ล้วงวัฒนธรรมองค์กร ‘Alibaba’

ล้วงวัฒนธรรมองค์กร  ‘Alibaba’

Alibaba อยู่รอดมาจนถึงปีที่ 17 และมีความมุ่งหวังที่จะอยู่ต่อไปให้ถึง 102 ปี เพื่อให้ไปถึงปี 2100 นี่คือสิ่งที่คน Alibaba ตั้งความหวังร่วมกัน

“Embrace change is a kind of innovation, also a sense of crisis” Jack Ma
จงโอบกอดการเปลี่ยนแปลงเพราะมันคือนวัตกรรม แต่ก็ต้องระวังว่าอาจเป็นวิกฤต

วิสัยทัศน์ วิธีคิด และการปฏิบัติ ที่ แจ็ค หม่า ใช้เป็นแนวทางในการพาองค์กรที่ก่อตั้งมาเพียง 17 ปี กลายเป็นมังกรใหญ่ที่แผ่อาณาจักรได้ไกลไปทั่วโลก

การเดินทาง Alibaba Exclusive Dream Trip ไปยังสำนักงานใหญ่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ร่วมเดินทางประเดิมทริปแรกของคนไทย ไปแล้วเมื่อวันที่ 26-29 กันยายน 2559 โดยการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกับ Alibaba ซึ่งมีนักฝันทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ผู้สนับสนุนธุรกิจ SMEs สตาร์ทอัพ รวมถึงธนาคารชื่อดังของไทยร่วมเดินทางทั้งหมด 30 ท่าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นผสมผสานความหลากหลายของผู้เข้าร่วมเดินทางซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ได้อย่างลงตัวด้วยกิจกรรมการละลายพฤติกรรมในแบบฉบับของ Alibaba


Alibaba ก่อตั้งเมื่อปี 1999 ที่เมืองหางโจว โดย แจ็ค หม่า กับเพื่อนร่วมก่อตั้งรวม 18 คน การสร้างธุรกิจใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก E-commerce ในขณะนั้นจึงไม่ใช้เรื่องง่าย เขาต้องโดนปฏิเสธทั้งจากธนาคาร ลูกค้า หรือแม้แต่เพื่อที่ร่วมก่อตั้งด้วยกัน เพราะไม่เข้าใจในธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ Alibaba อยู่รอดมาจนถึงปีที่ 17 และมีความมุ่งหวังที่จะอยู่ต่อไปให้ถึง 102 ปี เพื่อให้ไปถึงปี 2100 นี่คือสิ่งที่คน Alibaba ตั้งความหวังร่วมกัน
Alibaba มีสำนักงาน (Campus) ในเมืองหางโจว 2 สำนักงาน ได้แก่ สำนักงาน Baijing Campus และ Xixi Campus (Jack Ma ประจำอยู่ที่สำนักงานนี้) สิ่งแรกที่สร้างความประทับใจก็คือ การให้ความสำคัญกับคน และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบที่น่าสนใจตามแบบฉบับเฉพาะ ที่เรียกว่า Ali Way

อย่างเช่น การมอบเข็มเมื่อทำงานครบ 1 ปี เพื่อแสดงว่าคุณคือชาว Ali มอบสร้อยคอเมื่อทำงานครบ 3 ปี เพื่อแสดงว่าคุณเป็นชาว Ali เต็มตัว และมอบแหวนซึ่ง แจ็ค หม่า จะเป็นผู้สวมให้ เมื่อทำงานครบ 5 ปี เสมือนคนรักหรือครอบครัวเดียวกันตลอดไป

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่า Alibaba กำลังจะผูกคุณไว้กับองค์กรนี้ตลอดไป แต่แท้จริงแล้ว Alibaba กลับมีนโยบายที่แปลกออกไป คือ เมื่อคุณทำงานถึงระดับผู้จัดการ (Manager) แล้ว Alibaba จะสนับสนุนให้คุณลาออก ไปเติบโตทำในสิ่งที่ตนเองรักและชอบต่อไป แต่ทุกคนยังคงเป็นครอบครัวและพันธมิตรกับ Alibaba ได้ตลอดไป

Alibaba เปรียบตัวเองเหมือนมหาวิทยาลัย ที่คนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเมื่อคุณพร้อมก็สามารถออกไปเติบโตเองได้ เหมือนการเรียนจบมหาวิทยาลัย จึงไม่น่าแปลกใจที่อายุเฉลี่ยของคนที่งานที่ Alibaba จึงอยู่เพียงแค่ 29 ปี และอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 19 ปีเท่านั้น


