เตรียมนำ'ประโคมย่ำยาม' ขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรม

เตรียมนำ'ประโคมย่ำยาม' ขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรม

วธ.เตรียมนำ“ประโคมย่ำยาม”ขึ้นบัญชี มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพิ่อเตรียมพร้อมเสนอขึ้นบัญชีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับ"ยูเนสโก"

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 3/2559 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า การประโคมย่ำยาม เป็นราชประเพณีโบราณในพระบรมมหาราชวัง จัดเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างหนึ่ง เพื่อเป็นสัญญาณให้ข้าราชการรู้กำหนดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในพระราชพิธีพระบรมศพ หรือพระศพพระราชวงศ์ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ที่ควรได้รับการอนุรักษ์และสืบสานอย่างต่อเนื่อง

"วธ.จึงได้เตรียมนำการ “ประโคมย่ำยาม” ขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นการเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเสนอขึ้นบัญชีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับยูเนสโก ต่อไป" นายวีระ กล่าว

นายวีระ กล่าวอีกว่า  ในกระบวนการของการนำ “ประโคมย่ำยาม” ขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)นำเสนอเรื่อง การประโคมย่ำยามเข้าสู่กระบวนการขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1..ชุมชนผู้ปฏิบัติ(สำนักพระราชวัง/สำนักการสังคีต/สภาวัฒนธรรม กทม.)ร่วมกับคณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จัดทำข้อมูลตามเกณฑ์การจัดทำรายการเบื้องต้นของกรุงเทพมหานคร 2.คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เสนอรายการประโคมย่ำยามเพื่อขอขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ต่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม 3.กรมส่งเสริมวัฒนธรรม นำเรื่องประโคมย่ำยามเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาเสนอความเห็นให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ 4.กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 

นำความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรอง เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเพื่อพิจารณาประกาศขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ในปัจจุบัน กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีการขึ้นบัญชีราการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ไปแล้วตั้งแต่ปี 2552-2558 จำนวน 318 รายการ ครอบคลุม 6 เรื่อง ได้แก่  1.แนวทางปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล เช่น มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ

2.วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา เช่น นิทาน ตำนาน สุภาษิต ปริศนาคำทาย ภาษาไทย ภาษาถิ่น 3.ศิลปะการแสดง เช่น ดนตรีและเพลงร้อง นาฏศิลป์ ละคร การแสดงพื้นบ้าน 4.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เช่น อาหารและโภชนาการ โหราศาสตร์ 5.งานช่างฝีมือดั้งเดิม เช่น จักสาน งานผ้า เครื่องปั้นดินเผา งานไม้ โลหะ เครื่องหนัง และ6.การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น มวยไทย ว่าวไทย

นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการเตรียมความพร้อม เพื่อนำเสนอขึ้นบัญชีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับยูเนสโก ขณะนี้มี 5 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา มวยไทย และสำรับอาหารไทย