หอพักรอบ 'มมส' กว่า450แห่ง ดันขยะพุ่ง-ลุยโรงคัดแยกขยะ

หอพักรอบ 'มมส' กว่า450แห่ง ดันขยะพุ่ง-ลุยโรงคัดแยกขยะ

แก้ปัญหาชุมชนรอบมหา'ลัย เหตุหอพักรอบ "มมส" กว่า450แห่ง ดันยอดขยะพุ่ง ด้านคณะวิศวะฯลุยโรงคัดแยกขยะ หนุนนิสิตได้เรียนรู้

ที่บริเวณพื้นที่จัดการขยะชุมชนบ้านดอนยม ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้นำบุคลากร และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นนิสิตหลักสูตรวิศวกรรมโยธา หลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต ได้ร่วมกันส่งมอบวัสดุอุปกรณ์โครงการลด-คัด-แยกขยะในชุมชนแก่ชุมชนบ้านดอนยม ซึ่งนิสิตได้ออกแบบและผลิตตะแกรงเพื่อคัดแยกขยะ เพื่อให้โรงคัดแยกขยะแห่งนี้ เป็นโรงคัดแยกขยะที่มีมาตรฐาน และเพิ่มความสะดวกให้กับชุมชน ในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ โดยมีนายมานพ นนสีลาด ปลัดเทศบาลตำบลท่าขอนยาง เป็นผู้รับมอบ

นางสุดา เหล่าโผน ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลท่าขอนยาง กล่าวว่า ขยะนับว่าเป็นปัญหาอันดับต้นของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลท่าขอนยาง เนื่องจากเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีความเจริญอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหนึ่งคือใกล้กับสถานศึกษา และมีจำนวนหอพักมากกว่า 450 แห่ง เฉลี่ยแล้วทางเทศบาลตำบลท่าขอนยาง หน่วยงานเขตรับผิดชอบ ต้องจัดการกับขยะถึงวันละ 14-15 ตันต่อวัน ทางเทศบาลจึงได้ร่วมกับผู้นำชุมชน ทอดผ้าป่าขยะ ให้เกิดกองทุนหมุนเวียน และจัดสร้างโรงคัดแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน

โรงคัดแยกขยะแห่งนี้ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านดอนยม ได้รับการสนับสนุนจัดสร้างจากภาครัฐ กําหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเร่งรัดให้มีการควบคุมมลพิษทางอากาศ ขยะ และน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตและบริโภคในพื้นที่ รวมถึงการจัดการขยะมูลฝอย และกําหนดบ่อทิ้งขยะให้ถูกต้อง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สถาบันการศึกษาที่เน้นในเรื่องบริการวิชาการแก่ชุมชน

รองศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง เปิดเผยว่า ในรายวิชา 1 หลักสูตร 1 ชุมชน ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมโยธา หลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต ได้ลงพื้นที่ให้บริการ โดยการเดินสายไฟฟ้าเข้าสู่โรงคัดแยกขยะ วางระบบท่อน้ำประปา และสร้างตะแกรงคัดแยกขยะ ซึ่งถือเป็นโรงคัดแยกขยะต้นแบบอีกหนึ่งแห่ง ที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลท่าขอนยาง ที่จะช่วยการผลักดันให้คนในชุมชน ได้มีจิตสำนึกในการทิ้งขยะ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมของชุมชน มีความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพิ่มมูลค่าทางขยะ เพราะขยะอินทรีย์ ประชาชนสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ใช้ในภาคการเกษตร และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในครัวเรือนได้อีกด้วย