ชาวนาห้างฉัตร รวมกลุ่มสีข้าวขายรับรายได้งาม

ชาวนาห้างฉัตร รวมกลุ่มสีข้าวขายรับรายได้งาม

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวทิพย์ช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เน้นผลิตข้าวคุณภาพครบวงจร ไม่ผ่านโรงสีกลาง-ทำการขายเอง

ทำให้มีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ระบุแม้ขณะนี้ราคาข้าวตกต่ำแต่ไม่กระทบ เตรียมเดินหน้ายกระดับคุณภาพดิน ปลูกข้าวอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์  

นายนันทวัตธ์ ไชยมงคล ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เปิดเผย  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวทิพย์ช้างมีสมาชิกจำนวน 16 ราย โดยเราจะเน้นผลิตและขายข้าวคุณภาพ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพออกสู่ตลาด โดยกลุ่มจะลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการปลูก ที่มีพื้นที่การปลูกข้าวของสมาชิกรวมทั้งหมด 200 ไร่ สามารถได้ผลผลิตข้าวประมาณ 500 กิโลกรัมต่อฤดูการเก็บเกี่ยว รวมถึงมีโรงสีข้าวทำการสีข้าวไม่ผ่านโรงสีกลาง และบรรจุถุงสูญญากาศจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ทิพย์ช้างไรซ์ โดยได้เริ่มทำมาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา โดยปีแรกทำรายได้ถึง 300,00 บาท และปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 800,000 บาท 

สำหรับข้าวที่ทำขึ้นมานั้นจะบรรจุเป็นแพคพาสติกขนาด 1 กิโลกรัม โดยข้าวกล้องขายราคาแพ็คละ 90 บาท ข้าวทับทิมชุมแพแพ็คละ 100 บาท ข้าวไรซ์เบอร์รี่ถุงละ 90 บาท ข้าวหอมนิลถุงละ 70 บาท  โดยช่องทางการจำหน่าย จะจำหน่ายที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเอง และออกจำหน่ายสินค้าตามงานแสดงต่างๆ อีกทั้งรับตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง และจะผลิตตามจำนวนที่สั่ง โดยทางวิสาหกิจชุมชนจะทำการเก็บข้าวเปลือกเก็บไว้ โดยไม่ทำการสีบรรจุถุงทิ้งไว้ และรอเวลาที่จะออกไปจำหน่ายตลาด หรือรอลูกค้าสั่งถึงจะทำการสีข้าวบรรจุถุงสูญญากาศ เพื่อจำหน่าย เนื่องจากหากทำการสีข้าวทิ้งไว้ จะทำให้คุณภาพของข้าวนั้นจะเสื่อมคุณภาพลงไป

ปัจจุบันนี้ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แม้ราคาตามกลไลของตลาดขณะนี้จะมีราคาตำ่ แต่ข้าวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวทิพย์ช้าง ก็ไม่ได้รับผลกระทบตามกลไกตลาด อีกทั้งกระบวนการปลูกข้าวของสมาชิกทุกราย ผ่านมาตฐานการผลิตข้าวจีเอพี เป็นที่เรียบร้อย  โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการพัฒนา ให้เป็นข้าวอินทรีย์ 100 เปอร์เซนต์ โดยที่จะเน้นการพัฒนาคุณภาพดิน ที่ใช้โดยตามมาตราฐานดินที่มีความเป็นอินทรีย์สูงสุดอยู่ที่ 5 เปอร์เซนต์ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ดินแปลงปลูก ของสมาชิกแต่ละรายวัดคุณภาพดินสูงสุดอยู่ที่ 3.5 เปอร์เซนต์อยู่ ซึ่งจะพัฒนาต่อไปโดยวิธีการไม่ใช้สารเคมี ในการทำลายตอซังข้าวจะใช้วิธีการไถกลบ เพื่อให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ พร้อมทั้งขยายพื้นที่แปลงปลูกข้าวให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด