'บีโอเจ' ใช้มาตรการพิเศษสกัดบอนด์

'บีโอเจ' ใช้มาตรการพิเศษสกัดบอนด์

ดัชนีดอลลาร์เริ่มอ่อนลง หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดรอบ 13 ปีครึ่ง ขณะ “บีโอเจ” เริ่มใช้มาตรการพิเศษ หวังสกัดบอนด์ยีลด์ ฉุดเงินบาทแข็งค่าสวน

ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินขยับลงในวานนี้(17พ.ย.) หลังพุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบ 13 ปีครึ่งในวันก่อนหน้า โดยดัชนีดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า รัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้นโยบายกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ ทางด้านเยนร่วงลง หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เริ่มปฏิบัติการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB)

ดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ 100.30 ในวานนี้ ขยับลงจาก 100.41 ในช่วงท้ายของวันก่อนหน้า โดยดัชนีดอลลาร์เพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 100.57 ในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2546

ดอลลาร์อยู่ที่ 109.05 เยนในวันนี้ ใกล้เคียงกับ 109.06 เยนในช่วงท้ายวานนี้ โดยดอลลาร์เพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 109.76 เยนเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.

ดอลลาร์ได้ร่วงลงแตะจุดต่ำสุดของวันนี้ที่ 108.55 เยนในช่วงแรก ก่อนจะพุ่งขึ้นแตะ 109.30 เยนในช่วงต่อมา หลังจากบีโอเจประกาศปฏิบัติการเข้าซื้อ JGB

‘บีโอเจ’สกัดบอนด์ยีลด์พุ่ง

สำหรับเงินเยนร่วงลงจากจุดสูงสุดของวัน หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ดำเนินปฏิบัติการพิเศษครั้งแรกในวานนี้ เพื่อสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) โดยบีโอเจเสนอเข้าซื้อพันธบัตรโดยไม่จำกัดจำนวนในอัตราผลตอบแทนคงที่ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย.

บีโอเจประกาศปฏิบัติการซื้อ JGB ในขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปยังความเคลื่อนไหวในอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐกับญี่ปุ่น โดยนักลงทุนมองว่าปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์/เยน

นายชินอิชิโระ คาโดตะ จากธนาคารบาร์เคลย์สกล่าวว่า “การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจัยดังกล่าวชะลอตัวลงแล้วในช่วงนี้ ดังนั้นความเคลื่อนไหวของดอลลาร์/เยนจึงชะลอตัวลงด้วย”

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีอยู่ที่ 2.199 % ในขณะนี้ หลังจากเพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 10 เดือนที่ 2.302 % ในช่วงต้นสัปดาห์นี้

นักลงทุนรอ‘เฟด’แถลงนโยบาย

นักลงทุนรอฟังถ้อยแถลงของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยนางเยลเลนจะกล่าวแถลงต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมประจำสภาคองเกรส และนักลงทุนจะรอดูว่า นางเยลเลนจะแสดงความเห็นต่อการแข็งค่าของดอลลาร์ และต่อการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐในช่วงนี้หรือไม่

นายฟิลิป ซอนเดอร์ส จากบริษัทอินเวสเทคกล่าวว่า ยูโรอาจจะร่วงลงสู่ 1.00 ดอลลาร์ในปีหน้า ในขณะที่ยุโรปเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ

ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าด้วย

นายแพทริค ฮาร์เคอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า เขาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

‘มูดี้ส์’ชี้นโยบายสหรัฐกระทบการค้า

ด้านรายงานข่าวจาก บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆของสหรัฐอาจกระทบการค้า และทำให้เศรษฐกิจในทวีปอเมริกา และเอเชีย-แปซิฟิกอ่อนแอลง โดยอินเดียและฟิลิปปินส์อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆของสหรัฐที่ลดแรงจูงใจในการจัดหาบริการธุรกิจต่างๆ จากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเน้นผลประโยชน์ในประเทศของตนมากขึ้นในสหรัฐอาจจะจำกัดปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วย โดยการปรับกฎการตรวจคนเข้าเมืองให้เข้มงวดขึ้นในสหรัฐจะลดการขยายตัวของปริมาณการโอนเงินกลับประเทศจากกลุ่มคนงานชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ มูดี้ส์คาดว่า ข้อตกลงการค้าที่มีอยู่แล้วจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป หลังการเปลี่ยนประธานาธิบดีในสหรัฐ แต่นโยบายใหม่ๆก็อาจจะจูงใจการทำข้อตกลงที่เน้นในประเทศ

‘เวียดนาม’หยุดข้อตกลงทีพีพี

นายเหงียน ซวน ฟุค นายกรัฐมนตรีของเวียดนามเปิดเผยว่า รัฐบาลเวียดนามได้หยุดการขอสัตยาบันจากสมัชชาแห่งชาติเพื่อรับรองความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆไม่เพียงพอ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสหรัฐ

“สหรัฐได้ประกาศแล้วว่า สหรัฐจะระงับการส่ง TPP ไปให้รัฐสภาพิจารณา ดังนั้น จึงไม่มีเงื่อนไขที่เพียงพอสำหรับเวียดนามที่จะยื่นข้อเสนอไปเพื่อลงสัตยาบัน” นายเหงียนกล่าวต่อสมัชชาแห่งชาติ

‘บีโอเจ’กดดันบาทแข็ง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทวานนี้(17พ.ย.) ค่อนข้างทรงตัว โดยปิดตลาดแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 35.44 บาทต่อดอลลาร์ จากวันก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 35.49-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินภูมิภาค ยังคงมีหลายสกุลที่อ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะริงกิตของมาเลเซีย วอนเกาหลีใต้ และ เปโซ ฟิลิปินส์

“ค่าเงินบาทเราจะค่อนข้างเกี่ยวโยงกับญี่ปุ่น บังเอิญว่าช่วงเช้าวานนี้มีข่าวว่า บีโอเจ(ธนาคารกลางญี่ปุ่น) จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้นักลงทุนมองว่า บีโอเจ อัดฉีดเงินออกมาเพิ่ม จึงเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาบางช่วงในระหว่างการซื้อขาย ซึ่งถ้าไม่มีข่าวนี้ออกมา ก็อาจทำให้เงินบาทเราอ่อนค่าตามภูมิภาคก็ได้”

สำหรับเงินริงกิตของมาเลเซียนั้น อ่อนค่าพอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสข่าวเกี่ยวกับการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เงินริงกิตอ่อนค่าลงไปค่อนข้างมาก ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน

นายจิติพล กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงนี้ คือ ถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่ง นางเจลเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ได้แถลงนโยบายต่อสภาคองเกรส จึงต้องดูว่าจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร