‘Horganice ’มือขวาของเสือนอนกิน

‘Horganice ’มือขวาของเสือนอนกิน

“ถ้าเริ่มเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย สมมุติถ้ามันล้ม ระหว่างทางที่ผ่านมาเราก็ได้ประสบการณ์มากมาย ทำให้เราเริ่มใหม่ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยล้ม”

“ธนวิชญ์ ต้นกันยา” เพิ่งเรียนจบวิศวะคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพียงแค่ปีสองปี แต่วันนี้เขาเป็น CEO ของ Horganice (หอแกไนซ์ ) ระบบบริหารจัดการหอพักรูปแบบออนไลน์ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการหอพัก และผู้เช่าหอพัก


เขาบอกว่า แนวคิดนี้เป็นความบังเอิญ เพราะสมัยที่ยังเรียนวิศวะปีที่สาม เขามองเห็นปัญหาเก่ี่ยวกับการจัดทัวร์นำเที่ยว ซึ่งลูกทัวร์มักหลงทาง หรือมาไม่ตรงเวลานัดหมายทำให้ต้องเสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน เขาจึงคิดทำนาฬิกาให้ลูกทัวร์เพื่อทำให้คนนำทัวร์ติดตามและสามารถรวมคนได้เร็วขึ้น

"ตอนนั้นผมคิดว่ามันควรเป็นบลูทูธ หรือ จีพิเอส จะเป็นระบบไหนดี ก็คิดไปต่างๆนานา แล้วทดลองทำเป็นโปรโตไทป์เอาไปสำรวจตลาดดู ปรากฏว่าปัญหามันมีอยู่จริงแต่เทคโนโลยีมันแพงมาก เป็นราคาที่บริษัททัวร์คงไม่ยอมจ่าย"


แต่วันดีคืนดีขณะที่มาฝึกงานอยู่ในกรุงเทพ ธนวิชญ์ ก็ได้มีโอกาสเดินผ่านหอพักแห่งหนึ่งซึ่งติดป้ายไว้ว่า “หอนี้ไม่รับเงินสด” คราวนี้เขาจึงเห็นปัญหาที่มีโอกาสความเป็นไปได้สูงมาก เพราะว่าแบ็คกราวน์ของเขา ก็คือลูกชายของครอบครัวที่ทำธุรกิจหอพัก (ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก)


"เดิมทีผมนึกว่ามันเป็นปัญหาของหอเราเท่านั้น ซึ่งปัญหามันเป็นเรื่องของการโกง เวลาเราให้พนักงานเป็นคนรับเงินจากผู้เช่า เขามักจะเอาไปใช้ก่อน หรือหากได้เงินเป็นก้อนใหญ่ก็อาจคิดเชิดไปเลย มันตรวจสอบยากมาก ตัวเจ้าของเองก็มักมีหออยู่หลายแห่งและตั้งอยู่หลายๆที่ เลยเข้าไปดูแลได้ยาก"


ธนวิชญ์ เล่าว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจ เขาได้ใช้เวลาเป็นปี เพื่อลงไปพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลจากเจ้าของหอพักอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นหอพักที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพิษณุโลก จนในที่สุดหอแกไนซ์ก็ได้แจ้งเกิด


“ส่วนใหญ่คนทำธุรกิจหอพักหวังจะเป็นเสือนอนกิน แต่สุดท้ายเขากลับต้องมาเจอกับเรื่องที่ยุ่งยากมากๆ ผมเลยคิดระบบที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างเจ้าของกับผู้เช่า ให้พวกเขาสามารถสื่อสารกันได้”


หลักๆ แล้ว หอแกไนซ์มีบริการอยู่ 3 ส่วน หนึ่ง ช่วยจัดการเรื่องบิล ทั้งเรื่องของการทำบิล เพียงแค่กรอกเลขมิเตอร์น้ำ-ไฟ ระบบจะคำนวนค่าเช่าทันที การช่วยส่งบิลค่าเช่าให้ผู้เช่าทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งผู้เช่าก็สามารถชำระค่าเช่าหอพัก หรือชำระทางออนไลน์ซึ่งมีความสะดวกเช่นเดียวกัน


นอกจากนี้ หอแกไนซ์ ยังทำหน้าที่เป็นกระดานข่าวสารหอพักออนไลน์ ที่ทำให้เจ้าของและผู้เช่าสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆถึงกันได้ในทันทีทันใด อีกทั้งจะช่วยทำรายงานผลประกอบการหอพัก โดยสรุปผลประกอบการเป็นสถิติในทุกๆเดือน เพื่อให้เห็นถึงตัวเลขกำไร-ขาดทุน รวมถึงช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติของมิเตอร์ และรายรับที่ถูกต้องแม่นยำ


