พลิกวิกฤติธุรกิจเกษตร ตามแบบ Young Smart Farmer

พลิกวิกฤติธุรกิจเกษตร ตามแบบ Young Smart Farmer

เกษตรกรนักปราชญ์แห่งเมืองสงขลา ลุกมาปฏิวัติตัวเองด้วยการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ส่งขาย เทสโก้ โลตัส ใช้ตลาดนำ ทำด้วยความรู้ โตยั่งยืนไปพร้อมชุมชน

ขึ้นฉ่ายสีเขียวสด อวดโฉมอยู่เต็มแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ ของ “พิโชติ ผุดผ่อง” ต้นแบบ Young Smart Farmer ผู้นำเครือข่ายปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ บ้านคลองหอยโข่ง จ.สงขลา หนึ่งในผลิตผลโครงการ “เทสโก้ โลตัส ประชารัฐร่วมใจ”  

ในแต่ละสัปดาห์ ขึ้นฉ่ายนับ 500-1,000 กิโลกรัม เคลื่อนออกจากคลองหอยโข่ง ไปปรากฏอยู่บนแผงผักในห้างฯ เทสโก้ โลตัส เพื่อบริการคนภาคใต้ให้ได้ทานของสด ของดี ที่ผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ของพวกเขา ความเขียวขจีของที่นี่เลยเป็นดั่งความหวัง ให้เหล่าเกษตรกรชาวสวนยางได้มี “ทางออก” เพื่อรับมือวิกฤติราคายางตกต่ำอย่างวันนี้

“ผมปลูกผัก 70 โต๊ะ ก็เท่ากับมีห้องเช่า 70 ห้อง ปลูกผักในพื้นที่แค่ 2 คูณ 7 เมตร ได้เงิน 3-4 พันบาท แต่กับสวนยางตอนนี้หนึ่งไร่ได้ไม่ถึง 300 บาท ทำสวนยางไม่ใช่ไม่ดี เรายังต้องเก็บไว้ ไม่ใช่ไปโค่นทิ้ง เพียงแต่ต้องหาอะไรมาเสริม อย่างมียางล้มอยู่สักไร่ก็ลองไถแล้วมาปลูกผัก เพื่อเพิ่มรายได้ดู”

คำแนะนำจากเกษตรกรนักปฏิวัติ ศิษย์เก่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา ที่เริ่มพิสูจน์ความเชื่อของเขาเมื่อ 15 ปีก่อน ในวันที่ประเทศไทยยังแทบไม่รู้จักการปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ด้วยซ้ำ รอบตัวเขาก็มีแต่อาชีพ “ทำสวนยาง”  ณ วันที่ราคายางยังสูงลิ่วถึงกิโลกรัมละหลักร้อยบาท ไม่เพียงไม่มีคนสนใจ แต่ใครๆ ก็ยังหาว่า “เขาบ้า” กันทั้งนั้น

วันนี้อดีตเด็กหนุ่มที่ใครๆ ก็หาว่าบ้า คือคนเดียวกับที่รวมกลุ่มชาวสวนยางรายได้น้อยในพื้นที่ ให้มาเรียนรู้การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์กางมุ้งที่เขาทดลองด้วยตัวเองมาหลายปี จนมีผักคุณภาพดี และปลอดภัย กระจายความสดขึ้นห้างฯ พร้อมสร้างนักปลูกผักมืออาชีพขึ้นมาอีกหลายชีวิต เป็นเกษตรกรวิถีไหม ที่ไม่ทำเกษตรตามใจฉัน แต่เกิดจากการวางแผน รวมกลุ่ม มีนวัตกรรม และการตลาดนำ สมชื่อ “เกษตรกรปราดเปรื่อง” (Smart Farmer) ดั่งที่ท่านผู้ว่าฯ สงขลา “ทรงพล สวาสดิ์ธรรม” เรียกขานไว้

“จริงๆ แล้ว สินค้าเกษตรมีความต้องการทุกอย่าง เพียงแต่ที่ผ่านมาเกษตรกรขาดการวางแผน อย่างวันนี้เอาผักไปส่ง 10 กิโล เดี๋ยวอีก 20 วัน ค่อยมาส่งใหม่ ไม่มีของส่งต่อเนื่อง เพราะไม่มีการวางแผน แต่ถ้าเรามารวมกลุ่มกัน สมมติผักผมขาด ก็ไปเอาจากคนที่ผักยังล้นอยู่ ไม่ต้องมาแย่งราคากัน แข่งราคาสุดท้ายใครตาย ผู้ผลิตตายใช่ไหม”

เขาทิ้งคำถามพร้อมชักชวนให้มองการทำเกษตรแบบใหม่ ที่ต้องดูความต้องการของตลาดเป็นหลัก เช่นเดียวกับ การเลือกปลูกผักนอกสายตาอย่าง “ขึ้นฉ่าย” ตามโจทย์ที่ได้จาก เทสโก้ โลตัส ก่อนมาวางแผนการผลิต ขยายงานสู่เกษตรกรในเครือข่าย เพื่อให้ได้ “คุณภาพ” และ “ปริมาณ” ตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งการมีตลาดและราคารับซื้อที่แน่นอนเช่นนี้ ช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรอย่างพวกเขา

“เกษตรกรในอดีต นึกอยากจะปลูกอะไรก็ปลูก โดยไม่ได้ถามว่า มีตลาดรับซื้อไหม สุดท้ายต้องเอามาเทบนถนนเหมือนที่เห็นกันเมื่อหลายปีก่อน แต่ถ้าเราใช้การตลาดนำ โดยคุยกับเกษตรกรเลยว่า เราอยากได้ผักชนิดนี้เท่าไร เขาปลูกตามที่เราอยากได้ ควบคุมคุณภาพให้ดี เราประกันการรับซื้อ สิ่งที่เกษตรจะได้ก็คือ ‘กำไร’ ไม่ขาดทุน ซึ่งอันนี้สำคัญมาก”

คำบอกเล่าจาก “สลิลลา สีหพันธุ์” รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท  เทสโก้ โลตัส สะท้อนเหตุผลที่พวกเขาเลือกลงไปรับซื้อผักและผลไม้โดยตรงจากเกษตรกรถึงปีละกว่า 150,000 ตัน พร้อมช่วยวางแผนประเภทและปริมาณผักที่ต้องการ รวมทั้งวางแผนการจัดส่ง เพื่อช่วยให้เกษตรกรบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น มีกำไร และพึ่งพาตัวเองได้

“การขนส่งเป็นต้นทุนหนึ่งที่สำคัญ อย่างเรามีโครงการปลูกกะหล่ำปลีอยู่ที่ภาคเหนือ ตอนปลูกอยู่บนดอยลูกเท่ากับแตงโม แต่พอถึงกรุงเทพลูกเท่าผลส้ม เพราะไม่มีการขนส่งที่ดี ทำให้เกิดการสูญเสียระหว่างทาง ซึ่งการสูญเสียนี้ เราเองก็เสีย คนปลูกก็เสีย ลูกค้าก็ไม่ได้ซื้อของดี การที่เราเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ จึงช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น และเป็นการช่วยลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรกำไรเพิ่ม ลูกค้าซื้อของได้ถูกลง เป็นสมดุลระหว่างคนปลูกกับลูกค้า”

ขณะที่ เทสโก้ โลตัส เองก็จะได้ผักผลไม้คุณภาพสูง ไปจำหน่ายให้ลูกค้า ในราคายุติธรรม ได้ตามปณิธานของพวกเขา

