จากใจจิตรกร จากใจจิตรกรรม

จากใจจิตรกร จากใจจิตรกรรม

ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ภายใต้แนวคิด ในหลวงของประชาชน อย่างสุดฝีมือ ณ ลานอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ โดยจัดแสดงให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

          อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงการรวมตัวของศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯที่รวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียงตั้งแต่รุ่นอาวุโส ได้แก่ สันทนา ปลื้มชูศักดิ์ สรรณรงค์ สิงหเสนี ปัญญา วิจินธนสาร สมยศ ไตรเสนีย ไล่เรียงมากระทั่งเพิ่งจบการศึกษา

“บางรุ่นประชากรหนาแน่นมีวิธีการบริหารจัดการทำเป็นรูปเล็กๆประกอบ บางรุ่นให้คนฝีมือดีเป็นแนวหน้าของรุ่นเป็นคนนำเพื่อนๆคอยช่วยแล้วแต่ตกลงกัน เป้าหมายของเราคือนำภาพจิตรกรรมมาตกแต่งให้ลานอาจารย์ศิลป์เป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนและชมงานศิลปะขณะรอเวลาเข้าไปกราบสักการะพระบรมศพ โดยขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยจัดแสดงผลงานเป็นเวลา 100 วัน”

องอาจ เจียมเจริญพรกุล นักเขียนบทสารคดีโทรทัศน์, บทภาพยนตร์ และผู้กำกับภาพยนตร์ เรื่อง น้ำ ผีนองสยองขวัญ (พ.ศ.2553) และ ความลับนางมารร้าย (พ.ศ.2557) ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ รุ่นที่ 42 บอกถึงความรู้สึกที่ได้วาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่ามกลางบรรยากาศของรุ่นพี่รุ่นน้องว่า

“วันที่รุ่นน้องนักศึกษาปัจจุบันเขียนรูปในหลวงเราคิดว่ามันพีคแล้ว เป็นไฮไลท์แล้ว พอนำไปติดไปด้านหน้ามหาวิทยาลัยทำให้ประชาชนมีความสุขกันเป็นจุดที่ทำให้คนได้มารำลึกถึงพระองค์มากขึ้น เราได้เห็นศิลปะทำงาน ได้เห็นศิลปะตอบสนองสังคมในเวลาที่เหมาะสม เรารู้สึกว่าดี

พอมาถึงวันที่ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมมีดำริที่จะเขียนรูปขึ้น ในใจเรามีคำถามว่าเขียนไปแล้วจะยังไง จะติดตั้งยังไง จะเขียนกันได้หรือเปล่า มีคำถามมากมาย” องอาจ วาดรูปพร้อมกับเพื่อนในรุ่นในวันที่ 22 ตุลาคม พร้อมความรู้สึกบางอย่างที่ยังค้างอยู่ในความรู้สึก

“กลับไปถึงบ้านรู้สึกว่าอยากเขียนอีกรูปไม่รู้เป็นยังไง รุ่งขึ้นเลยมาต่อเฟรมแต่เช้า การเขียนรูปเป็นหมู่มันก็ดี แต่ในหลักการแล้วมันต้องมีจิตรกรที่เขียนหลักคนเดียว คือรสนิยมคนไม่เหมือนกัน พอเขียนหลายคนรูปจะเพี้ยน มันต้องมีการวางแผน เรากลับไปคิดวางแผน เช้ามาบอกเพื่อนตัดทีเทลออก แล้วเราเตรียมสำรองไว้อีกรูปหนึ่ง ยังไงรูปนี้เป็นรูปที่อยากเขียนมาก

เราอยากให้คนได้ชื่นชม มาดูงานจิตรกรรมมาดูแล้วไม่เสียเที่ยว มาดูแล้วไม่ขี้เหร่กว่างานด้านนอก หรือว่าดีกว่างานข้างนอก แต่ว่าสิ่งที่มันดี คือได้เห็นคนเรียนศิลปะนำศิลปะออกมารับใช้สังคมในจังหวะที่เหมาะสมจริงๆ

เราได้เจอพี่สุรเดช แก้วท่าไม้ งานขนาดนี้มูลค่าจริงๆหลักแสนนะ เราเชื่อว่างานนี้ชิ้นนี้มีคนจองแน่ๆ หรือพี่เบี้ยว เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล เป็นมือระดับพระกาฬก็มาเขียนในครั้งนี้ เราได้เขียนรูปในบรรยากาศเดียวกับเขาด้วย มันเป็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเราด้วย พอมาทำงานในวันนี้เรามีความสุขนะ”

องอาจ กล่าวถึงพระบรมฉายาลักษณ์ที่นำมาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์งานครั้งนี้ว่า

“เราเห็นรุ่นน้องคนหนึ่งโพสต์ในโซเชี่ยลมีเดีย เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่เรารู้สึกว่าในหลวงหล่อ ตอนที่เห็นรูปเป็นขาวดำ แต่ในหัวเห็นเป็นรูปแบบที่เขียนออกมา วันนี้มีความสุขได้เห็นพี่ต่อ แสนคม สมคิด มาช่วยเขียน เห็นเด็กมัธยมมาดูก็ลากเด็กมาเขียน

ผมบอกให้มาเขียนด้วยกันเลย ให้ป้ายสีลงไปเลย มันไม่เละหรอก เขียนได้เลย ถึงจะเสียเราแก้ไขได้แต่อย่างน้อยเขากลับไปบ้านไปคุยได้ว่าเขาได้ร่วมเขียนรูปในหลวงที่ศิลปากร ใครมาดูเราก็ให้เขียน

