรมเพียงปีละครั้ง ก็ไม่ได้มีอันตรายหรือเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40-60 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยให้แพทย์ตรวจเต้านมร่วมกับการทำดิจิทัลแมมโมแกรมและทำอัลตราซาวด์ ที่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างละเอียดตั้งแต่ขนาดเล็ก(เพียง 0.5 -1 เซนติเมตร) ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยสามารถให้ผลได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ แนวทางการรักษามะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลวัฒโนสถ (Breast cancer pathway) ซึ่งได้รับการรับรองจากมาตรฐานนานาชาติจาก JCI ยังเน้นการดูแลตลอดโปรแกรมโดยทีมแพทย์เฉพาะทางในแต่ละสาขาที่พร้อมให้ความรู้ในการดูแลตนเอง
การป้องกันให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง ก็คือหมั่นตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ อย่าละเลยการตรวจสอบสังเกตอาการด้วยตัวเอง หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ช่วยตรวจเช็ค อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะได้รับรักษาได้อย่างทันท่วงที มีโอกาสรักษาโรคมะเร็งให้หายได้สูง

* คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความประชาสัมพันธ์จากโรงพยาบาลวัฒโนสถ