คาดค่าจ้างขั้นต่ำ เข้าครม.สัปดาห์หน้า

คาดค่าจ้างขั้นต่ำ เข้าครม.สัปดาห์หน้า

แรงงานคาดสัปดาห์หน้าครม.พิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ยันไม่ได้ตีกลับ แต่ติดขั้นตอนทางธุรการ ขณะภาคเอกชนขานรับ คาดกระทบต้นทุนไม่มากนัก

กระทรวงแรงงาน คาดว่า ในสัปดาห์หน้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 จากเดิมที่คาดว่าจะพิจารณา วานนี้ (15 พ.ย.)

นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงในฐานรองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอให้ครม.ไปแล้ว แต่อาจจะมีการติดขัดปัญหาด้านธุรการทางฝ่ายเลขาธิการครม. ทำให้ยังไม่มีการพิจารณาในการประชุมสัปดาห์นี้

“คิดว่าในสัปดาห์หน้าจะเข้าที่ประชุมอย่างแน่นอน ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงแรงงาน จะไม่มีการดึงเรื่องกลับมาทบทวนอย่างแน่นอน”

กระทรวงแรงงานเสนอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5-10 บาท ตามมติของคณะกรรมการไตรภาคี เป็นการปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจรายพื้นที่ โดยแบ่งตามกลุ่มจังหวัด

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การที่ยังไม่มีการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในที่ประชุมครม. เนื่องจากยังไม่ได้เสนอให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รับทราบ จึงขอถอนเรื่องก่อน คาดสัปดาห์หน้าน่าจะมีการพิจารณา

นายธนิต โสรัตน์รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวเห็นด้วยว่าอัตราการขึ้นค่าแรงที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัดที่ระดับ 5-10 บาท เป็นอัตราที่เหมาะสม เพราะแต่ละจังหวัดก็มีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่างกัน จังหวัดไกลๆจะมีต้นทุนที่สูงกว่า หากขึ้นในอัตราที่เท่ากันก็ไม่สามารถสู้กับจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆได้

“การที่ค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่ค่อยมีผู้ประกอบการสนใจเข้าไปลงทุนนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน”

ห่วงเอสเอ็มอีแบกภาระต้นทุนเพิ่ม

นายธนิต กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ เอกชนยอมรับได้ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบบ้างทำให้ต้องแบกภาระขาดทุนเพิ่ม ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แทบจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่ใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในกระบวนการผลิต

“การผลิตของประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงกลางน้ำที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เช่น อาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม รองเท้ากีฬา ชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะต้องแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้นพอสมควร เพราะต้นทุนหลักอยู่ที่ค่าแรง หากมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง 10-20% ก็ไปจ้างเวียดนามผลิตดีกว่า ดังนั้นอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ค่อยๆทยอยไปประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว”

นายธนิต กล่าวว่าอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากที่สุดน่าจะเป็นแรงงานในภาคการเกษตร เพราะมีจำนวนถึง 11.2 ล้านคน แรงงานค้าปลีกค้าส่ง 5 ล้านคน ก่อสร้าง 2.58 ล้านคน ขนส่ง 1.3 ล้านคน เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่ไม่ได้รวมตัวอย่างเข้มแข็ง จึงขาดอำนาจต่อรอง จึงไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน ในขณะที่แรงงานภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 6.4 ล้านคน แต่เป็นกลุ่มที่รวมตัวเข้มแข็งจึงมีบทบาทในการต่อรองมากกว่า

ชี้แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์

นายธนิต มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานไทยส่วนใหญ่ก็ได้รับค่าแรงสูงกว่า 310 บาทต่อวันอยู่แล้ว ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นายจ้างก็ต้องไปปรับฐานค่าจ้างของแรงงานไทย และแรงงานทุกระดับทั้งหมด เพื่อให้เกิดความสมดุล ทำให้ในภาพรวมนายจ้างจะต้องแบกภาระค่าแรงมากขึ้นพอสมควร

สำหรับสถานการณ์แรงงานในขณะนี้ไม่ค่อยดีนัก โดยตัวเลขอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือน ต.ค.2559 อยู่ที่ 1.2% สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 0.85% หรือมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.5 แสนคน โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่จบการศึกษาในปีนี้ที่ยังหางานทำไม่ได้ประมาณ 2 แสนคน

