กสทช.แนะตั้งคณะทำงานหนุนไทยแลนด์ 4.0

กสทช.แนะตั้งคณะทำงานหนุนไทยแลนด์ 4.0

กสทช.แนะตั้งคณะทำงานหนุนไทยแลนด์ 4.0 หัวใจสำคัญต้องเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรงและครอบคลุมมากที่สุด

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การจะทำให้ประเทศขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ หรือก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง ภาครัฐ และเอกชนจะต้องร่วมกันหาจุดสมดุลระหว่างการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

โดยอาจดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและหน่วยงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Agency: CSA) ที่จะต้องเป็นอิสระและคล่องตัวในการบริหารจัดการ ตลอดจนจะต้องมีกลไกให้ภาคธุรกิจและประชาสังคมมีส่วนร่วมดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการดิจิทัลให้ผู้ใช้บริการ

นายฐากร กล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม คือการมุ่งสู่การปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้โดดเด่นด้านการเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม เช่นเดียวกับในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศนวัตกรรมอันดับต้นๆ ของโลกมาอย่างยาวนาน อันเนื่องมาจากภาครัฐส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในสินค้าและบริการที่สร้างสรรค์ มุ่งเน้นนวัตกรรมที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณนวัตกรรมที่ผลิตได้

การยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศลักษณะดังกล่าว จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน เช่น ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล ความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณด้านการศึกษาในระดับต่างๆ สาขาวิชาต่างๆ และการวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวข้อง การสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจ

ด้านไอซีที สัดส่วนรายได้ของประเทศจากสินค้า และบริการด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ สัดส่วนการลงทุนที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน จำนวนธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น และการเข้าถึงและใช้บริการไอซีทีผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้นักคิดนักพัฒนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อผลิตนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการแข่งขันในระบบนิเวศของไอซีทีอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน สู่ความสามารถในการแข่งขันกับภายนอก ทำให้ทุกคนก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพียงลำพัง

การผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่ยุคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม ต้องอาศัยการมีประสานความร่วมมือ และฉันทามติร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่กำลังหลอมรวมโลกในแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นโลกดิจิทัลที่ทุกภาคส่วนมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงถึงกัน

ดังนั้น การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลอย่างมีทิศทาง ทุกภาคส่วนต้องดึงศักยภาพและจุดแข็งของตัวเองออกมาปรับใช้แบบบูรณาการอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญต้องยึดถือเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันในการเดินหน้าประเทศไทย

“คำถามคือวันนี้ประเทศไทยพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือไม่ มีพื้นที่เพียงพอให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศเพื่อให้เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและเพิ่มศักยภาพของตัวเองให้ชาญฉลาดเท่าทันนวัตกรรมหรือไม่ และเงื่อนไขแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มศักยภาพหรือยัง ซึ่งสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญของการมุ่งสู่ความสำเร็จ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรงและครอบคลุมมากที่สุด”

เลขาธิการ กสทช. ระบุอีกว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องดำเนินการทั้ง 2 ส่วน คือ1. โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมแบบมีสาย ผ่านสายไฟเบอร์ ออพติก ทั้งระดับคอร์ เน็ตเวิร์ค และลาส ไมล์

2. โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมไร้สายผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับความเร็วการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เร็วขึ้นจากเดิม 10 เท่า มีความเสถียร และครอบคลุมพื้นที่ใช้บริการทั่วประเทศด้วยราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และให้เกิดความครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็เพื่อให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยมีมาตรฐานสากลและไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่