'ซีพีเอฟ'ทุ่ม3.8หมื่นลบ. ซื้อธุรกิจอาหารแช่แข็ง

'ซีพีเอฟ'ทุ่ม3.8หมื่นลบ. ซื้อธุรกิจอาหารแช่แข็ง

"ซีพีเอฟ"ทุ่ม 3.8 หมื่นล้าน ซื้อ "Bellisio" ธุรกิจผลิต-จำหน่ายอาหารแช่แข็งยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐ หวังเป็นฐานเจาะตลาดอาหารใหญ่ที่สุดในโลก

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปรายใหญ่ของไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (17 พ.ย.) ว่า บริษัทได้เข้าซื้อกิจการ Bellisio Parent, LLC ในราคารวม 1,075 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 38,161 ล้านบาท โดยคาดว่าการเข้าซื้อกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 180 วันนับจากวันลงนามในสัญญาและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยครบถ้วนแล้ว

กลุ่ม Bellisio เริ่มดำเนินธุรกิจในสหรัฐครั้งแรกตั้งแต่ปี 2533 โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานประเภท Single Serve ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นลำดับ 3 ในสหรัฐ ภายใต้ตราสินค้า ได้แก่ Michelina's, Boston Market, Chilli's และ Atkins เป็นต้น รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีจุดเด่นด้านคุณภาพและโภชนาการภายใต้ตราสินค้า EatingWell และEAT! ซึ่งกลุ่ม Bellisio เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ Bellisio ยังเป็นผู้นำในตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานแบบ Single Serve ในประเทศแคนาดา ปัจจุบัน Bellisio มี 4 โรงงาน ตั้งอยู่ในรัฐโอไฮโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐมินนิโซตา รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ค้าปลีกชั้นนำในสหรัฐ ทำให้มีช่องทางขายร้านจัดจำหน่ายถึงกว่า 50,000 แห่ง

ผลการดำเนินงานของ Bellisio ในปี 2558 มียอดขาย 20,888 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 501 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 16,049 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 13,428 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 2,801 ล้านบาท

ขณะที่ รายได้สุทธิ รวมล่าสุด 12 เดือนย้อนหลัง 23,713 ล้านบาท และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย, ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (adjusted EBITDA) 2,911 ล้านบาท

ผลประโยชน์ที่ซีพีเอฟ จะได้จากการลงทุนครั้งนี้ คือ Bellisio จะเป็นฐานที่สำคัญของซีพีเอฟ ในการเข้าสู่ตลาดธุรกิจอาหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากกลุ่ม Bellisio มีธุรกิจหลักที่แข็งแกร่ง และมีตราสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป รวมทั้งเป็นช่องทางให้กลุ่มซีพีเอฟ ส่งออกสินค้าเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือได้ และยังใช้จุดแข็งระหว่างกัน ผนึกศักยภาพในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน เช่น การขยายช่องทางจัดจำหน่ายไปสู่ผู้บริโภครายย่อย และการต่อยอดเข้าสู่ตลาดสินค้าและธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสในกลุ่มอาหารเอเชีย ซึ่งซีพีเอฟ มีความเชี่ยวชาญ และมีเครือข่ายในเอเชีย และประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ส่วนแหล่งเงินซื้อกิจการจะมาจากกระแสเงินสดภายในกลุ่มซีพีเอฟ

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซีพีเอฟ กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ เป็นการผสมผสานจุดแข็งของซีพีเอฟ และกลุ่ม Bellisio ทำให้ผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์“ครัวของโลก”

“การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของซีพีเอฟ ที่ต้องการขยายธุรกิจอาหารไปยังตลาดที่มีศักยภาพ สัดส่วนยอดขายของบริษัทหลังจากการเข้าซื้อเสร็จสมบูรณ์จากการประมาณการเบื้องต้นจะทำให้สัดส่วนของธุรกิจอาหารของซีพีเอฟเพิ่มขึ้น”