คือแทนที่เวลาเจ้าของหอต้องการจะแจ้งเรื่องการตัดไฟ เพื่อให้ช่างมาซ่อม ก็ไม่ต้องขับรถเพื่อเอากระดาษไปแปะเพื่อแจ้งกันถึงหอพัก หรือต้องโทรศัพท์หาผู้เช่าทุก ๆห้องให้เหนื่อยแรง เพราะหอแกไนซ์มีกระดานกลาง ถ้าเจ้าของหออยากจะแจ้งอะไรกับผู้เช่าก็แจ้งได้หมด หรือแม้แต่ถ้าผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า ระบบจะมีการแจ้งเตือนทวงถามให้ด้วย เป็นต้น


"แต่เราได้เจออีกเหตุการณ์หนึ่ง คือมีหอพักแห่งหนึ่งถูกไฟไหม้ ผู้เช่าที่อยู่ห้องข้างๆห้องที่เป็นต้นเพลิงก็พยายามโทรหาเจ้าของหอให้ตามตัวเจ้าของห้องให้มาเปิดห้อง แต่เจ้าของหอกลับไม่มีเบอร์ผู้เช่าห้องๆนั้น สุดท้ายระบบของเราเลยมีลิสต์รายชื่อผู้เช่าทั้งหมดพร้อมเบอร์โทรไว้ เวลามีเหตุอะไรจะได้โทรหาได้เลย"


ทั้งนี้ หอแกไนซ์ เปิดตัวด้วยเว็บไซต์ก่อน แต่ไม่นานนักก็พัฒนาแอพเสร็จและทำงานควบคู่กันไป เนื่องจากในความเป็นจริงนั้น ธนวิชญ์ค้นพบว่า เจ้าของหอพักส่วนใหญ่ “สูงวัย” และมักใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น แต่ทางตรงข้าม “สมาร์ทโฟน” กลับเป็นที่นิยมของคนทุกรุ่นทุกวัย กลายเป็นว่าแอพจึงตอบโจทย์ได้มากกว่า


ซึ่งเวลานี้ หอแกไนซ์มียูสเซอร์อยู่ประมาณ 200 หอ เป็นหอพักอยู่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพิษณุโลก โดยทั้งหมดตั้งอยู่ในทำเลที่ใกล้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ธนวิชญ์บอกว่าในเบื้องต้นเขาเปิดให้หอเหล่านี้ใช้บริการได้ฟรี


"ผมเริ่มต้นด้วยหอที่เชียงใหม่ ถามว่าใช่กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองใช่ไหม ตอบว่าไม่ เพราะถ้าสำรวจตลาดดีๆ คนไปลงทุนทำหอที่ต่างจังหวัดก็คือคนกรุงเทพ แต่เพราะเรามีคอนเน็คชั่น รู้จักกับเจ้าของหอที่เชียงใหม่ เลยไปขอให้เขาทดลองได้ เพื่อเราจะได้มีฐานลูกค้าไว้อ้างอิง จู่ๆจะให้ผมเดินเข้าไปบอกเจ้าของหอพักที่กรุงเทพว่าระบบของผมยังไม่มีใครใช้เลย หอพี่จะเป็นหอแรก บอกเลยว่าหอพักเป็นธุรกิจของความกลัว ไม่มีใครอยากเป็นหอแรกที่ทดลอง"


ที่ผ่านมาเขาบอกว่า หอแกไนซ์ ได้รับเสียงตอบรับจากหอพักต่าง ๆเป็นอย่างดี จนสามารถพูดได้ว่าในเวลานี้เรื่องของโปรดักส์ผ่านฉลุยแล้ว จากนี้ไปก็ถึงจังหวะของการเติบโต


"เราตั้งเป้าไว้ว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จะต้องมีหออยู่ในระบบ 2 พันหอ ซึ่งเราได้เริ่มทำการตลาดออนไลน์ และมีไปลงในสื่อต่างๆ ทำให้ในแต่ละวันก็มีคนติดต่อเข้ามาอยู่หลายราย ซึ่งเราไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นหอพักแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ เป็นคอนโดมีเนียมแค่ห้องเดียวที่เจ้าของปล่อยเช่าก็รับ ส่วนพื้นที่เป้าหมายเรามองเป็นหอในกรุงเทพ เชียงใหม่และขอนแก่น ถามว่าจะไปต่างประเทศไหม ก็มีแนวโน้มเพราะหลังที่ผมไปออกรายการทีวีก็มีเจ้าของหอที่ประเทศลาวติดต่อเข้ามา"


