Helpster หางาน หาคน เป็นเรื่องง่าย

Helpster หางาน หาคน เป็นเรื่องง่าย

ยิ่งมีดาต้ามากเท่าไหร่การจับคู่งานก็ทำได้ดีและเร็วมากขึ้นเท่านั้น

ตลาดโลกออนไลน์เป็นหนึ่งในลู่วิ่งที่ จอห์น ศรีวรกุล โลดแล่นมาโดยตลอดตั้งแต่เมื่อครั้งทำงานที่สหรัฐอเมริกาก่อนจะโบกมือลาแล้วเดินหน้าทำธุรกิจด้านออนไลน์มาร์เก็ตติ้งและอี-คอมเมิร์ชในไทยเมื่อหลายปีก่อน

ล่าสุด จอห์น และทีมผู้บริหารที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทออนไลน์ อาทิเช่น New Media, Admax, Ensogo, aCommerce, Ardent Capital ร่วมกันทำงานใหม่ภายใต้แพลตฟอร์มการหางาน และหาพนักงานประจำ และพาร์ทไทม์ในชื่อ Helpster

โดย ทอม และ พอล ศรีวรกุล นั่งเป็นผู้บริหารดูภาพรวม ขณะที่ จอห์น ศรีวรกุล (John Srivorakul) และคุณแมทธิว วาร์ด (Mathew Ward) กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่น Helpster (เฮลป์สเตอร์)

Helpster เกิดจากแนวคิดที่จะสร้างรูปแบบการหางานรูปแบบใหม่ในแบบ B2B หรือ ธุรกิจกับธุรกิจ โดยนำออนไลน์เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนเพื่อเป็นช่องทางที่ง่ายต่อการเข้าถึงทั้งจากฝั่งผู้ประกอบการ และคนทำงาน

ประสบการณ์การทำงานด้านมีเดียอย่าง Admax จากนั้นก็เคยร่วมงานกับบริษัทด้านเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกันก่อนจะมาลุยงานที่ Helpster ที่เปิดตัวไปเมื่อมกราคม 2559

“นี่ไม่ใช่ Tech startup แห่งแรกที่ทำ ก่อนหน้านั้นเคยทำงานมาแล้วกับองค์กรธุรกิจเทคโนโลยี เพียงแต่การทำ HRTech ในครั้งนี้สร้างอิมแพ็คให้เกิดขึ้นได้ทั้งกับธุรกิจ โดยเฉพาะคนทำงานในกลุ่ม blue collar worker ได้มีโอกาสเข้าถึงงานที่ดี และได้รับโอกาสที่ดี” แมทธิว กล่าว

Blue collar worker ในมุมของ Helpster จะมองไปที่พนักงานระดับปฏิบัติการ อาจจะไม่ได้เงินเดือน แต่รับค่าจ้างเป็นรายวัน หรือค่าแรงขั้นต่ำหรือมากกว่าขั้นต่ำ ซึ่งเป็นอาชีพที่อาจไม่ต้องใช้ทักษะมากนักในการทำงาน หรือ ใช้เวลาการเทรนนิ่งเพียงสั้นๆ ก็พร้อมทำงานได้ในทันที อย่างไรก็ดี มีบ้างที่ในบางตำแหน่งอาจต้องใช้ทักษะ เช่น บาริสต้า บาร์เทนเดอร์

การทำงานของแพลตฟอร์มนี้เป็นการจับคู่พนักงานกับธุรกิจที่เปิดให้ทั้สองฝ่ายได้เข้าไปกำหนดงานที่ต้องการได้อย่างง่าย และรวดเร็ว

ในฝั่งธุรกิจจะเป็นการช่วยค้นหาพนักงานประจำ หรือพาร์ทไทม์ที่ต้องการ โดยระบบการคัดเลือกพนักงานตามคุณภาพสมบัติที่ระบุไว้ใน Template จากนั้นก็เข้าไปดูรีวิวพนักงาน ประวัติการทำงาน

โดยช่องทางนี้จะสามารถแชท และโทรคุยกับพนักงานได้ผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อสัมภาษณ์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ทันที

ขณะที่ในส่วนของคนหางาน จากแรกๆ ของการเปิดตัว Helpster เปิดช่องทางไว้เฉพาะงานพาร์ทไทม์เท่านั้น ก่อนจะเริ่มเปิดให้บริการในส่วนของงานประจำในเวลาถัดมา

รูปแบบของการเข้าถึงแพลตฟอร์มนี้ทำได้โดยคนหางาน สามารถเข้าไปให้ประวัติการทำงาน ประสบการณ์ทำงาน และข้อมูลส่วนตัวเพื่อจะใช้เป็นข้อมูลในการนำไปจับคู่งานต่อไป

“ตำแหน่งงานที่เราโฟกัสส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม hospitality โรงเรม ร้านอาหาร ขณะที่งานในกลุ่มอื่นๆ จะขยายต่อไปในอนาคต”

อย่างไรก็ดี แม้จะมีเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมระหว่างแหล่งงาน กับคนทำงาน แต่ก็ถือว่าการทำงานรูปแบบนี้ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับตลาดในไทย

แมทธิว ยอมรับว่า แพลตฟอร์มนี้ยิ่งมีดาต้ามากเท่าไหร่ก็ช่วยเรื่องการจับคู่งานได้ดีและเร็วมากขึ้นเท่านั้น

แต่สิ่งที่ยากคือการทำให้คนหางาน มอบดาต้าให้กับเรา

“บางครั้ง ในแอพต้องการให้คนทำงานกรอกข้อมูลให้มากที่สุด แต่ที่ยากเป็นเรื่องของมุมมองและความเข้าใจ บางคนยังห่วงในเรื่องของความปลอดภัย อีกทั้งยังเป้นเรื่องใหม่สำหรับเค้า
เพราะว่าเราเป็นรายแรกที่เข้ามาดูแลคนทำงานในกลุ่ม blue collar จึงต้องมีการเรียนรู้กันไป จากเดิมคนทำงานจะวอร์คอินไปที่แหล่งงาน สำหรับบางคนการทำเรซูเม่บางครั้งก็ยังไม่เคยทำ”

สิ่งที่ Helpster ทำคือการทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ถึงการทำงานให้มากขึ้น อย่างเช่น จากเดิมที่ต้องกรอกข้อมูลก็ปรับให้เป็น การใช้สมาร์ทโฟนอัดวิดีโอ ด้วยการพูดอธิบายสั้นๆ บอกว่าเป็นใคร ทำอะไรได้บ้าง

“การปรับการทำงานเช่นนี้ทำให้บางคนสะดวกมากยิ่งขึ้น และรู้สึกสนุก ส่วนนายจ้างเองก็รู้สึกตื่นเต้นไปด้วย” แมทธิว กล่าวและบอกว่าตลอดเส้นทางคือการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
กว่า 10 เดือนของการเปิดให้บริการในไทย แมทธิว บอกได้รับการตอบรับเป็นอย่างไร ขณะนี้มีผู้ประกอบการณ์ลงทะเบียนกว่า 3,000 ราย ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม
ส่วนพนักงานมีการลงทะเบียนแล้วกว่า 40,000 ราย อาทิ พนักงานเสริฟ พนักงานต้อนรับ แคชเชียร์ พนักงานต้อนรับ พนักงานขาย พนักงานแพ็คสินค้า พนักงานบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ ฯลฯ

โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับพนักงานแล้วกว่า 4,000 คน มูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 1 และ 2

การทำงานในวันนี้ แมทธิว บอกว่ารู้สึกดีกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคนทำงานมากขึ้น

“ถ้าคนงานหนึ่งคนต้องใช้เวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมงเพื่อรับค่าแรง 300 บาท หรือ 450 บาท แต่เราจะบอกว่าไม่ได้มีงานที่นี่ที่แห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังมีงานอื่นให้เลือกซึ่งอยู่ห่างจากที่พักอาศัยแค่เดินทางไม่กี่นาที ผมว่าเป็นอีกทางเลือกได้ให้กับคนทำงานกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะงานพาร์ทไทม์เท่านั้น แต่มีงานประจำด้วย”

สำหรับตลาดในไทยคาดหวังจะมีคนทำงานเข้ามาลงทะเบียนในระบบมากขึ้นเป็นหลัก 50,000 คน พร้อมกับออกแอพพลิเคชั่นล่าสุดเพื่อเปิดให้คนงานและนายจ้างทั่วประเทศได้ลงทะเบียนหางานกันได้แล้ว ในขณะที่ได้ขยายแพลตฟอร์มไปยังประเทศอินโดนีเซียแล้วในช่วงที่ผ่านมา

“อินโดนีเซีย คนว่างงานเยอะกว่าไทย การหาคนงานระดับปฏิบัติการในอินโดนีเซียจะง่ายกว่า แต่สำหรับคนงานมีฝีมือ ไทยจะหาง่ายกว่า”

เป้าหมายที่มองเอาไว้ในอนาคตคือ Helpster จะเป็นแพล็ตฟอร์มที่ตอบโจทย์เรื่องการทำงานที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความสำเร็จของ Helpster จะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก
หนึ่ง การรวมรวบดาต้าในกลุ่มผู้หางานให้ได้มากที่สุด แล้วนำดาต้านั้นมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การจับคู่งานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สอง การสร้างอิสระในเรื่องงานให้กับทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ประกอบการก็สามารถคัดเลือกพนักงานที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจนั้นๆ ในส่วนของพนักงานก็มีสิทธิ์เลือกงานที่ตัวเองต้องการได้เช่นเดียวกัน

โดยได้จัดเก็บข้อมูลและฟีดแบ็คต่างๆ ทั้งจากพนักงานและผู้ประกอบ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนารูปแบบการบริการและระบบต่างๆ ในแอพพลิเคชั่นให้ตรงกับความต้องการของตลาดในไทย

“เรากำลังขยายฐานลูกค้า และพนักงานในตำแหน่งต่างๆ ให้กว้างและครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมกับสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อทำให้เกิดจุดสมดุลทั้งอุปสงค์ในการหาพนักงาน และอุปทานในการหางาน” แมทธิว วาร์ด กล่าว