คลาวด์คอมเมิร์ซ ลมใต้ปีกเอสเอ็มอีไทย

คลาวด์คอมเมิร์ซ ลมใต้ปีกเอสเอ็มอีไทย

ความเป็นคนที่ชอบค้าขาย เลยจับตามอง “อีคอมเมิร์ซ” ตั้งแต่เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ซึงยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทย

  “วุฒินันท์ สังข์อ่อง” พอเรียนจบสาขาวิศวกรรมโลหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ทำงานตามสายอาชีพ คือไปทำงานในโรงงาน แต่ตัดสินใจไปสมัครงานเป็น “โปรแกรมเมอร์” กับหลายๆบริษัททั้งๆที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้ แต่มั่นใจว่าตัวเองจะพัฒนาความสามารถได้อย่างแน่นอน ซึ่งมีอยู่บริษัทหนึ่งตัดสินใจรับเขาเข้าทำงาน ในระหว่างนั้นเขาก็ทดลองขายของออนไลน์ไปด้วย


"ตอนนั้นทำง่ายๆ คือดูฝรั่งที่ไปเดินประตูน้ำ เขาซื้ออะไรผมก็ซื้อตาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกเสื้อไทย งานฝีมือพวกงานผ้า และกางเกงมวย ยุคนั้นซื้อมาแค่ร้อยแต่ขายได้เกือบพันบาท เพราะตอนนั้นอีเบย์มันใหม่มากยังไม่ค่อยมีใครรู้จักและขายผ่านช่องทางนี้"


ถึงแม้ยังไม่ถึงยุคเฟิ่องฟู ในวันนั้นประเทศไทยยังไม่พร้อมกับตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต การขนส่ง ระบบชำระเงิน ฯลฯ แต่วุฒินันท์ มองว่าอีคอมเมิร์ซจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษทางด้านนี้โดยเฉพาะ ระหว่างนั้นก็ขายของทางอีเบย์ไปด้วย"


“ความที่เราไปเป็นนักเรียนที่นั่น ทำให้ได้แบงก์แอคเคาท์ที่สมัครเพย์แพลได้ พอกลับมาเมืองไทยตรงนี้ถือเป็นจุดได้เปรียบเพราะคนอื่นเขายังไม่มี”
ถึงจะได้ดีกรีมหาบัณฑิตแดนผู้ดี แต่วุฒินันท์ไม่ได้คิดจะไปทำงานกับองค์กรไอทียักษ์ใหญ่ เขากลับมาเปิดบริษัทลุยธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบเต็มสูบ ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี 2546 เขาเริ่มต้นด้วยการขายสินค้าทุกอย่าง เพราะยังไม่รู้ว่าสินค้าอะไรที่จะขายดี ซึ่งสุดท้ายก็พบว่าถ้าอยากจะขายให้ดีต้อง “เจาะจงลงลึก”


"ผมก็ต้องเลือกว่าอะไรที่จะแข่งขันได้ในตลาดโลก และต้องเป็นสิ่งที่เราชอบ มีความเข้าใจด้วย ก็เลยมาเป็นมวยไทย ผมเป็นคนเล่นกีฬาอยู่แล้ว ชกมวยเล่นมาตั้งแต่เด็ก ผมมองว่ายังไงๆ สินค้าที่เกี่ยวกับมวยไทยก็ต้องซื้อมาจากไทย และตอนนั้นเทรนด์เมืองไทยก็เริ่มมา..จากวิกฤติต้มยำกุ้งด้วย"


“มวยไทยสตัฟฟ์” คือเว็บไซต์ที่วุฒินันท์เปิดขึ้นเพื่อขายอุปกรณ์มวยไทยทุกชนิด ที่เขาผลิตเองและส่งขายเอง ทั้งนวม กางเกงมวย อุปกรณ์ป้องกันเช่นสนับแข้ง เฮดการ์ด เวทีมวย กระสอบทราย ซึ่งตรงนี้หากค้นกูเกิลจะพบเรื่องราวของเขา และทาง “กูเกิล โครม” ยังได้เลือกเรื่องราวของเขานำมาทำเป็นโฆษณาชื่อว่า “ทูตมวยไทย”


"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผมพบเจอปัญหามาโดยตลอดและก็ได้คุยกับพาร์ทเนอร์ไม่ว่าจะดีเอชแอล หรืออีเบย์ ซึ่งเขาบอกว่าไทยเรามีเซลเลอร์หน้าใหม่ๆ ที่อยากขายของช่องทางนี้แต่ติดปัญหามากมาย ซึ่งผมมาคิดว่าน่าจะนำเอาโนว์ฮาวที่ผมมีมาทำเป็นโซลูชั่น ซึ่งเป็นที่มาของคลาวด์คอมเมิร์ซ"


ความคิดดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่าง กระทั่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา วุฒินันท์ได้ไปสมัครเข้าเรียนใน “ดิสรับ ยูนิเวอร์ซิตี้” ของ คุณกระทิง “เรืองโรจน์ พูนผล” เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ จากนั้นเขาก็ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ “ดีแทค แอคเซลเลอเรท” จากนั้นวุฒินันท์เลยอยู่ในฐานะ ซีอีโอ/ฟาวเดอร์ ของ CloudCommerce (คลาวด์คอมเมิร์ซ)


"นอกจากมวยไทย ผมทำธุรกิจอื่นๆ อีกหลายตัวมาก ก็เจ๊งไปเยอะ ทำเกี่ยวกับดนตรีก็มี ทำวิดีโอไวรัลมาร์เก็ตติ้งก็ทำ ได้ลองผิดลองถูกอะไรมาเยอะ เจ็บมาเยอะ ยิ่งตอนที่ผมได้ไปออกรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย ก็มีคนมาชวนทำไปอะไรเต็มไปหมดเลย ผมมองว่าตัวเองมือขึ้นเลยลุยแหลก สุดท้ายก็รู้ว่าอะไรที่เราไม่ถนัด ก็ไม่ควรทำ"


แต่ที่มั่นใจมากถึงมากที่สุด ก็คือ อีคอมเมิร์ซเป็นสิ่งเขาถนัดจริงๆ


เขาบอกว่า แพลตฟอร์มคลาวด์คอมเมิร์ซ จะเป็นโซลูชั่นสำหรับโอท็อปและเอสเอ็มอีไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ซึ่งอาจไม่มีประสบการณ์การค้าผ่านช่องทางนี้มาก่อน สินค้ามีวอลุ่มไม่มากพอ หรือติดขัดในเรื่องของภาษา วิธีการก็แค่เอาสินค้าที่อยากขายจัดส่งมาเพื่อให้ทางคลาวด์คอมเมิร์ซทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งโพสต์ขาย แพ็คของ และจัดส่งไปให้ถึงมือของลูกค้าทั่วโลก (ในเบื้องต้นยังไม่รับสินค้าที่เน่าเสียและมีราคาไม่เกิน 3 พันบาท)


“คีย์หลักอยู่ตรงที่ เราเป็นไอเดียใหม่ที่ทำให้คนทั่วไป ไม่ว่าใครก็ผลิตและขายสินค้าส่งออกได้”


คลาวด์คอมเมิร์ซยังมีลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “เทรดเดอร์” หรือพ่อค้าคนกลางที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเองแต่มองหาสินค้าไปวางขายบนอีเบย์ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 80% เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อพวกเขาโพสต์สินค้าในอีเบย์แล้วพอขายได้ ทางคลาวด์คอมเมิร์ซจะจองสินค้านั้นจากผู้ผลิตและทำการแพ็คส่งไปยังลูกค้าเลยเช่นเดียวกัน


"พวกเขาไม่ต้องจับของเลย เขาชอบมากเพราะเงินไม่ต้องจมกับการไปวิ่งหาของมาเก็บสต็อกไว้ บริการของเราจะให้เจ้าของสินค้าส่งสินค้ามาไว้ที่เรา ซึ่งแวร์เฮ้าส์ที่ใช้เก็บของก็มีอยู่แล้วเป็นที่เดียวกับที่ใช้เก็บอุปกรณ์มวยส่งออก"


ถามถึงโอกาสและความท้าทาย เขาบอกว่า มีความกังวลในเรื่องของคู่แข่งที่เป็นรายใหญ่ระดับโลกที่อาจเข้ามาแข่งในตลาดไทย รวมถึงจำนวนของผู้ขายในระบบที่ต้องหาวิธีเพิ่มให้ได้มากที่สุดในเวลาที่รวดเร็วที่สุด เพราะเมื่อคู่แข่งเข้ามาวิธีเดียวที่จะป้องกันได้ก็คือ การต้องรีบคุมตลาด รีบปักธงให้ได้เสียก่อน ด้วยจำนวนลูกค้าที่มีอยู่ในมือ ซึ่งภายในสิ้นปีนี้เขาตั้งเป้าว่าต้องมีผู้ขายเข้ามาอยู่ระบบทั้งหมด 1 พันราย


"ธุรกิจเราเป็นบีทูบี ผู้ขายที่จะเข้ามาอยู่ในระบบได้ต้องผ่านหลายขั้นตอน มันจะสเกลให้เร็วได้ยาก แต่ข้อดีของธุรกิจนี้ก็คือ เมื่อลูกค้าเข้ามาแล้วเขาจะอยู่กับเรานาน ต่างจากแอพต่างๆที่มีคนสมัครเข้ามาก็จริงแต่ก็ไม่ได้ใช้บริการจริง แต่ของเราเมื่อเซลเลอร์เอาสินค้ามาไว้ในแวร์เฮาส์ก็เหมือนคำมั่นว่ายังไงก็ต้องขาย เราไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพที่โตหวือหวาหรือเป็นรถดีเซลที่เหยียบได้แรงเลย แต่มีความเสถียร"


ในฐานะผู้มีประสบการณ์มาพอสมควร จึงได้ให้ฉายภาพอีคอมเมิร์ซของไทย เขาบอกว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยถือว่าพร้อมมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีคอมเมิร์ซที่ซื้อขายกันในประเทศถือว่าเวิร์คมาก


"คนไทยกับโซเชียลเน็ตเวิร์คถือว่าเวิร์คมาก คาแรคเตอร์อีคอมเมิร์ซไทยไม่เหมือนเมืองนอก ของไทยเป็นโซเชี่ยลคอมเมิร์ซคนซื้อขายผ่านทางเฟสบุ๊คผ่านทางไอจี เพราะคนไทยแม้จะเห็นของแล้วแต่ก็อยากคุยกับคนขายเพื่อให้แน่ใจอีกทีก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ต่างประเทศเขาจะซื้อขายผ่านมาร์เก็ตเพลส ผ่านอเมซอน ผ่านอีเบย์ ก็ขึ้นอยู่กับคัลเจอร์ของคนแต่ละประเทศ"


อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วสินค้าจะขายได้หรือไม่ ก็ไม่ได้อยู่ที่ตลาดกลาง และการเซอร์วิสที่ดี แต่สินค้าก็ต้องมีคุณภาพ มีจุดขาย มีดีไซน์ มีอะไรๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าของแต่ละประเทศด้วย


"ซึ่งเมื่อเราอินไซต์ในหลายประเทศ จนรู้ว่าคนประเทศนี้ชอบของประมาณไหน หากคิดจะส่งไปขายประเทศนั้นต้องเป็นสินค้าแบบไหน อีกหน่อยเราจะแอดแวลลูข้อมูลตรงนี้ให้ลูกค้าด้วย เพราะมันวินวิน ถ้าเขาได้เราก็ได้"

คิดลึก คิดกว้าง
ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพราะวุฒินันท์มีประสบการณ์อีคอมเมิร์ซมากว่าสิบปี อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการเริ่มต้นสตาร์ทอัพของเขากลับไม่ได้ผ่านฉลุย


เขายอมรับว่าแนวคิดจากประสบการณ์ซึ่งคิดว่าใช่ คิดว่าโอเค สำหรับคนอื่นแล้วกลับกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น โมเดลธุรกิจในตอนแรกของเขาไม่ได้มีบริการทุกอย่างให้กับลูกค้า แต่มุ่งเน้นเรื่องการบูรณาการเชื่อมคนซื้อกับคนขายเท่านั้น เพราะเขามีสมมุติฐานว่าผู้ขายไทยส่วนใหญ่ทำเว็บไซต์ขายเองแล้ว และทุกรายน่าจะแพ็คของเองส่งของเองได้ แต่พอได้คุยกับลูกค้าจริงๆ กลับพบว่าไม่มีใครทำเรื่องที่่ว่านี้เลย


" เป็นปัญหาของคนที่เป็นเทคนิคอล รู้เยอะมักคิดในแนวดิ่ง แต่พอได้คุยกับลูกค้าเยอะๆ ทำให้เราได้รู้และมาคิดขยายในเรื่องความกว้าง"


ถามถึงเรื่องของการระดมทุน คำตอบก็คือ “ยังไม่รีบ” คืออยากสร้างความพร้อมให้มากกว่านี้แต่ก็คงไม่นานเกินรอคาดว่าประมาณปลายปีนี้ พร้อมบอกถึงแผนโตว่าเมื่อตลาดเมืองไทยนิ่งก็จะบุกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพราะมองว่าพฤติกรรมของคนมีความคล้ายคลึงกัน