ชี้ซื้อธุรกิจเหมือนซื้อตลาด-เทคโนฯ

“การไปลงทุนต่างประเทศ ผลที่ได้รับคือยอดขายซึ่งใน 13 ประเทศปัจจุบันมีถึง 60% จากการส่งออก 5% ฉะนั้นยอดขายที่เกิดจากประเทศไทยจริงๆ เพียง35%” นายอดิเรก ระบุไว้ก่อนหน้านี้

นายอดิเรก กล่าวว่า การซื้อกิจการในต่างประเทศตอนนี้มีหลายดีลที่ดูอยู่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งไก่ กุ้ง อาหารสำเร็จรูป โลจิสติกส์ ระบบการกระจายสินค้า แต่ทุกครั้งที่จะดีลต้องเซ็น Non Disclosure Agreement หรือเอ็นดีเอเป็นการรักษาความลับ เพราะถ้าซื้อไม่สำเร็จแล้วเปิดเผยออกไปจะเกิดความเสียหายได้ หรืออาจจะถูกปรับและเกิดการฟ้องร้องได้

นายอดิเรก ย้ำว่าการซื้อธุรกิจ เป็นการซื้อตลาด ซื้อเทคโนโลยีการผลิต และซื้อทีมผู้บริหาร เพราะบริษัทเดิมมีทีมบริหาร มีตลาดและมีเทคโนโลยีที่พร้อมอยู่แล้ว

“เพียงแต่นำมาร่วมหรือเชื่อมต่อกับธุรกิจของเราได้อย่างไร นำสินค้าของเราไปเชื่อมกระจายได้หรือไม่ ทุกอย่างเชื่อมต่อกันได้”

มอง 3 ธุรกิจเทรนด์ใหม่ซีพีเอฟ

สำหรับเทรนด์ใหม่ของซีพีเอฟจากนี้ไปคือ อาหารสุขภาพ อาหารผู้ป่วย หุ่นยนต์ ถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะให้ความสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง ในอนาคตการใช้ซอฟต์แวร์ ดิจิทัล มาช่วยการบริหารการจัดการ เป็นเรื่องสำคัญต่อไปการทำงานด้วยโทรศัพท์ ข้อมูลต้องมาทางโทรศัพท์ สั่งงานทางโทรศัพท์ รับผลก็ต้องทางโทรศัพท์

ดังนั้นการใช้ดิจิทัลเข้าไปจัดการเรื่องฟาร์ม โรงงาน การตลาด การขาย จะต้องผ่านซอฟต์แวร์พวกนี้ก่อน เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องดิจิทัล เรื่องซอฟต์แวร์ ให้ความสำคัญกับเรื่องหุ่นยนต์ อาหารสุขภาพ อาหารปลอดภัย อาหารผู้สูงวัย เป็นเทรนด์ที่ซีพีเอฟจะไปทางนี้

“เราก็ต้องคิดล่วงหน้า เตรียมตัวล่วงหน้า เพื่อจะให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ไม่อย่างนั้นจะแข่งขันกับเขาไม่ได้”

นายอดิเรก มองว่าส่วนของรายได้ของซีพีเอฟภายใน 5 ปีจากนี้ไปจะต้องทำให้ได้ 7-8 แสนล้านบาท หรือไม่ก็ 7 แสนล้านบาท เป็นอย่างน้อย รายได้ของซีพีเอฟไม่ถือว่าใหญ่เกินไป บริษัทอื่นที่ใหญ่กว่ามีรายได้ปีละเป็นล้านล้านบาท

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ว่าจ้าง เจ .พี . มอร์แกนทำหน้าที่ที่ปรึกษาการเงิน และเดวิส พอล์ค แอนด์ วาร์ดแวล แอลแอลพี เป็น่ที่ปรึกษากฎหมาย

ขณะที่นายโจเอล คอนเนอร์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่ม Bellisio กล่าววว่า มีความยินดีที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มซีพีเอฟ ซึ่งคิดว่าการทำงานร่วมกันจะผลักดันการเจริญเติบโตของ Bellisio ได้เป็นอย่างดีในอนาคต