อยากให้รู้ว่าศิลปะมันไม่ได้สูงส่งจนแตะต้องไม่ได้ ศิลปะทำให้เกิดมิตร

 เรารู้สึกจริงๆว่าในหลวงเป็นแบบอย่างนะ พระองค์ทรงดนตรี มีวงดนตรีอส. ทรงวาดรูป ไม่มีใครกล้าขึ้นไปหาในหลวง ถ้าพระองค์ท่านไม่โน้มพระองค์ลงมา พระองค์กุมหัวใจประชาชนเพราะว่าพระองค์ทรงลงมาอยู่กับประชาชน ทำงานเพื่อประชาชน”

องอาจ บอกกับเราถึงความตั้งใจที่จะทำต่อไปว่า

“เราจะทำให้คนจดจำในหลวงได้นานที่สุด คนแรกที่จะสอนคือลูก ตอนนี้ลูกซึมซับแล้วรู้ว่าในหลวงทำอะไร ตอนนี้ได้หนังสือป๊อบอัพ ชื่อ เพียงพ่อก็พอเพียง มาชุดหนึ่ง มี 3 เล่ม ตั้งใจจะเดินทางไปตามโรงเรียนให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้วเอาหนังสือชุดนี้ไปเล่าเรื่งในหลวงให้เด็กๆฟังแล้วให้เด็กเขียนรูป

เราจะเอาสีไป เราจะไปทุกวันหยุดจะทำไปเท่าที่เราทำได้ แล้วจะนำรูปเหล่านี้กลับมาจัดแสดง เขียนยังไงก็ได้ อย่างน้อยเวลาเขียนเขาก็จะได้รู้สึกถึงในหลวง 3 วินาทีก็ยังดี ไม่อยากให้คนไทยลืมในหลวง จะเผยแพร่ให้นานที่สุด อาจใช้เวลา 2-3 ปี เราก็ไม่รู้ว่าจะทำได้ครบมั้ย อย่างน้อยดีกว่าไม่ได้ทำ”

          สุรเดช แก้วท่าไม้ จิตรกรยอดฝีมือที่วาดภาพเหมือนได้จับใจผู้คน เจ้าของผลงานภาพประกอบในนิตยสาร พลอยแกมเพชร และปกนวนิยาย ดอกแก้วการะบุหนิง ชีวิตนอกวัง เป็นต้น ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมรุ่น 40 เล่าถึงการทำงานในครั้งนี้ว่า

“ ภาพนี้เพื่อนชื่อไจแอ้นท์ขึ้นโครงไว้ก่อนแล้วผมมาต่อ ทำงานเป็นทีมอยากทำให้ดีที่สุด เป็นความพิเศษมากๆที่เราได้ทำงานร่วมกัน”

ขณะกำลังวาดรูปเด็กหญิงกำลังถือพวงมาลัย สุรเดช บอกกับเราว่าเป็นความบังเอิญที่ได้พบเด็กหญิงคนนี้ขณะรอเข้าไปในพระบรมมหาราชวังพร้อมกับมารดา จึงอนุญาตถ่ายรูปมา

“เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสดมาก เป็นภาพที่เกิดขึ้นตรงนั้นแล้วผมนำมาเขียนลงในผลงานครั้งนี้ โดยอีกมุมหนึ่งจะเป็นภาพเด็กผู้ชายคู่หนึ่งมาดูผมเขียนรูป เลยขออนุญาตถ่ายรูปเขามาเขียนลงในภาพ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นจริงตรงนั้นเลย ทั้งแบบและผู้วาด

วาดในหลวงรูปนี้ไม่ร้องไห้แล้ว แต่กดดันสูงเพราะว่าอยากให้ดีที่สุดในห้วงเวลานี้ โปรเจคนี้รู้สึกว่าเหมือนเป็นการได้ทดแทน แม้ว่าจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวนิดเดียวแต่อย่างน้อยเราได้เป็นตัวแทนไม่ใช่เฉพาะคนศิลปากรแต่เป็นคนในชาติ ที่มีโอกาสใช้ศิลปะได้สื่อสารความรู้สึกเล็กๆเหล่านี้ไปยังพระองค์ท่านแทนใจกัน เหมือนเราประทับใจด้วยกัน เราผูกพัน เราร้องไห้ด้วยกัน แล้วเราสื่อความรู้สึกเหล่านั้นออกมาด้วยภาพแทนใจ”

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากใจจิตรกร ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ จำนวน 32 ภาพ ขนาด 2.40 x 2.40 เมตร แล้วเสร็จในระยะเวลาเพียง 3 วัน โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมแล้วตั้งแต่ 22 ตุลาคม เป็นต้นมา

นอกจากนี้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน สมาคมศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี คณะมัณฑนศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะดุริยางคศาสตร์ จัดงาน ศิลปากรรวมใจถวายพ่อหลวง

โดยมีการแสดงดนตรีเครื่องเป่าทองเหลืองเพลงพระราชนิพนธ์ จากคณะดุริยางคศาสตร์ และเขียนภาพประกอบดนตรีโดย ศ.ปรีชา เถาทอง ณ ลานอาจารย์ศิลป์ ตั้งแต่เวลา 15.30 -19.30 น.