“นี่ไม่ใช่การทำซีเอสอาร์ แต่เป็น ธุรกิจเพื่อสังคม คือการที่ทุกคนต้องวิน เราวิน โดยมีผักสวยๆ ขาย เกษตรกรวิน เพราะเขาขายผักแล้วได้กำไร ไม่โดนกดราคา ผู้บริโภควิน เพราะได้สินค้าที่ดีไปรับประทาน ในราคาที่ไม่แพง” เป็นบทสรุปของคำว่า “วิน” ร่วมกันทั้งห่วงโซ่

วันนี้แผงผักสีเขียวช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของชาวสวนยางดีขึ้น และมีผลตอบแทนเป็นตัวเลขชัดเจน โดยพิโชติ ยกตัวอย่าง เงินลงทุนต่อโต๊ะ(ขนาด 2X7 เมตร) ใช้ที่ประมาณ 3.5 หมื่นบาท สามารถสร้างรายได้จากการปลูกต่อรุ่นอยู่ที่ 3-4 พันบาท ปีหนึ่งมีผลผลิต 10-11 รุ่น นั่นเท่ากับเกษตรกรสามารถคืนทุนได้ในเวลาแค่ปีเดียวเท่านั้น 

จากแผงผักขึ้นฉ่ายที่มีอยู่ 70 โต๊ะ พวกเขาเตรียมขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีก 50% ในปีหน้า พร้อมผลผลิตที่จะไม่ได้มีแค่ขึ้นฉ่าย แต่ขยายออกไปทั้ง ต้นหอม ผักชี และปวยเล้ง ตามโจทย์ความต้องการของลูกค้า ผ่านความร่วมมือฉบับ “ประชารัฐ” ที่มีทั้งเกษตรกรในพื้นที่ หน่วยงานของจังหวัด ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนอย่าง เทสโก้ โลตัส

ขณะที่ฟาร์มเล็กๆ ของพิโชติ ยังพร้อมเปิดเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ให้กับผู้คนที่สนใจ โดยไม่คิดหวงวิชาเหมือนคนอื่นเขา

“ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ต้องมีพื้นฐานความรู้ แต่ไม่ยาก ชาวบ้านที่มาทำตรงนี้ เท่ากับเป็นโรงเรียนของเขาได้เลย ต่อไปเขาอาจมีงบนิดหนึ่งก็ต่อยอดไปทำเองที่บ้าน แล้วมารวมกลุ่มกันเพราะง่ายต่อการวางแผนจัดการ ฟาร์มอื่นเขาอาจปิด เพราะกลัวคนไปรู้สูตร แต่ผมเปิด ข้อมูลอะไรบอกหมด เพราะผมต้องการช่วยชาวบ้าน” เขาบอกความมุ่งมั่นตั้งแต่ต้น

เสื้อที่สวมใส่ในวันนี้ มีข้อความ “เกษตรกรของพระราชา” บอกปณิธานที่ชัดเจนของคนหนุ่มว่า จะเดินตามรอย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจะไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองในด้านการเกษตร จะดำรงอยู่บนความพอเพียง รักและสามัคคีกัน ตามคำที่พระองค์ท่านเคยฝากไว้

“โตมาผมก็เห็นพระองค์ท่านอยู่กับการเกษตรมาตลอด ท่านเห็นความสำคัญว่า สังคมเกษตรต้องมาก่อน ต้องทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง เวลาผมเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้ ผมมักจะบอกเสมอว่า อย่าท้อ ถ้าท้อแล้วถอยก็ทำอะไรไม่ได้  ก็เหมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงทดลอง เก็บข้อมูล พิสูจน์แล้วทุกอย่าง เกษตรกรของพระราชาจะต้องพึ่งพาตัวเองได้” คนหนุ่มย้ำปณิธานที่ชัดเจนในตอนท้าย

นี่คือตัวอย่างของการพลิกวิกฤติธุรกิจเกษตร ในแบบที่ไม่มีฮีโร่ แต่อาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะ คนปลูก คนขาย หรือคนซื้อ