บ้านปูเพาเวอร์พร้อมเทรด28ต.ค.-นักลงทุนจองหุ้นหมดเกลี้ยง

บ้านปูเพาเวอร์พร้อมเทรด28ต.ค.-นักลงทุนจองหุ้นหมดเกลี้ยง

“บ้านปูเพาเวอร์” เผยนักลงทุนจองซื้อหุ้นไอพีโอหมดเกลี้ยง พร้อมเข้าเทรดวันที่ 28 ต.ค. นี้

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และพลังงานหมุนเวียน ในภูมิภาคเอเชีย ในกลุ่มบ้านปูฯ ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายให้แก่นักลงทุนทุกกลุ่มโดยมีผู้สนใจจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ครบทั้งหมด 648,492,500 หุ้น และกำหนดวันซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรกวันที่ 28 ต.ค.นี้

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า ตามที่บ้านปู ได้กำหนดระยะเวลาการจองซื้อและการชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บ้านปู เพาเวอร์ เพื่อเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศระหว่างวันที่ 18-20 ต.ค.ที่ผ่านมา ราคา 21 บาทต่อหุ้นนั้น หุ้นบ้านปู เพาเวอร์ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทุกกลุ่มอย่างมาก และสามารถขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้ครบตามที่จัดสรรไว้ทั้งหมด 648,492,500 หุ้น คิดเป็นเงิน 13,600 ล้านบาท 

โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ส่วนแรกจะนำมาชำระเงินกู้คืนให้แก่บ้านปู ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน 

ทั้งนี้บ้านปู เพาเวอร์ ยังคงมีบ้านปู เป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 78% โดยมีปรัชญาการดำเนินงานที่ตั้งอยู่ในหลักบรรษัทภิบาล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไปในระยะยาว

ด้าน นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปู เพาเวอร์ เชื่อมั่นว่าประสบการณ์การดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของทีมบริหารที่สั่งสมมากว่า 20 ปี ในเอเชีย ประกอบกับกลยุทธ์การกระจายการลงทุนการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคในประเทศ ที่ความต้องการด้านพลังงานและการใช้ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตสูง โดยการผสมผสานทั้งพลังงานเชื้อเพลิงพื้นฐาน และพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ อย่างสมดุล จะช่วยผลักดันให้บริษัท ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วรวมทั้งหมด 1,913 เมกะวัตต์เทียบเท่า สามารถเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า ภายในปี 2568