เคาะสมาชิกริเริ่มก่อตั้งพรรคใหม่500คน กระจาย4ภาค

เคาะสมาชิกริเริ่มก่อตั้งพรรคใหม่500คน กระจาย4ภาค

“โฆษก กรธ.” เผยทำร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง คืบ 20 มาตรา ปรับเกณฑ์สมาชิกก่อตั้งพรรคใหม่เหลือ500คนกระจาย4ภาค

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมกรธ. วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ปรับปรุงโดยคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า การพิจารณามีความคืบหน้าและพิจารณาแล้วเสร็จ ส่วนของการจัดตั้งและจดทะเบียนพรรคการเมือง โดยเนื้อหาที่พิจารณาในเบื้องต้น คือ กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมือง สามารถดำเนินการได้ โดยการริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมือง โดยคณะผู้เริ่ม ไม่น้อยกว่า15คน ซึ่งยื่นรายละเอียดไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากนั้นให้ผู้ริเริ่มดำเนินการหาสมาชิกพรรคการเมือง ให้ได้ไม่น้อยกว่า500คน ซึ่งต้องมีสัดส่วนสมาชิกที่กระจายตัวไปในแต่ละภูมิภาค คือ ภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และด้วยวิธีการที่ผู้ริเริ่ม พร้อมด้วยสมาชิก ซึ่งไม่น้อยกว่า500คนสามารถยื่นจัดตั้งพรรคการเมือง ต่อ กกต. ได้ทันที จากเดิมที่กกต.เสนอให้มีสมาชิกพรรคเริ่มต้น5,000คน ภาคละไม่น้อยกว่า500คน อย่างไรก็ดีตามเนื้อหาได้กำหนดให้ผู้ริเริ่ม และสมาชิกพรรคการเมือง ฐานผู้ร่วมก่อตั้งต้องชำระเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมให้พรรคการเมือง ประมาณ2,000บาท เพื่อใช้ในกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ซึ่งกรธ. ประเมินว่าเมื่อช่วงก่อตั้งพรรคการเมือง ควรมีเงินทุนดำเนินการ อย่างน้อย1ล้านบาท ซึ่งได้จากสมาชิกพรรคผู้ก่อตั้ง และเพื่อเป็นหลักที่ทำให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในพรรคได้

นายอุดม กล่าวด้วยว่า สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีระบบสมาชิกไว้อยู่แล้ว แต่ในกรณีของพรรคที่จะก่อตั้งใหม่หรือพรรคขนาดเล็กนั้น อาจมีปัญหาเล็กน้อยในกรณีขั้นตอนทางทะเบียน ที่อาจต้องมีหลักฐานเอกสารการยินยอม ประกอบกับบัตรประชาชน เป็นต้น อย่างไรก็ดีการตรวจสอบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองนั้น เจ้าหน้าที่กกต. ที่เข้าร่วมประชุม ระบุว่าไม่มีปัญหาเพราะมีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบ ทั้งนี้หากพบว่าบุคคลใดมีรายชื่อเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อนกับพรรคการเมืองอื่นต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน อย่างไรก็ดี กรธ. มีแนวคิดด้วยว่าในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองนั้นจะมีประเด็นทางด้านสังคมอื่นๆ เพิ่มเติม จากบทบาทของนักการเมืองที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือกิจกรรมเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งกลไกดังกล่าวต้องพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ประกอบกับการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย

“ในการพิจารณาของกรธ. นั้น เรียกว่าอยู่ในระยะเร่งรัดพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งหลังจากนี้กรธ. ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กกต.เข้าร่วมประชุมทุกครั้งเพื่อสอบถามความเห็นในทางปฏิบัติและเจตนารมณ์ของการยกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับที่ กกต. นำเสนอ ทั้งนี้กรธ. ได้วางแผนทำงานว่าภายหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญใช้บังคับ ซึ่งกรธ.คาดคะเนและประเมินกันเองว่าอาจอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือ เดือนธันวาคมนี้ จะส่งเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองและ ร่าง พ.ร.บ.กกต. ให้สนช. พิจารณาทันที” นายอุดม กล่าว

ทางด้านนายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. เปิดเผยด้วยว่าการประชุมของกรธ. ต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ล่าสุดได้พิจารณาไปแล้ว20มาตรา โดยหลังจากนี้ในการพิจารณาร่าง กฎหมายดังกล่าวทุกครั้งจะเชิญตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของสำนักงาน กกต. เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง เพื่อสอบถามความเห็นและการปฏิบัติงานรวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเด็นที่หารือไปแล้วนั้น อาจนำกลับมาทบทวนได้อีกครั้งเมื่อมีข้อสังเกตเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมกรธ. ช่วงบ่ายวันที่26ต.ค. นี้ ยังคงพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในหมวดว่าด้วยการดำเนินกิจการ การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการกำหนดนโยบายเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง