แนะลงทุนหุ้น‘อิงพื้นฐานศก.ในประเทศ-มีปัจจัยหนุน’หนีดัชนีขาลง

แนะลงทุนหุ้น‘อิงพื้นฐานศก.ในประเทศ-มีปัจจัยหนุน’หนีดัชนีขาลง

เอเซียพลัสชี้หุ้นไทยแกว่งตัวลงมีโอกาสลงแตะ1,450จุดใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า แนะลงทุนหุ้นอิงพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศ-หุ้นมีปัจจัยหนุน

ความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ยังมีน้ำหนักต่อตลาดเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ หลังจากเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยมาที่ 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน จาก 1.5% ในเดือน ก.ย.  และก้าวกระโดดจาก 0.8% เดือนส.ค. (สูงสุดในรอบ 6 เดือน) ผลค่าเช่าที่อยู่อาศัย และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง 

รวมถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐมีพัฒนาการเชิงบวก และเริ่มขัดแย้งน้อยลง กล่าวคือ ภาคการบริโภค พบว่า ยอดสั่งสร้างบ้าน (Housing Start) เดือน ต.ค. ยังเพิ่มขึ้น 25.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 1.32 ล้านหลัง (สูงสุดในรอบ 9 ปี) 

ขณะที่ ภาคการผลิต พบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) และผลผลิตอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน และพลิกมาเป็นบวก จากที่เคยติดลบนาน 3 เดือน 

ทั้งนี้ประธานเฟด นางเจเน็ต เยลเลน แสดงความเห็นต่อ สภาคองเกรส (เมื่อคืนวันที่ 17พ.ย. เวลา 4 ทุ่มตามเวลาไทย) “การขึ้นดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในไม่ช้า หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในตลาดแรงงานและเงินเฟ้อยังขยายตัวต่อเนื่อง เพราะหากเฟดชะลอออกไป จะเป็นความเสี่ยงต่อการปรับขึ้นในอนาคต”  

ดังนั้นจึงหนุนให้เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้คือ วันที่ 13-14 ธ.ค.

จากปัจจัยดังกล่าว บล.เอเชียพลัส จึงแนะกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ โดยนักลงทุนควรเลือกลงทุนหุ้นที่อิงพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศ หรือ Domestic Play และหุ้นที่มีปัจจัยหนุน เช่น กรณี ตลาดไก่ส่งออกสดใส เกาหลีใต้หันมาซื้อไทยอีกครั้ง หลังหายไป 12 ปี

อุตสาหกรรมไก่ของไทยมีแนวโน้มสดใสมากขึ้น ล่าสุดเกาหลีใต้เริ่มมาสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากไทย เริ่มจากเดือนพ.ย.นี้ หลังจากหยุดนำเข้านานติดต่อกัน 12 ปี เพราะปัญหาไข้หวัดนก ปัจจุบันได้รับการพิสูจน์ว่าไทยพ้นจากวิกฤติดังกล่าวแล้ว สะท้อนจากที่ญี่ปุ่น นำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน หลังจากหยุดนำเข้ามาหลายปีเช่นกัน 

    ในสถานการณ์นี้ ถือว่าดีต่อผู้ประกอบการไทย เพราะเกาหลีใต้เคยนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากไทย 4 หมื่นตัวต่อปี หรือคิดเป็น 5% ของยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ของไทย 7 แสนตันต่อปี  กำลังซื้อที่เกิดจากภายนอกนี้ น่าจะหนุนให้ราคาผลิตไก่ในไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง นับจากปลายปีนี้ และต่อเนื่องถึงปีหน้า  

แม้ปัจจุบันเริ่มอ่อนตัวลงมาที่ระดับ 37 บาทต่อกิโลกรัม แต่เป็นระดับที่สูงกว่าต้นทุนราว 9% โดยคาดว่าผู้ได้ประโยชน์สูงสุด คือ GFPT เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไก่คิดเป็น 70% ของรายได้รวม (ที่เหลือคือ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์) และผลิตภัณฑ์ไก่ส่วนใหญ่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ (คือ 50% อีก 20% ขายในประเทศ) 

    ผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยปัจจุบันส่งออกไปยังญี่ปุ่นเป็นหลักราว 48% ของมูลค่าส่งออกรวม รองลงมาคือ สหภาพยุโรป 45% และที่เหลืออีก 7% เป็นการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เป็นต้น  จึงไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ภายใต้การนำเข้าของประธานาธิบดีคนใหม่

    นอกจากนี้เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงที่เหลือ และต่อเนื่องอย่างน้อยในไตรมาสแรกของปีหน้าถือยังหนุนหุ้นส่งออก โดยชื่นชอบ GFPT มากสุด เพราะธุรกิจมาจากผลิตภัณฑ์ไก่เป็นหลัก และมี Expected พี/อี 10 เท่า ต่ำสุดในกลุ่ม รองลงมาคือ ซีพีเอฟ 

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทย ยังอยู่ในภาวะผันผวน และมีโอกาสทดสอบ 1,450 จุดในระยะ 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยคาดว่าเกิดจากที่ตลาดหุ้นไทย ยังไม่มีประเด็นหนุนใหม่ ขณะที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการส่งออก หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่  ซึ่งมีนโยบายกีดกันทางการค้าประเทศที่รุนแรง โดยเฉพาะกับประเทศที่ได้เปรียบและเกินดุลการค้ากับสหรัฐ  ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนุนการขายต่างชาติ 

สอดคล้องกับช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี นักลงทุนต่างชาติมักขายสุทธิอยู่แล้ว แต่จากสถานการณ์นี้ เท่ากับเป็นการผลักดันการไหลของ Fund Flow สะท้อนจากที่ดัชนีตลาดหุ้นเอเซียผันผวนในทิศทางขาลงนับจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น เช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคเอเซียที่ผันผวนเช่นกัน โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าไป 1.7% ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคก็อ่อนค่าลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงในตลาดหุ้นภูมิภาค แต่พบว่า Expected  P/E ยังลดลงไม่มากคือ 16.4 เท่าในปี 2559 และ 15 เท่าในปี 2560 ใกล้เคียงกับ Expected P/E ปี 2559-2560 ตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 16.9 และ 14.2 เท่า และฟิลิปปินส์ที่ 17.9 และ 16.6 เท่า เทียบกับ Expected P/E ตลาดหุ้น Dow Jones ปี 2559 ที่ 17.3 เท่า และ 15.5 เท่าในปี 2560 ตลาดหุ้น STOXX600 ที่ 15.8 และ 14.1 เท่า และ FTSE100 ที่ 16.6 และ 14.2 เท่า

หากเทียบอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ แม้จะสูงเกินกว่า 30% เพราะฐานที่ต่ำในปี 2558 แต่ในปี 2560 ตลาดหุ้นไทยจะเติบโตเหลือเพียง 8% ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่เติบโต 8.2% แต่น้อยกว่าอินโดนีเซียที่ปี 2560 เติบโต 19% จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลก ยังคงเคลื่อนไหวภายใต้แรงกดดันจากตลาดโลก จึงต้องอาศัยแรงขับคลื่อนจากเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ กลยุทธ์การลงทุนจึงยังเน้นไปที่หุ้นแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส4 ปี2559 โดดเด่น, หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการก่อสร้างภาครัฐ หุ้นปันผลสูง และหุ้นเติบโตสูง