ส่วนในปี 2560 คาดว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 1.3% ซึ่งตัวเลขจากสำนักงานประกันสังคมก็มีผู้ที่เข้ามาขอเงินชดเชยจากการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว

นายธนิต กล่าวว่า สาเหตุการว่างงานปรับตัวขึ้นไม่มาก เพราะไทยยังพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ดังนั้นตัวเลขการเลิกจ้างจะไปอยู่ที่แรงงานต่างด้าวก่อน ซึ่งในปีนี้มีแรงงานต่างด้าวหายไปจากระบบประมาณ 4 แสนคน เพราะนายจ้างไม่ต่อสัญญา ทำให้แรงงานต่างด้าวในระบบลดลงจากเดิม1.6 ล้านคน เหลือประมาณ 1.2 ล้านคน

“อิสระ”ชี้ไม่กระทบต้นทุนธุรกิจ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการขึ้นค่าแรงไม่เป็นผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนหรือกระทบต่อต้นทุนปรับสูงขึ้นมาก เพราะเมื่อพิจารณาแล้วปัจจุบันค่าแรงงานคิดเป็นต้นทุนไม่ถึง 10%ของภาคธุรกิจ อีกทั้งหากการปรับขึ้นครั้งนี้ไม่ถึง 1%ของสัดส่วนค่าแรงทั้งหมดก็ยิ่งไม่เป็นผลต่อภาคเอกชนในเรื่องของต้นทุนอย่างแน่นอน

แต่อย่างไรก็ดีอาจถึงช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมจะต้องปรับโครงสร้างแรงงานใหม่ โดยจำเป็นต้องมองแรงงานทางเลือกด้วยการเปลี่ยนถ่ายคนสู่เทคโนโลยีมากขึ้น

“หลายปีที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงในบางสาขาเลย อีกทั้งส่วนที่ปรับขึ้นค่าแรงก็เป็นเฉพาะบางจังหวัด และบางธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ปรับขึ้นในกลุ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องใช้เทคนิคในการทำงานมาก และต้องการแรงงานผู้เชี่ยวชาญ โดยปัจจุบันก็พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จ่ายเงินค่าแรงงานไม่ใช่เพียงอัตราขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่บางแห่งจ่ายมากถึง 500 บาทต่อวันแล้ว แต่ในภาพรวมของมติที่ให้ปรับขึ้นค่าแรงงานอีก 10 บาทนั้นก็เชื่อว่าจะไม่กระทบกับภาคธุรกิจมาก และคาดว่าจะปรับขึ้นเต็มอัตราในส่วนของอุตสาหกรรมที่หาแรงงานยาก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์”

นายอิสระ ยังกล่าวอีกว่า การปรับขึ้นของค่าแรงงานครั้งนี้ในฐานะภาคเอกชนมั่นใจว่าจะไม่เป็นผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้า เพราะประเด็นสำคัญของการปรับขึ้นเงินเฟ้อนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นสอดคล้องกับอัตราน้ำมันที่ปรับขึ้น โดยมองว่าเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงงานไม่ใช่ปัจจัยหรือประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกับเงินเฟ้ออย่างแน่นอน

พาณิชย์จับตาราคาสินค้าขยับ

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะราคาสินค้าในปัจจุบันนี้พบว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนประเด็นของมติค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีการปรับขึ้นประมาณ 5-10 บาทต่อวัน เบื้องต้นกระทรวงฯ ประเมินว่าอาจจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าบ้างแต่คงเกิดขึ้นไม่มากนัก

คาดว่าจะกระทบกับกลุ่มสินค้าประเภทบริการ และอาหารสำเร็จรูป ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าอาจใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคา โดยจะเฝ้าติดตามและจับตาเป็นพิเศษ อีกทั้งยังสั่งการให้กรมการค้าภายในเฝ้าติดตามโครงสร้างต้นทุน และราคาสินค้า ที่เกิดจากการปรับขึ้นค่าแรง

“คาดว่าไม่มีนัยสำคัญต่อราคาสินค้าโดยรวมให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น และไม่เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวมพร้อมกันทั่วประเทศ”