ระวังอุบัติเหตุช่วงเทศกาลลอยกระทง

ระวังอุบัติเหตุช่วงเทศกาลลอยกระทง

สพฉ. เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยเฉพาะเด็กเล็กผู้ปกครองควรดูแลใกล้ชิด พร้อมแนะผู้จัดงานต้องดูแลสถานที่ให้มีความปลอดภัย

สพฉ. เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยเฉพาะเด็กเล็กผู้ปกครองควรดูแลใกล้ชิด พร้อมแนะผู้จัดงานต้องดูแลสถานที่ให้มีความปลอดภัย และเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำไว้ให้พร้อม เพื่อลดความสูญเสีย


นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง เป็นช่วงที่มีประชาชนเสี่ยงตกน้ำ จมน้ำ และเสียชีวิตสูงสุดในรอบปี โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุ 1-15 ปี เมื่อปีที่ผ่านมามีสถิติเจ็บป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำ 26 คน ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากการพลัดตกน้ำ เพราะผู้คนเบียดเสียด รวมทั้งลงไปเก็บเศษเงินในกระทง ดังนั้นข้อควรระวัง คือต้องไม่เล่นผาดโผน ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญควรลอยกระทงในพื้นที่ที่จัดไว้ให้เท่านั้น ขณะที่ผู้ใหญ่มีสถิติการจมน้ำ 98 คน

ทั้งนี้ในส่วนของผู้จัดงานเอง ก็ควรเตรียมมาตรการป้องกันให้พร้อม เช่น ทำรั้วหรือสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันการตกน้ำ , เตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้ใกล้ ๆ อาทิ ถังแกลลอน เชือก ไม้ และติดป้ายคำเตือนไว้ในพื้นที่เสี่ยงหรือที่ห้ามลงไปลอยกระทง และหากจำเป็นต้องลงเรือควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง แต่ทั้งนี้หากพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.อนุชา กล่าวต่อถึง วิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นว่าหากเราพบเห็นคนตกน้ำ จมน้ำควรช่วยเหลือโดยคิดถึงความปลอดภัยตัวเองเป็นสำคัญก่อน เพราะบ่อยครั้งที่คนช่วยก็ได้รับอันตรายจากการช่วยเหลือด้วย โดยวิธีที่ถูกต้องในการช่วยคนขึ้นจากน้ำประกอบด้วยการตะโกน โยน ยื่น อย่างแรกคือการตะโกนบอกให้คนตกน้ำอย่าตกใจ จากนั้นหาวัสดุลอยน้ำโยนให้ผู้ที่ตกน้ำเกาะพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์ หรือหาสิ่งของให้ผู้ที่ตกน้ำจับเพื่อลากเข้าฝั่ง ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะผู้ที่จมน้ำจะมีอาการตกใจ กอดรัด และทำให้จมน้ำไปด้วยกันทั้งคู่ และเมื่อน้ำคนขึ้นมาจากน้ำได้แล้วนั้นให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669 และหากสังเกตว่าถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น ขณะที่การช่วยเหลือเด็กจมน้ำนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำในปอดไหลออกมาแล้ว จะยิ่งทำให้การช่วยเหลือชีวิตเด็กนั้นเป็นไปอย่างช้าและยากลำบาก

เลขาธิการ สพฉ. ยังกล่าวต่อว่า นอกจากการจมน้ำ ตกน้ำ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การจุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ โดยปีที่ผ่านมามีสถิติเด็กอายุ 1-15 ปี เจ็บป่วยฉุกเฉินจากการแผลไฟไหม้ 50 คน ขณะที่ผู้ใหญ่เจ็บป่วยฉุกเฉิน 214 คน ดังนั้นในปีนี้จึงประสานให้เจ้าหน้าที่กู้ชีพให้เตรียมพร้อมรับมือแล้วอย่างเต็มที่ ซึ่งหากได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะเมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาด ให้รีบห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดคือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชั่วโมง ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยทางที่ดีไม่ควรเล่นพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟ ซึ่งถือเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง