ทางเลือก ทางรอดและอาลีบาบา ในมุม 4 สตาร์ทอัพขั้นเทพ

ทางเลือก ทางรอดและอาลีบาบา  ในมุม 4 สตาร์ทอัพขั้นเทพ

อะไรคือโอกาสและความท้าทายเมื่อ “อาลีบาบา” อีคอมเมิร์ชยักษ์ใหญ่ของแจ็ค หม่า รุกคืบเข้าประเทศไทย?

วิธีในการมองหาไอเดียเริ่มต้น ตลอดจนเคล็ดลับว่าจะต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด?


มีมุมมองที่น่าสนใจในข้อสงสัยเหล่านี้บนเวที “วิถีสตาร์ทอัพ ฝัน กล้า บ้า ลุย” ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 เมื่อเร็วๆนี้ ของสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จ 4 ราย (ในรูปจากซ้ายไปขวา) ประกอบด้วย “นัฏฐ์สกล เกียรติสุรนนท์” CEO ช็อปสปอท (ShopSpot) “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” CEO อุ๊คบี (Ookbee) “ยอด ชินสุภัคกุล” CEO วงใน ( wongnai) และ “ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” CEO ไพรซ์ซ่า (Priceza) 


ในเรื่องของอาลีบาบานั้น ณัฐวุฒิ บอกว่า โลกของการค้าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องของการแข่งขัน ความพยายามของปลาใหญ่ที่จะกินปลาเล็ก แต่ความจำเป็นแรกที่ไทยควรต้องทำก็คือระบบเพย์เมนท์


"เพราะจริงๆ แล้วนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยมากที่สุดก็คือคนจีน จึงควรดูระบบชำระเงินเพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยรับเงินจากคนจีน และก็ต้องหาทางว่าแล้วเราจะนำเอาสินค้าของเราขึ้นบนระบบแพลตฟอร์มเขาได้อย่างไร"

ส่วนยอด มองการเข้ามาของอาลีบาบาว่ามีทั้ง “ข่าวดี” และ “ข่าวร้าย” เช่นกัน ในเรื่องของข่าวร้ายแน่นอนเป็นการเข้ามาในฐานะของคู่แข่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่ทางตรงข้ามก็จะเข้ามาช่วยเร่งทำให้ “โมบายเพย์เมนท์” ให้เกิดได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย “อาลีเพย์” ซึ่งใช้จ่ายได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งนี้ “แจ๊ค หม่า” มองว่าโลกในอนาคตจะเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)


"เวลาที่คนจีนเข้ามาเที่ยวในไทย เขาถือกระเป๋าตังค์ที่ชื่ออาลีเพย์อยู่ ตอนนี้เขาสามารถซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น ซื้อของในคิงเพาเวอร์ได้ อีกหน่อยเราก็อาจทำงานร่วมกับอาลีเพย์เหมือนกันในการให้ร้านอาหารรับเพย์เมนท์จากคนจีนได้ เมื่อคนจีนเข้ามาใช้โมบายเพย์เมนท์เรื่อยๆ คนไทยก็น่าจะใช้ตาม และมันจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย"


เขาบอกว่า มันเป็นเรื่องของ “ไก่” กับ “ไข่” ว่าอะไรจะเกิดก่อนกัน ที่ผ่านมาฝั่งของผู้ใช้คนไทยซึ่งเป็นฝั่งของไก่ผู้จ่ายยังไม่นิยมใช้โมบายเพย์เมนท์ แต่เมื่อคนจีนเข้ามาช่วยปลุกกระแสจะช่วยทำให้ฝั่งที่เป็นไก่พร้อมใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้ และก็ยังคงเหลือฝั่งของไข่ ว่าทางร้านค้าพร้อมจะรับโมบายเพย์เมนท์เมื่อไหร่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสุดท้ายมันก็ต้องเกิดอยู่ดี


ขณะที่ ธนาวัฒน์ มองว่า จุดประสงค์ในการเข้ามาของอาลีบาบาก็เพื่อ ต้องการใช้ไทยเป็นฐานทางธุรกิจ เนื่องจากตลาดอีคอมเมิร์ซจีนผ่านจุดที่โตสูงสุดมาแล้วเวลานี้เติบโตได้ช้าลง ขณะที่ตำแหน่งของดาวรุ่งพุ่งแรงได้ตกเป็นของตลาดประเทศในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย


"ความท้าทายก็คือ จะมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาเต็มไปหมดเลย เพราะตอนนี้จีนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเขาส่งสินค้าสู่ตลาดโลก โดยใช้เว็บอีคอมเมิร์ซที่เขาลงทุนในการกระจายสินค้า คนไทยที่หวังว่าจะเป็นพ่อค้าคนกลางไปเอาสินค้าจีนมาขายต่อจะยากมากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องหาทางว่าจะสู้ได้อย่างไร แต่ในเรื่องของโอกาสก็คือ อาลีบาบาได้ทำเทคโนโลยีที่ส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซอยู่มากมาย เพราะเขาตีความตัวเองว่าเป็นอีคอมเมิร์ซอินฟาสตรัคเจอร์คอมพานี"


สำหรับเรื่องของไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจนั้น ณัฐวุฒิ มองว่า ไอเดียเป็นเรื่องที่เบสิคมากๆ แต่ความต่างมันจะเริ่มต้นทันทีเมื่อ “ลงมือทำ”


"อยากพูดว่าไอเดียมันเป็นเรื่องกระจอกซึ่งฟังแล้วอาจรุนแรงเกินไป ผมคิดว่าคนมีไอเดียเยอะมาก แต่คนมีไอเดียแล้วลงมือทำจะหายไปถึง 80-90 % คนที่หยิบไอเดียแล้วยอมก้าวออกมาจากคอมฟอทโซน จะทำไหม จะเหนื่อยไหม จะไม่มีตังค์ไหม ตรงนี้น่าจะเป็นสาระสำคัญมากกว่า"


อย่างไรก็ดี การลงมือ ก็ไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ เพราะในแต่ละธุรกิจที่ทำมักจะมีคู่แข่งที่ทำเหมือนกันอยู่มากมายเต็มไปหมด แต่คนที่ทำงานหนักกว่าคนอื่น เหนื่อยกว่าคนอื่น ตั้งใจกว่าคนอื่นจะเป็นคนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า


"ในความเป็นจริงไอเดียจะถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต้องพัฒนาไปตามสภาพตลาด ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่าอีก 5 ปี จะเป็นอย่างไร รู้แค่ว่า 2-3 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เดือนนี้เราจะทำอะไร เดือนหน้าเราจะทำอะไรก็เปลี่ยนไปตามตลาด ผมเชื่อว่าแอปเปิล อเมซอน ไมโครซอฟท์ก็คงไม่รู้ว่าอีก 3- 5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ที่เราต้องทำคือก้าวสั้นๆ แต่ต้องเป็นก้าวสั้นๆให้เร็วที่สุด"


ด้านธนาวัฒน์ มองว่า การมองหาไอเดียจะต้องไม่มองหรือคิดทำธุรกิจที่ปัจจุบันกำลังเฟื่องฟู เป็นธุรกิจที่อินเทรนด์ กำลังดังถึงขีดสุด เพราะที่สุดคุณจะไม่สามารถเข้าไปทำมันให้ดีไปกว่าคนที่ทำจนดังอยู่แล้วในตลาด


"ต้องทำอะไรที่มันยังไม่ดัง แต่คุณเชื่อว่ามันจะดังในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า ต้องมองหาเทรนด์ที่กำลังจะมาในอนาคตและคุณเป็นคนเดียวที่ทำตอนนี้ จากนั้นในอีกสองปีสามปีข้างหน้าคุณก็จะกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในธุรกิจนั้น"


ซึ่งเขาบอกว่าไอเดียนั้นมันมีอยู่รอบตัวเรา จากตัวเราเอง จากเพื่อนๆ ในวงการที่ชอบ หรือในวงการที่เราทำอยู่


"หรือเวลาที่เราอ่านหนังสือพิมพ์แล้วเห็นว่ามีปัญหาอะไรสักอย่าง ธุรกิจอะไรที่ปิดตัวลงแปลว่าเป็นโอกาส แปลว่าจะมีธุรกิจอะไรสักอย่างมาแทน เริ่มจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่เราอ่านทุกวันก็ได้ หรือข่าวที่อ่านบนเว็บไซต์ เวลาเราเจอข่าวแย่ๆ ตรงนั้นคือโอกาสทั้งหมด"


แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด นัฏฐ์สกล ให้คำแนะนำว่า ความอึดอดทนต้องเป็นดีเอ็นเอของผู้ประกอบการทุกคน แต่ก็ต้องอาศัยการปรับตัวให้เร็วด้วย


"เราต้องเรียนรู้ฟีดแบ็คจากลูกค้าอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เราอยู่รอดได้ มันไม่ได้เปลี่ยนตามใจเราเอง มันอยู่ที่ลูกค้า เราต้องเก็บฟีดแบ็คลูกค้าเยอะๆ ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณเพื่อมาดูว่าสิ่งที่เรามีอยู่ต้องปรับหรือเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน บางทีการตัดสินใจอาจมาจากความรู้สึกข้างในของทีมงานว่าสิ่งที่ทำตอนนี้ไม่ใช่แต่ต่อไปมันจะใช่ แต่ก็ต้องมีข้อมูลมารองรับเพื่อทำให้เรากล้าต้ดสินใจจะเดินไปทางนั้น ซึ่งอาจต้องยอมทิ้งสิ่งที่คิดว่าใช่และทำใหม่เลย"


แต่บางที “เก่ง” ไม่พอก็ต้อง “เฮง” ด้วย ยอดมองว่า ที่วงในรอดมาได้เป็นเพราะ “ดวง”


"คนที่ทำสตาร์ทอัพก่อนปี 2012 เป็นช่วงที่คนยังใช้อินเตอร์เน็ตน้อย และเราก็ไม่รู้ว่าอยู่ดีๆคนไทยจะเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนหลายสิบล้านเครื่อง ไม่มีใครรู้ว่าจะมีคนใช้เอนดรอยเยอะขนาดนี้ ไม่มีใครรู้ว่าจะมีคนใช้ไอโฟนเยอะขนาดนี้ ตอนนั้นเราก็เดาๆกันว่าน่าจะมี แต่ถ้าดวงไม่ดี ไม่มีคนใช้ไอโฟน หรือเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนมันไม่เกิด เราก็อาจจะตายกันหมดก็ได้ พวกเราก็แค่เตรียมความพร้อมเมื่อวันนั้นมาถึงเท่านั้นเอง คือถ้าคนใช้สมาร์ทโฟนแล้ววงในยังไม่อยู่ในสมาร์ทโฟนเราก็คงไม่ได้เกิด"


ส่งท้ายด้วยแนวคิดของ ณัฐวุฒิ เขาบอกว่าส่วนตัวมองว่าความ “หมกมุ่น” คือปัจจัยที่ช่วยให้เขารอด


"ผมว่าเราต้องมีความหมกมุ่น ต้องอินกับมันตลอดไม่ว่าจะเรื่องโปรดักส์ ฟีเจอร์ ที่คิดจะเพิ่มโน่นนั่นนี่ มันจะมีโมเมนท์ที่ผมต้องวิ่งออกจากห้องน้ำมาจดความคิดเอาไว้ก่อนกลัวลืมเป็นประจำ แต่พอผ่านเฟสตื่นเต้นหมกมุ่นก็ต้องดูที่ดาต้าไม่เช่นนั้นก็อาจมั่ว ข้อมูลจะช่วยวัดผลได้"