ผศ.มานา ปัจฉิมนันท์ รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารการตลาดและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงประโยคที่ว่า Work hard, Play hard แต่ที่ Alibaba กลับคิดตรงกันข้าม โดยเชื่อ Happy work, Live seriously คือการทำงานอย่างมีความสุข แต่ใช้ชีวิตให้จริงจัง
ที่นี่ทุกคนมีความฝัน พนักงานจะเขียนความฝันของตนเองใส่ลงในใบไม้ แล้วนำไปติดบนภาพที่มีกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ต้นเดียวกัน ซึ่งหมายถึงทุกคนล้วนมีความฝัน เราจะร่วมกันสร้างด้วยกัน


อีกความน่าสนใจคือ หมู่บ้านความฝัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่รัฐบาลจีนลงทุน 50,000 กว่าล้านบาท สร้างเสร็จในปี 2015 ใช้เวลาสร้าง 150 วัน รวมทั้งหมด 20 กว่าอาคาร เพื่อเป็นที่รองรับนักธุรกิจ Startup รุ่นใหม่ด้าน E-business โดยเฉพาะ มีทั้งออฟฟิศ ห้องประชุม กิจกรรมอบรมต่างๆ พร้อมเงินทุนตั้งต้นในการทำธุรกิจ โดยตั้งกองทุนไว้ที่ 250 ล้านบาท เงื่อนไขสำคัญของผู้มีสิทธิเข้ามาใช้สถานที่นี้คือ จะต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปี และเรียนจบมาแล้วไม่เกิน 10 ปี


“Alibaba Exclusive Dream Trip เปิดโลกทัศน์ให้เราได้เรียนรู้ความเป็นหยิน และหยางแห่งวัฒนธรรมธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อย่างอาลีบาบา บริษัทแดนมังกรที่สามารถเติบโตเป็นระดับแนวหน้าของโลก

และเห็นว่าวัฒนธรรมที่หลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องนามธรรมหรือจับต้องได้ยาก กลับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำอย่าง แจ็ค หม่า ให้ความสำคัญอย่างมาก และเป็นเคล็ดลับที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ประสบความสำเร็จได้” ผศ.มานา กล่าวทิ้งท้าย

ปรัชญาพื้นฐาน 6 ข้อ ‘Alibaba’
1.ความเชื่อแบบตะวันออก ผสมผสานการบริหารงานแบบตะวันตก แจ็ค หม่า มีความเชื่อแบบตะวันออก เช่น สัญชาตญาณ แต่ก็ยึดกระบวนการทำงานและบริหารจัดการแบบตะวันตกที่มีความเป็นศาสตร์สูง
2.ขับเคลื่อนการทำงานด้วยความฝัน แต่ก็อยู่บนความจริงทางธุรกิจ อาลีบาบา เป็นองค์กรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบุคลากรที่มีความฝันของตัวเอง และฝันร่วมกันขององค์กร รวมถึงมีความเชื่อว่า เราจะเข้าใจความฝันของเราอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเรามีความชัดเจนในตัวธุรกิจ
3.สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมแต่ก็มีระบบการไล่คนออกแบบเฉียบคม แจ็ค หม่า สร้างให้คนอาลีบาบามีความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยใช้ความฝันในการสร้างแรงบันดาลใจร่วมกัน และเกิดความรักและผูกพันในตัวองค์กร คนที่จะผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำงานจึงคัดสรรอย่างดีว่ามีความมุ่งมั่นและความฝันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม อาลีบาบา มีระบบการประเมินผลพนักงานที่เข้มข้นทุกๆ 3 เดือน หากไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินก็สามารถถูกเชิญออกจากบริษัทได้
4.มีความเป็นระบบแบบองค์กรแต่ก็มีอิสระและความสร้างสรรค์แบบไม่เป็นองค์กร อาลีบาบา นับเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ให้อิสระกับพนักงาน มีความยืดหยุ่นในการทำงาน สนับสนุนการมีนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ลูกน้องสามารถคุยกับหัวหน้าได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องมีระเบียบขั้นตอนในการเข้าหา
5.เปิดใจ แบ่งปัน อิสระ ความเท่าเทียม คนอาลีบาบา เป็นคนเปิดเผย ตรงไปตรงมา มีน้ำใจแบ่งปันซึ่งกันและกัน รักในอิสระและความเท่าเทียมกัน ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า สังคมอาลีบาบาเป็นสังคมที่อบอุ่น และเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน
6.เชื่อในพลังของวัฒนธรรมเช่น ความซื่อสัตย์ ไม่โกหก ไม่รับสินบน วัฒนธรรมองค์กรถือเป็นเรื่องสำคัญของคนอาลีบาบา พนักงานใหม่ของอาลีบาบาทุกคน ที่เพิ่งเริ่มต้นเข้ามาทำงานใหม่ จะต้องผ่านการอบรมเรื่องวัฒนธรรม Alibaba เป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม เพื่อการละลายพฤติกรรมละการปรับตัวเข้าสู่สังคมอาลีบาบา