'นายกฯ'ห่วงการเมืองเปลี่ยน ทำเมกะโปรเจคสะดุด

'นายกฯ'ห่วงการเมืองเปลี่ยน ทำเมกะโปรเจคสะดุด

"นายกฯ"ห่วงการเมืองเปลี่ยนกระทบเมกะโปรเจค สั่งบรรจุแผนแม่บทคมนาคมเป็นแนวทางให้รัฐบาลต่อไปยึดปฏิบัติ พร้อมเร่งชี้แจงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

วานนี้(4 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมมอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาด้วยตัวเอง จากก่อนหน้านี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มักจะจัดประชุมเพื่อติดตามงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน

โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจะมีการลงทุนครั้งใหญ่ทั้งระบบราง ถนน ท่าเรือและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยตามแผนปฏิบัติการของกระทรวงคมนาคมมีโครงการขนาดใหญ่กว่า 20 โครงการ วงเงินลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาท

การเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเองของพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ นอกจากจะกล่าวขอบคุณกระทรวงคมนาคมที่เร่งรัดแผนตามเป้าหมายที่วางไว้ นายกรัฐมนตรียังกังวลว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานชะงัก นอกจากความล่าช้าที่เกิดจากการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเป็นห่วงว่าโครงการลงทุนต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมจะติดปัญหาเรื่องอีไอเอ จากความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นที่และคนภายนอกพื้นที่เข้าไปเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มเอ็นจีโอ

“ต้องช่วยกันอธิบายและสร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย เพราะถ้าไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ประเทศก็ไม่สามารถพัฒนาได้ รัฐบาลคงไม่ดำเนินการใดๆ เรื่องอีไอเอเป็นพิเศษ เพราะทุกอย่างต้องเดินตามที่กฎหมายเขียนไว้”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าขณะเดียวกันก็มีปัญหาประชาชนส่วนหนึ่งบุกรุกพื้นที่ของราชการและไม่ยอมรื้อย้ายทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการได้ ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการขอร้องและจัดระเบียบเช่นเดียวกันกรณีคลองลาดพร้าว

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหา เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งและปัญหาจะย้อนกลับที่ตน ซึ่งจะกลายเป็นกับดักที่ทำให้โครงการเดินหน้าต่อไม่ได้

“เราติดปัญหาเรื่องอีไอเอ เพราะคนอยากได้เหมือนเดิม โครงการจึงเกิดไม่ได้ แต่ถ้าผลกระทบเกิดกับส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ก็น่าทำ เราอยากให้เกิดประโยชน์กับคนทุกระดับ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

สั่งเร่งเดินหน้าไฮสปีด ‘กทม.-โคราช’

พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่า จะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ- นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตรอย่างแน่นอน เพราะประเทศลาวและจีนเริ่มลงทุนเพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟไปยังทวีปยุโรปตะวันออกและประเทศปากีสถานแล้ว ถ้าหากประเทศไทยไม่ดำเนินการก็จะล่าช้ากว่าประเทศเหล่านี้ โดยตอนนี้โครงการรถไฟไทย-จีน มีความชัดเจนเรื่องเส้นทางและค่าออกแบบแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องเร่งกระบวนการอีไอเอไม่ได้

ใช้มาตรา44ขยายเวลาเจรจาสายสีน้ำเงิน

สำหรับกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายเวลาการเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เรื่องการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นโครงการข่ายเดียวกันออกไปอีก 30 วันนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า พร้อมใช้มาตรา 44 เพื่อขยายระยะเวลาออกไปตามที่ รฟม. เสนอ แต่กำชับว่าการเจรจาต้องจบภายในระยะเวลาที่กำหนด

เผยนายกฯต้องการให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าสาเหตุที่พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงคมนาคมอย่างกะทันหัน เนื่องจากต้องการให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาร่วมถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นายออมสินกล่าวว่าขณะเดียวกันถือโอกาสเข้าตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมไปในตัว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องการเข้ามาตรวจเยี่ยมนานกระทรวงคมนาคมนานแล้ว แต่ไม่มีโอกาส ซึ่งใช้โอกาสที่ว่างจากภารกิจเข้าหารือกับผู้บริหารกระทรวงคมนาคมไปพร้อมกัน

คมนาคมเตรียมรายงานครม.ถึงแผนปีหน้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากระทรวงคมนาคมเตรียมแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2560 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยจะเน้นความเชื่อมโยงและความพร้อม รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องอีไอเอ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยเรื่องผังเมือง เพื่อให้โครงการลงทุนที่ศึกษาแล้วผ่านความเห็นชอบจาก ครม. โดยไม่ถูกคัดค้าน

“ใน 2 ปีที่ผ่านมา ผมได้ปรับวิธีการทำงานของกระทรวงคมนาคม โดยต้องทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ต้นและถ้าหน่วยงานไหนยังมีความเห็นแตกต่างก็จะเข้าไปหารือก่อน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชน หากโครงการไหน ประชาชนยังไม่เห็นด้วย ก็ต้องไปพูดคุยให้เข้าใจและให้เข้ามามีส่วนร่วม และต้องเร่งแก้ไข ซึ่งอาจต้องใช้เวลา” นายอาคมกล่าว

