สยามออร์แกนิค ในวันประทับตราแบรนด์โลก

สยามออร์แกนิค  ในวันประทับตราแบรนด์โลก

บิสิเนสโมเดลนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของ การชนะอยู่เพียงข้างเดียว หรือ “Win-Lose” ทั้งสองฝ่ายต่าง “Win-Win” ได้เช่นกัน

"เราอยากสร้างสยามออร์แกนิคให้เป็น SE ระดับโลก และก็อยากคนระดับบิล เกตส์มาแบ็คช่วยอัพเรา ไม่ใช่เราอยากได้เงินของเขา แต่เพราะมันเป็นเหมือนการ "ประทับตรา" ให้ทุกคนได้เห็นว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง"


เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา “ปีตาชัย เดชไกรศักดิ์” (CEO) และ “พรธิดา วงศ์ภัทรกุล” (CMO) ร่วมกันก่อตั้งสยามออร์แกนนิคก่อตั้งขึ้นมา เพราะหวังจะแก้ปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกรไทย..โดยใช้ข้าวเป็นเครื่องมือ


"ที่ผ่านมา ข้าวทำให้เกษตรกรยากจน แต่เราอยากเปลี่ยนสมการใหม่ว่า จะทำอย่างไรให้ข้าวช่วยทำให้เกษตรกรรวย ที่เราใช้ชื่อบริษัท สยามออร์แกนิค เพราะหากเราได้ไปถึงระดับโลก จะสร้างความภาคภูมิใจได้ว่านี่คือบริษัทของคนไทย เพราะชื่อสยามมันสามารถสื่อได้ชัดเจน" ปีตาชัยกล่าวถึงเป้าหมายและเล่าถึงความเป็นมา


สยามออร์แกนิค ยังต้องการจะแสดงให้เห็นด้วยว่า บิสิเนสโมเดลนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของ การชนะอยู่เพียงข้างเดียว หรือ “Win-Lose” ทั้งสองฝ่ายต่าง “Win-Win” ได้เช่นกัน นักธุรกิจทุกคนสามารถสร้างบริษัทที่ช่วยเหลือคนได้ และทำเงิน ทำกำไรได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันสมมุติฐานนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้จริงๆ


“ ตลอดระยะเวลาที่ทำธุรกิจมา ไม่เคยมีปีไหนที่เราเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เรารันมาไม่ถึงปีจากนั้นก็ไม่เคยขาดทุนเลย เรากำไรมาโดยตลอด ” พรธิดา คอนเฟิร์ม


ปีตาชัย บอกว่าคอนเซ็ปต์ของการเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า SE ของพวกเขาเกิดจากความต้องการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งจะโฟกัสไปในเรื่องของการสร้าง “ศักยภาพของคน”


" การทำให้เกษตรกรหลุดจากความยากจน ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่ให้เขาต้องมากขึ้น ต้องเข้าใจก่อนว่าความยากจนไม่ใช่เพราะคนได้เงินน้อย บางคนอาจมีเงินเดือน ๆละแสน แต่หากใช้เดือนละแสนห้าก็จน ก็เป็นหนี้ ขณะที่บางคนอาจได้เงินเดือนเดือนละแค่สองหมื่น แต่เขาเก็บเงินเดือนละหมื่น ก็รวยขึ้นมาได้ เรานำเอาคอนเซ็ปต์นี้เข้าไปในกลุ่มเกษตรกรของเรา โดยฝังเข้าไปในกลไก ในระบบการทำงาน เพื่อเป็นการปรับวินัยให้กับเขา ซึ่งมันต้องใช้เวลา ไม่ใช่คิดจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้เลย"


พวกเขายังใช้วิธี “ถามองค์กรทั่วโลก” ว่ามีใครบ้างที่สามารถแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรแล้วประสบความสำเร็จ เพื่อจะขอเข้าไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้


"ผมพบว่ามีองค์กรที่สำเร็จอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยแห่ง เราได้ติดต่อเขาไปว่า ในเมื่อทำเรื่องเดียวกัน ทำไมเราไม่แชร์กัน เรื่องนี้คุณเก่งแต่ผมไม่เก่ง เรื่องนี้ผมเก่ง คุณไม่เก่ง ซึ่งทำให้เราได้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในแต่ละเรื่อง"


เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ สยามออร์แกนิค จับมือเป็นพันธมิตร “คีวา” (www.kiva.org) ซึ่งทำเว็บไซต์คลาวด์ฟันดิ้ง ระดมทุนจากองค์กรและคนทั่วๆไป เพื่อมอบทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีไอเดียแต่ขาดเงินลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ต้องบอกว่าองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรชื่อดังของอเมริกาแห่งนี้ ปัจจุบันมีบิล เกตส์ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน


อย่างไรก็ตาม จากกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)" หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า SE อย่างสยามออร์แกนิค ในวันหนึ่งก็กลับโดดเด่นไปฉายแสงบนเวทีสตาร์ทอัพ เนื่องจากได้รับ "รางวัลชนะเลิศ" บนเวทีการแข่งขัน "The Global Entrepreneurship Summit 2016" ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด งานดังกล่าวเป็นงานประชุมประจำปีของเหล่าสตาร์ทอัพทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา


"ถือเป็นการ pitch บนเวทีใหญ่ครั้งแรกของพวกเรา ที่ผ่านมาเราเคยไปแข่งเวทีระดับประเทศ มีคนดู 30-40 คน แต่วันนั้นในฮอลล์ใหญ่ของสแตนฟอร์ดมีคนฟังอยู่ประมาณ 600 กว่าคน และล้วนแต่เป็นมหาเศรษฐีระดับโลก เหล่านักลงทุน มันคืองานที่เป็นศูนย์รวมคนที่มีชื่อเสียงในวงการสตาร์ทอัพของโลกเลยก็ว่าได้ มันยิ่งใหญ่มาก" ปีตาชัยเล่าให้ถึงประสบการณ์ที่สร้างความภูมิใจ


ภายในงานนี้นอกจากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยังมีคนดังๆ ที่สตาร์ทอัพทั่วโลกอยากจะกระทบไหล่ อาทิ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก,ทราวิส คาลานิค ผู้ก่อตั้งอูเบอร์ ตลอดจน ไบรอัน เชสกี, โจ เกบเบีย และนาธานเบลชาร์ซีก ผู้ก่อตั้งแอร์บีเอ็นบี เป็นต้น


แต่ที่ทำให้สยามออร์แกนิคชนะเลิศ ปีตาชัยคาดว่าเพราะมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ของรางวัลที่มีอยู่ 5 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ธุรกิจมีความไปได้หรือไม่ , จะสามารถสเกลได้หรือไม่ คือโตได้หรือจะแป้ก,ดูความเป็นไปได้ของรายได้ ผลกำไร , ดูความพร้อมของทีมงาน ว่ามีศักยภาพในการขับเคลื่อนได้ตามแผนงานที่วางไว้หรือไม่ และดูเรื่องการตลาด ว่ามีตลาดใหญ่เพียงไร ทีมสามารถเข้าถึงตลาดได้หรือไม่


"จะเห็นว่าไม่มีเรื่องของสังคมเลย เป็นเรื่องธุรกิจล้วนๆ แต่เพราะเราสร้างสยามออร์แกนิคให้แข็งแกร่งพอที่จะแข่งกับธุรกิจอื่นได้ และด้วยความที่เราเป็น SE ทำให้คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารของกูเกิล ไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม และเดลล์ อาจมองว่า สิ่งที่เราทำไม่เพียงแค่เป็นสตาร์ทอัพที่แข็งแรง แต่ยังหวังจะช่วยเหลือคน ทำให้พวกเขาชอบและต้องการสนับสนุน ตรงนี้อาจเป็นจุดที่ทำให้เราชนะ"


ถามว่ารางวัลจากเวทีนี้สร้างอิมแพ็คอย่างไรกับสยามออร์แกนิค? คำตอบก็คือ ประเด็นสำคัญ “ความยอมรับ ความน่าเชื่อถือ” มันเกิดขึ้นแทบจะทันที ทันใด


"ตอนที่เรา pitch ในเมืองไทย คนอาจมองว่าเราเป็นแค่คนขายข้าว และดูไม่ค่อยเป็น SE เพราะเราเน้นบิสิเนสโมเดลที่แข็งแรง การไปชนะรางวัลนี้เป็นเหมือนการยอมรับจากคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกและประสบความสำเร็จว่าพวกเรายอมรับคุณนะ มันช่วยสร้างกำลังใจให้กับเรา เพราะคนที่มองเห็นค่าของเราเป็นคนระดับโลกเลย" พรธิดากล่าว


ในความคิดของ ปีตาชัย เวทีนี้ถือเป็นการเปิดโลก เปิดตา เพราะสยามออร์แกนิคยังได้คนเก่งขั้นเทพระดับโลกเหล่านี้มาเป็น Mentor มาช่วยแนะนำไอเดียดีๆ


" ผมมองว่าคีย์ซัคเซสของสตาร์ทอัพที่คนอาจมองข้าม คือการได้คนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมาเป็น Mentor สมมุติว่าถ้าเราคิดจะสเกล เขาจะแนะนำว่ามันควรเป็นเอ บี ซี ดี อี ซึ่งพวกเราอาจคิดกันเองได้ในระดับหนึ่ง และแน่นอนมุมมองของคนระดับนี้ เป็นอะไรที่เงินก็ซื้อไม่ได้"


รางวัลชนะเลิศจากเวทีนี้ยัง “ถูกที่ ถูกเวลา” เนื่องจากสยามออร์แกนิคมีแผนจะสเกลหรือคิดขยายธุรกิจอยู่พอดี ซึ่งได้วางแผนไว้ว่าจะบุกไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกา ซึ่งถือว่ามีโอกาสสูงมากเนื่องจากภาครัฐของประเทศนี้มีนโยบายจะให้คนของเขาหันมาบริโภคข้าวกล้องอินทรีย์ เพราะเชื่อว่ามีโภชนาการสูงสุด อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ เช่นโรคหัวใจ เบาหวาน ฯลฯ

คุณภาพคน คือความท้าทาย


สุดท้ายจะไปได้ไกล ไปได้สวยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับทีมงาน และต้องขีดเส้นใต้ตรงคำว่า “คุณภาพของคน”


"ผมถามผู้ประกอบการคนอื่น ๆ ว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการรับพนักงาน พบว่าส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้น ความขยัน ซื่อสัตย์ กตัญญู ไม่มีอีโก้ และต้องอดทน ซึ่งสังเกตุว่าจะไม่มีคำว่าเก่งหรือฉลาดอยู่เลย แต่ทุกวันนี้เรากลับพบว่าจะหาเด็กไทยที่มีคุณสมบัติอย่างที่ได้กล่าวมายากมาก"


พรธิดา อธิบายว่า  ไม่ว่า SE หรือสตาร์ทอัพ ล้วนมีขนาดที่เล็ก มีกำลังไม่มากพอแต่ต้องการที่จะเติบโต ดังนั้นทุกคนในทีมต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำเพื่อนำพาบริษัทไปให้ถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้


ปีตาชัย สรุปว่า สุดท้ายความสำเร็จมาจาก “คุณภาพของคน” ซึ่งไม่ใช่เรื่องของจำนวน เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่สยามออร์แกนิคเองเคยมีคนในทีมถึง 8 คน ผลลัพธ์ก็คือ ปัญหาเพราะต่างคนต่างถกเถียงกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง


และแนวทางของเขาก็คือ ในอนาคตอันใกล้กำลังจะว่าจ้างพนักงานต่างชาติ เพื่อสร้างวัฒนธรรมแบบแอคเซอเรเลท เป็นตัวเร่งและกระตุ้นให้กับคนในทีม


"พวกฝรั่งมักแอคทีฟไม่เฉื่อย มีเอนเนอยี่สูง น่าจะช่วยยกระดับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆได้ จะเห็นว่า SE ดังๆ ทั่วโลกทีมของเขาล้วนมีความหลากหลาย ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี ทีมเราในอนาคตจะต้องเป็นอินเตอร์ อีกเรื่องที่ผมคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพคนได้ก็คือการศึกษา ถ้าผมคิดจะสตาร์ทอัพอีกอันก็จะทำเรื่องการศึกษา"