ทีโอทีเร่ง‘เน็ตหมู่บ้าน’-ถกปลัดใหม่เคลียร์ทีโออาร์

ทีโอทีเร่ง‘เน็ตหมู่บ้าน’-ถกปลัดใหม่เคลียร์ทีโออาร์

จ่อจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือนนี้ มั่นใจปี 60 ครอบคลุม

“มนต์ชัย” เผยสัปดาห์หน้าเร่งเจรจากับปลัดดีอีคนใหม่เคลียร์ทีโออาร์เน็ตหมู่บ้านให้ชัดเจน หากเป็นไปตามเดิม พร้อมเดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างทันทีภายในเดือนนี้ ชี้ 25 ธ.ค.อาจปักหมุดไม่ทัน เหตุกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้เวลา 2-3 เดือน มั่นใจสามารถอิมพลีเม้นท์ได้ภายในต้นปี 60 ขีดเส้น 10 เดือน ต้องเสร็จตามเป้าหมายรัฐบาล ครอบคลุมภายในสิ้นปี 2560

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า จะเข้าพบนางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อหารือความชัดเจนของทีโออาร์โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านจำนวน 24,700 แห่ง ภายใต้กรอบงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งหากเงื่อนไขทีโออาร์เป็นไปตามเดิมที่กระทรวงได้กำหนดและตกลงกับทีโอทีไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องสเปคไฟเบอร์ออพติก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญโครงการนี้ ทีโอทีก็สามารถดำเนินการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันทีหรือภายในเดือนนี้

ทั้งนี้ บริษัทจะใช้วิธีการประกวดราคาแบบปกติ ไม่ใช้วิธีการประมูล (อี-ออคชั่น) เนื่องจากกระบวนดังกล่าว มีเงื่อนไขการประมูลล่าช้ากว่าการประกวดราคาแบบปกติ แต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ถึงจะติดตั้งโครงข่ายได้ ดังนั้น การทำโครงการในปีหน้าซึ่งจะต้องเสร็จนั้น ทีโอทีจะมีเวลาในการทำงานเพียง 10 เดือนเท่านั้น เฉลี่ยแล้วต้องติดตั้งให้เสร็จเดือนละประมาณ 2,000 แห่ง

“สิ่งที่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีดีอีบอกว่า 25 ธ.ค.นี้ จะคิกออฟนั้นต้องมาพูดคุยกันอีกทีว่า ลักษณะการคิกออฟ คืออะไร ถ้าบอกว่าเริ่มเซ็นเอ็มโอยูก็น่าจะทัน ถ้าทีโออาร์ไม่เปลี่ยน แต่การอิมพลีเม้นท์น่าจะประมาณต้นปีหน้า เพราะคนที่ชนะการประมูลต้องมีเวลาในการเตรียมอุปกรณ์ ถ้าได้เร็วมันก็เหมือนการฮั้วกัน แต่ถ้าบอกว่าให้เอาไฟเบอร์ฯ ของทีโอทีไปลงก่อน อย่างนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า 25 ธ.ค.จะลงมือทำได้เลย” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าว

สำหรับอุปกรณ์ที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากไฟเบอร์ออพติกแล้ว นายมนต์ชัย กล่าวว่า ต้องจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์สำหรับกระจายสายไฟเบอร์ออพติกจากสายหลักเพื่อกระจายไปยังบ้านต่างๆ ด้วย หรือเพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงลาสไมล์ รวมถึงต้องจัดซื้อจัดจ้างฮอตสปอตเพื่อเชื่อมต่อไวไฟ หมู่บ้านละ 1 จุด โดยการติดตั้งแต่ละหมู่บ้านต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ไป บางพื้นที่อาจติดตั้งที่ศาลาประชาคม บางพื้นที่อาจติดตั้งที่ย่านตลาด ซึ่งฮอตสปอตต้องมีความแข็งแรงสามาถทนฝนและความร้อนได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการที่ทีโอทีรับผิดชอบ มีจำนวนหมู่บ้านน้อยลงจากเดิมที่ติดตั้งเอง 40,432 แห่ง เหลือเพียง 24,700 แห่ง จะทำให้งบประมาณที่ใช้ลดลงหรือไม่นั้น นายมนต์ชัย กล่าวว่า ต้องดูว่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับจำนวนที่ลดลงหรือไม่ หากจัดซื้อจำนวนมากต้นทุนก็ลดลง แต่หากจัดซื้อน้อยลงต้นทุนจะสูงกว่าหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งทีโอทีทำแค่ไหนก็เบิกงบประมาณได้แค่นั้น ไม่มีกำไร แต่พนักงานติดตั้งจะได้เบี้ยเลี้ยง ค่ารถ จากโครงการนี้เท่านั้น และทรัพย์สมบัติของโครงการก็เป็นของกระทรวงดีอีไม่ใช่ของทีโอที

ด้านนายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจขายและบริการลูกค้าองค์กร กล่าวว่า โครงการนี้ทีโอทีตั้งใจทำให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ต้องทำให้โปร่งใส ไร้การทุจริต เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล ส่วนเรื่องของงบประมาณนั้น คาดว่าน่าจะใช้ไม่ถึง 10,000 ล้านบาท เพราะจำนวนการติดตั้งลดลงจากเดิม

สำหรับโครงการดังกล่าว สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดีอีโอนเงินในการทำโครงการภายใต้กรอบงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้บมจ.ทีโอทีรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินโครงการทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่การทำหลักเกณฑ์เงื่อนไข ตลอดจนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและต้องเริ่มลงมือทำโครงการให้ได้วันที่ 25 ธ.ค.เพื่อให้โครงการติดตั้งให้ครบ 85 % ภายในปี 2560 และติดตั้งให้ครบทั้งหมดภายในต้นปี 2561

โดยกระทรวงดีอีโอนเงินให้ทีโอที 15,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการ 24,700 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการ 15,732 แห่ง โดยใช้งบโครงการการจัดให้มีบริการ โทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (ยูเอสโอ)