ส่วนกรณีที่มีคนนอกเข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่เพื่อคัดค้านโครงการต่างๆ นั้น กระทรวงคมนาคมจะต้องเข้าไปพูดคุยกับประชาชนให้มากขึ้นและที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุนโครงการอยู่แล้ว เพราะต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและปัจจุบันก็มีโครงการที่ติดปัญหาอีไอเอไม่มาก อย่างเช่นโครงการรถไฟทางคู่ตามแผนปี 2560 ก็ผ่านอีไอเอ แล้วเกือบครึ่ง

นายกฯหวั่นเปลี่ยนรัฐบาลโครงการสะดุด

นายอาคม กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณกระทรวงคมนาคมที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งของประเทศ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ขับเคลื่อนหลายโครงการที่ล่าช้ามาเป็นเวลา 10 ปี เช่น ปี 2559 สามารถเริ่มต้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ได้ 16 โครงการจากทั้งหมด 20 โครงการและปี 2560 ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล

นายอาคม กล่าวอีกว่านายกรัฐมนตรีขอให้กระทรวงคมนาคมยึดแผนแม่บทเป็นหลักในการดำเนินงาน เช่น แผนแม่บททางหลวง (ทล.) แผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้รัฐบาลต่อไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ปฏิบัติในอนาคต มิเช่นการลงทุนของรัฐบาลต่อไปอาจถูกรบกวนได้

นายกรัฐมนตรี ยังแนะนำว่า การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระยะ 20 ปี(ปี 2560 -2579) ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี ควรเริ่มดำเนินการทั้ง 5 ยุทธศาสตร์พร้อมกันเพื่อให้โครงข่ายคมนาคมบก น้ำ และอากาศ เชื่อมต่อกันให้ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานควรให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรและวิถีชีวติของประชากรในอนาคตอีกด้วย

มั่นใจตอกเสาเข็มรถไฟไทย-จีนตามกำหนด

นายอาคมกล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาว่านายกรัฐมนตรีขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งสร้างความเข้าใจและความรับรู้กับประชาชนให้มากขึ้นว่า การก่อสร้างไม่ได้มีระยะทางแค่ 3.5 กิโลเมตร ที่ จ.นครราชสีมาเท่านั้น แต่สาเหตุที่เลือกสร้างจุดนี้ก่อน เพราะเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำให้ไม่ต้องเวนคืนและรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปแน่นอน แต่ขณะนี้ยังติดปัญหา 2 เรื่องสำคัญ คือการถอดแบบก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานของไทยและการร่างสัญญา

“ผมได้รายงานให้นายกฯ ทราบแล้ว ว่าไม่อยากจะผัดผ่อนระยะเวลาออกไปอีกและยังคงยึดเป้าหมายเดิม คือเริ่มตอกเสาเข็มปลายปีนี้ โดยจำเป็นต้องขีดเส้นเวลาไว้เพื่อให้ทุกฝ่ายเร่งรัดทำงานเต็มที่ แต่ถ้างานส่วนใหญ่ไม่เสร็จตามกรอบเวลาจริง ก็อาจจำเป็นต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้หารือกับฝ่ายจีนแล้วว่า ถ้าฝ่ายไทยยังไม่พร้อมในส่วนใดในการประชุมร่วมฯ ช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ ก็จะแจ้งให้จีนทราบเรื่องการปรับเวลาและจีนก็ต้องปรับแผนตาม เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นเงินลงทุนของไทย

เตรียมเปิดประมูลทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงราย’

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล โดยล่าสุดได้เร่งรัดแผนการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย 323 กิโลเมตร วงเงิน 76,980 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างทางวิศวกรรม 73,172 ล้านบาทและค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่า 3,808 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 จ.เชียงราย คาดว่าจะเปิดให้มีการประมูลหาผู้รับเหมาได้ในปี 2560 และเปิดให้บริการเดินรถได้ภายในปี 2563

“เส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย อยู่ในแผนมาตั้งแต่ปี 2503 หรือกว่า 56 ปีที่แล้ว แต่ติดปัญหาทำให้เกิดความล่าช้ามาตลอด แต่ขณะนี้มั่นใจว่าโครงการจะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ และพื้นเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างมาก” นายวุฒิชาติกล่าว

โครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย ปัจจุบัน ได้ผ่านอีไอเอเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันร.ฟ.ท.จะหารือกับฝ่ายวิศวกร เพื่อแบ่งโครงการก่อสร้างเป็น 3 ช่วง จะสร้างไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว

นายวุฒิชาติ ประเมินว่า โครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย จะช่วยเพิ่มโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยประเมินว่าภายในปี 2565 จะมีผู้โดยสารมากถึง 2,004,215 คนต่อปี และมีปริมาณขนส่งสินค้าได้สูงถึง 2,095,930 ตันต่อปี