กสทช.หนุนเยียวยา“ทีวีดิจิทัล”

กสทช.หนุนเยียวยา“ทีวีดิจิทัล”

กสทช.ธวัชชัย สนับสนุนเยียวยาทีวีดิจิทัล หวังให้การเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลสำเร็จ

นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า ตนเองเห็นด้วยกับการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึง บริการทีวีดิจิทัล ผ่านการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติให้การสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ด้วยการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการทำตามประกาศมัสต์แครี่ ที่บังคับให้ผู้ประกอบการช่องต้องออกค่าใช้จ่ายในการยิงสัญญาณโทรทัศน์ขึ้นไปบนดาวเทียม เบื้องต้นอาจตั้งเป้าหมายสนับสนุนเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี2560-2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลายุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบอนาล็อก (Switch Off)

"ส่วนตัวเห็นว่าควรให้การช่วยเหลือมากกว่าค่าใช้จ่ายเรื่อง Must Carry โดยสนับสนุน ประสานงานกับทางภาครัฐให้มีการขยายระยะเวลาชำระเงินค่าประมูลให้ยาวออกไป ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการประสบปัญหาทางธุรกิจ แต่ยังให้ความร่วมมือกับนโยบายการสื่อสารกับประชาชนของภาครัฐเป็นอย่างดี โดยนำเสนอมาตรการนี้ต่อหน่วยงานต่างๆเพื่อพิจารณา เช่น กระทรวงการคลัง สำนักอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา"

            นอกจากนี้ควรมีการทำประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องทีวีดิจิทัลให้มากขึ้น หากพิจาณาจากมูลค่าโครงการที่สูงถึง 50,862 ล้านบาท การทำประชาสัมพันธ์เพียง 50 ล้านบาทถือว่าน้อยมาก ดังนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมมากว่าเดิม รวมทั้งการแจกคูปองเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนครัวเรือน จากครั้งแรกแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัล จำนวน 13.6 ล้านครัวเรือน และมีการอนุมัติแจกคูปองเพิ่มอีก 10.5 ล้านครัวเรือน

            อีกจุดหนึ่งที่ช่วยเหลือได้ คือค่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล ในช่วงเวลาที่ช่องรายการต้องถอดทอดพระราชพิธีต่างๆ เนื่องจากช่องรายการได้ให้ความร่วมกับ กสทช. เป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามกฎ กติกา โดยอาจใช้เงินส่วนเกินของ กสทช. ที่มีรายรับเหนือรายจ่ายซึ่งน่าจะครอบคลุมได้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการก่อน

            ก่อนหน้านี้มีการขอกันวงเงินจำนวน 15,000 ล้านบาทจากค่าประมูลกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อแจกคูปองทีวีดิจิทัลให้กับประชาชนทั้งประเทศ แต่การแจกคูปองครั้งแรก ใช้เม็ดเงินไปไปเพียง 5,934 ล้านบาท ยังมีเงินเหลือเพื่อดำเนินการสนับสนุนด้านอื่น นอกเหนือจากการแจกคูปอง

            “ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในนโยบายของรัฐทุกเรื่อง แม้ว่าบางเรื่องอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ดังนั้น กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันมองถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับประชาชนในการเข้าถึงระบบทีวีดิจิทัลด้วย หากผู้ประกอบการทยอยยกเลิกกิจการอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ที่จะไม่สามารถรับชมโทรทัศน์ได้ ความจริงโครงการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล เป็นโครงการใหญ่ มีเงินที่ได้จากการประมูล  50,862 ล้านบาท หากใช้เงินภายในวงเงินที่ขอไว้ ก็จะไม่ส่งผลต่อเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน” นายธวัชชัย กล่าว