"บีโอไอ" เล็งหนุนลงทุนปลั๊กอิน ไฮบริดเพิ่ม

"บีโอไอ" เล็งหนุนลงทุนปลั๊กอิน ไฮบริดเพิ่ม

"ค่ายรถ" แจงรัฐถอดวาระส่งเสริมลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 31 ต.ค.ไม่กระทบแผนลงทุน "บีโอไอ" แบะท่าหนุนลงทุนรถปลั๊กอิน ไฮบริดเพิ่ม

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการสัมมนาและนิทรรศการรถยนต์ไฟฟ้า หัวข้อ “ประเทศไทยกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ผลิตรถยนต์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นที่หอประชุมใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วานนี้ (1 พ.ย.)

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอ ต้องการให้เกิดการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ แม้ว่าที่ผ่านมาจะพบว่าภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยก็ตาม

“เอกชนกลัวว่า หากสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จะทำให้รถยนต์สันดาปภายในและส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ และหายไปจากตลาด ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเกิดขึ้น แต่รถยนต์เดิมๆ ก็ยังอยู่ เพราะรถพลังงานไฟฟ้าจะเติบโตอย่างช้าๆ”

โดยยกตัวอย่างตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่สนับสนุนจริงจังมาแล้ว 6 ปีแต่ปัจจุบันมียอดขายแค่ 2.5 แสนคัน จากภาพรวมตลาดที่ 14-15 ล้านคัน

“เดิมวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา จะมีวาระส่งเสริมการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่ได้ถูกถอดออกไป เนื่องจาก นายกรัฐมนตรี ต้องการให้หาข้อมูลเพิ่มเติมให้ละเอียดอีกครั้ง อีกทั้งพบความไม่พร้อมของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ต้องกำหนดสเปครถบัสโดยสารไฟฟ้าที่จะนำเข้ามาใช้บริการ”

+บีโอไอเล็งหนุน “ปลั๊กอิน ไฮบริด”

นางสาวอัจรินทร์ กล่าวว่า บีโอไอมีแนวคิดที่จะสนับสนุนการลงทุนรถปลั๊กอิน ไฮบริด เพิ่มเติม เพราะเป็นกลุ่มรถที่คล้ายกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และชุดควบคุม หากขยายการสนับสนุนจะทำให้ความต้องการชิ้นส่วนเหล่านี้เพิ่มขึ้น

“ครั้งแรกมีคนเสนอ ปลั๊กอิน ไฮบริดเข้ามา แต่เราไม่ได้สนใจ แต่ตอนนี้เห็นว่าจะมีผลดีต่อโอกาสการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สำคัญ”

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมปลั๊กอิน ไฮบริดก็จะต้องกำหนดเงื่อนไขการลงทุนเช่นเดียวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือ การยื่นแผนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยปัจจุบันรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริดที่จำหน่ายในไทย ได้แก่ เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู และโปร์เช่

สำหรับเงื่อนไขการส่งเสริมรถพลังงานไฟฟ้าก่อนหน้านี้ สำหรับรถขนาดเล็ก คือ เปิดให้ผู้ที่ต้องการลงทุนนำเข้ารถสำเร็จรูป (CBU) เข้ามาทำตลาด 200 คัน เป็นเวลา 2 ปี จากนั้น ปีที่ 3 ต้องลงทุนประกอบรถในประเทศ พร้อมกับผลิตชิ้นส่วนสำคัญอย่างน้อย 1 รายการ จาก 5 รายการ คือ แบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดควบคุมการขับเคลื่อน และระบบปรับอากาศ ส่วนชุดชาร์จ ที่เคยกำหนดเป็นชิ้นส่วนสำคัญก่อนหน้านี้ ถูกถอดออกไป หลังพบว่ามีผู้ที่สามารถผลิตได้แล้วในประเทศ

ส่วนรถโดยสารขนาดใหญ่ กำหนด 4 รายการ โดยสิ่งที่ตัดออกจากรถเล็กคือ ระบบปรับอากาศ

+“นิสสัน”ชี้เลื่อนวาระฯไม่กระทบ

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเลื่อนส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะเชื่อว่าไทยจะต้องเดินไปตามทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการเลื่อนเพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการพิจารณามากขึ้น

นอกจากนี้ เห็นว่าน่าจะเป็นผลดีสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนจะได้มีโอกาสเจรจาเงื่อนไขเพิ่มเติมกับบีโอไอ โดยเฉพาะเงื่อนไขการสนับสนุนด้านภาษีรถซีบียู 2 ปี เห็นว่าน้อยเกินไป เนื่องจากรถพลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งใหม่กับตลาดไทย ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักดีพอ จึงต้องใช้เวลาให้ข้อมูลข่าวสาร และสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะความปลอดภัยในการใช้งาน ที่มักจะมีผู้ตั้งข้อสงสัยหลายอย่าง เช่น ขับลุยน้ำ ใช้งานกลางฝนเป็นอันตรายหรือไม่ หรือ รถเกิดการกระแทก ใต้ท้องรถ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ติดตั้งแบตเตอรี่ครูด กับสภาพเส้นทางที่ไม่เรียบจะมีผลกระทบหรือไม่ ดังนั้นเห็นว่าควรจะขยายเวลาส่วนนี้ออกไปเป็นอย่างน้อย 3 ปี

“อีวี เป็นของใหม่ เรายังไม่รู้ความต้องการที่แน่นอน ดังนั้นต้องใช้เวลา อีกทั้งรถกลุ่มนี้ ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบด้วย เช่น สถานีชาร์จ เวลา 2 ปี อาจจะน้อยเกินไป”

+รุกพัฒนารถรุ่นใหม่วิ่งไกลขึ้น

นางเพียงใจ กล่าวว่า สำหรับนิสสันเป็นค่ายรถที่ให้ความสำคัญกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาตั้งแต่ต้น รวมถึงบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ที่พัฒนาและทำตลาดเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบันมียอดขายสะสมแล้วกว่า 2.5 แสนคัน

ทั้งนี้ นิสสันเห็นว่า รถพลังงานไฟฟ้า เป็นทิศทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะกระแสของโลกกำลังมา ยังจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง เช่น ลดการปล่อยไอเสีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานและดูแลรักษาต่ำกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน 3 เท่าตัว

สำหรับในไทย ที่บริษัทนำนิสสันลีฟ เข้ามาทดลองใช้งาน พบว่า มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 1 บาทต่อกิโลเมตร

ด้านเทคนิค นิสสันพัฒนารถอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถตอบสนองการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น เช่น ปี 2553 นิสสัน ลีฟ ใช้งานต่อการชาร์จไฟเต็มที่ 1 ครั้ง 175 กม. ปัจจุบันเพิ่มเป็น 250 กม.และขณะนี้บริษัทแม่กำลังพัฒนารถรุ่นใหม่ที่จะเพิ่มระยะทางการใช้งานเป็น 400 กม.

+“โตโยต้า”ชี้อีวีเหมาะรถใช้งานระยะสั้น

นายธีระ ประสงค์จันทร์ ตัวแทนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า รถพลังงานไฟฟ้าจะมีส่วนสำคัญในการลดการปล่อยไอเสีย และภาวะโลกร้อน แต่อย่างไรก็ตามในด้านการใช้งานต้องดูความเหมาะสม

ทั้งนี้เห็นว่า ปัจจุบันเกือบทุกประเทศในโลก จะไม่เลือกใช้งานเชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่งเป็นหลักใน 3 กลุ่ม คือ ไฟฟ้า น้ำมัน และชีวภาพ แต่ต้องดูความพร้อมและทรัพยากรในประเทศ เช่น ไทย พร้อมด้านชีวภาพก็ต้องสนับสนุนด้วย

ขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเห็นว่ายังมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะระยะทางการใช้งาน การใช้เวลาชาร์จ และสถานีบริการ จึงเห็นว่ารถกลุ่มนี้จะเหมาะกับการใช้งานระยะสั้น หรือรถบัสโดยสารที่มีเส้นทางวิ่งที่ชัดเจน

ส่วนแนวทางการสนับสนุนของภาครัฐ เห็นว่าควรจะต้องมองเป็นกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมี 4 กลุ่มหลัก คือ รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว (EV) รถไฮบริด รถปลั๊กอิน ไฮบริด และรถเซลล์พลังงาน (fuel cell)

รถทั้ง 4 กลุ่ม ใช้ชิ้นส่วนสำคัญอย่างน้อย 3 รายการ คือ แบตเตอรี่ มอเตอร์ และชุดควบคุม ดังนั้นหากส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โอกาสที่จะเกิดการลงทุนผลิตชิ้นส่วนสำคัญเหล่านี้ก็ง่ายขึ้น ทำให้แผนการผลักดันให้รถพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวเกิดขึ้นในประเทศเห็นผลได้เร็วขึ้น