กลัวเรื่องการก้อบปี้มากน้อยเพียงไร? เขาบอกว่าในส่วนของซอฟท์แวร์นั้นลอกเลียนแบบกันได้ไม่ยากเลย แต่ถ้าลงรายละเอียดจึงจะพบกับความยาก


"ทำไมเราต้องดีไซน์แบบนี้ ทำไมต้องมีฟีเจอร์นี้ ทำไมเราต้องทำแบบนี้ และทำไมต้องคลิกตรงนี้แล้วมาตรงนี้ ก็เพราะเราผ่านการศึกษามาแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ คือทุกคนเห็นปัญหา แต่ปัญหามันก็มีระดับที่แตกต่างกัน การหาปัญหาไม่ยากแต่การหาวิธีแก้ปัญหามันยากกว่า"


ที่เขาทำได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ธนวิชญ์ เป็นลูกของเจ้าของหอพักที่ซึมซับธุรกิจครอบครัวมาเป็นทุนเดิม แต่สุดท้ายแล้วบิสิเนสย่อมต้องอาศัยข้อมูล ต้องมีตัวเลขมาช่วยฟันธงเสมอ


"ผมใช้เวลารีเสิร์ซนานมาก แม้ตัวเองจะเป็นลูกเจ้าของหอ แต่ต้องอย่าลืมว่าหอพักมันมีอยู่ทุกไซส์ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน แต่ข้อดีก็คือเวลาไปคุยกับเจ้าของหอเราจะเข้าใจตรงกันได้ง่าย เวลาเขาพูดอะไร เราก็จะอ๋อเลย เช่น การคิดค่าน้ำ ถ้าเป็นคนอื่นคงคิดว่าก็แค่จดมิเตอร์ก็จบแล้ว แต่ที่จริงสิบหอก็อาจมีวิธีคิดเรื่องนี้สิบรูปแบบ ซึ่งระบบของเราต้องยืดหยุ่นต้องรองรับได้หมดทุกรูปแบบ"

ขึ้นห้างกับขึ้นหิ้ง


แม้อายุยังน้อย แต่ถ้ามีโอกาสได้พูดคุยก็จะรู้ว่า ธนวิชญ์ มีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการสูงมาก


“พ่อแม่มีส่วนครับเพราะท่านชอบทำธุรกิจ ผมเองก็ชอบค้าขายเพราะรู้สึกสนุก ก็ไม่รู้หรอกว่าจะขายได้หรือไม่ได้ แต่ขอให้ได้ลอง”
อีกส่วนหนึ่งมาจากการได้ลงเรียนวิชาที่ชื่อว่า “อินโนเวชั่น ทู มาร์เก็ต” สมัยที่ยังเรียนวิศวะคอมพ์ที่ มช. เพราะช่วยทำให้เขาตระหนักว่าในการทำธุรกิจนั้น ลูกค้าจะต้องมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งเสมอ


"วิศวะส่วนใหญ่มักชอบทำอะไรที่เวอร์ๆ เขียนโค้ดแน่น ๆหนัก ๆเจ๋ง ๆ และก็เสียเวลาทำนาน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดทำแก้วน้ำสักใบ ก็อยากให้มันใช้ประโยชน์ได้สารพัด คือไม่สนว่าที่สุดแล้วคนใช้เขาต้องการแค่เอามาไว้รองน้ำกินเท่านั้น"


เขาบอกว่านี่คือสาระสำคัญที่ทำให้งานวิจัยส่วนใหญ่ต้องขึ้นหิ้ง เพราะผู้ทำมักใช้เหตุผลส่วนตัว แต่ไม่เคยคิดถึงต้นทุนในการทำว่าเป็นเท่าไหร่ จะทำออกไปขายในราคาเท่าไหร่


“เราต้องกลับมาคิดใหม่ คิดให้มันง่าย ทำให้มีราคาถูก คำว่าถูกสำหรับผมหมายถึงต้องสอดคล้องกับความรู้สึกยอมรับของคน เมื่อทำออกมาแล้วมันใช้งานได้จริงๆ ต้องตอบโจทย์ลูกค้า ”


ซึ่งเขาบอกว่า ปัญหานี้มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะจากที่ได้ลงไปพบปะกับเด็กวิศวะรุ่นน้อง ก็ได้พบว่าพวกเขามีความคิดใกล้เคียงกับคำว่าบิสิเนสมากขึ้น เพราะเวลาคิดจะทำอะไรสักอย่างก็ตั้งคำถามกันว่า มันจะใช้ได้จริงไหม มันตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงไหม ซึ่งธนวิชญ์มองว่ากระแสที่มาแรงของธุรกิจสตาร์ทอัพมีส่วนสำคัญที่ทำให้แนวคิดเปลี่ยนแปลงไป