รหัส 3-4-3 การคืนชีพของ 'เชลซี'

รหัส 3-4-3 การคืนชีพของ 'เชลซี'

ในความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 นอกจากจะนำไปสู่คำถามมากมายในรั้ว โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด แล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องของ เชลซี ในยุคของ อันโตนิโอ คอนเต ในเวลาอันสั้น

จากที่เคยมีแต้มตามหลัง แมนเชสเตอร์ ซิตี จ่าฝูงถึง 8 คะแนนในชั่วขณะหนึ่ง นาทีนี้ “สิงโตน้ำเงินคราม” ลดช่องว่างดังกล่าวเหลือเพียงแค่ 1 เท่านั้น ในเวลาเพียงสามสัปดาห์

อดีตโค้ชทีมชาติอิตาลีตัดสินใจปรับแท็กติกเป็น 3-4-3 ในครึ่งหลังของเกมกับ อาร์เซนอล แม้ไม่อาจช่วยให้รอดพ้นความพ่ายแพ้ในวันนั้น แต่การกดดันอีกฝ่ายได้จนจบแมตช์ ก็กลายเป็นกุญแจไขสู่ทางออกที่ คอนเต กำลังค้นหา

3-4-3

มองผิวเผิน ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เรียบง่าย ผู้เล่น 11 คน มีเป้าหมายในการทำประตูให้ได้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม แต่ที่จริงแบบแผนและรูปแบบการเล่น มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดอายุของมัน ไม่ว่าจะ 3-5-2 ของ การ์ลอส บิลาร์โด ที่นำ อาร์เจนตินา คว้าแชมป์โลก 1986 จนถึง ฟอลส์ ไนน์ (False 9) ที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา นำมาใช้กับ บาร์เซโลนา

3-4-3 ไม่ใช่ของใหม่ เป็นรูปแบบการเล่นหลักของ อาแจ็กซ์ และ บาร์เซโลนา โรงเรียนลูกหนังชั้นนำของโลกมาเป็นเวลานาน แต่กลับไม่เป็นที่นิยมนัก จนเมื่อเร็วๆนี้เอง ที่รูปแบบการเล่นนี้กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง

โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ในบุนเดสลีกา ปาแลร์โม และ เจนัว ในเซเรีย อา ทีมชาติเบลเยียมของ โรแบร์โต มาร์ติเนซ หรือแม้แต่ในพรีเมียร์ลีก ที่นิยมการเล่นกองหลัง 4 คนมาช้านาน ก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง

ทั้ง แมนเชสเตอร์ ซิตี ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา เวสต์แฮม ของ สลาเวน บิลิช รวมถึง เชลซี ของ อันโตนิโอ คอนเต

จุดเปลี่ยน

กองหลัง 3 ตัว เป็นสิ่งที่ คอนเต ใช้มาตั้งแต่สมัยนำ ยูเวนตุส ประสบความสำเร็จ แต่กับ เชลซี ในช่วงต้นฤดูกาล อดีตโค้ชทีมชาติอิตาลี เลือกใช้รูปแบบ 4-1-4-1 เพื่อให้ จอห์น เทอร์รี และแนวรับชุดหลักที่ร่วมงานกันมานาน ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง โดยมี เอ็นโกโล กองเตสมาชิกใหม่จาก เลสเตอร์ ปักหลักอยู่ด้านหน้า

แต่อาการบาดเจ็บของ เทอร์รี จนพลาดสองเกมสำคัญกับ ลิเวอร์พูล และ อาร์เซนอล และปัญหาในเกมรับ กลายเป็นจุดพลิกผันให้ คอนเต ตัดสินใจเปลี่ยนแปลง

ในเกมที่ เอมิเรตส์ สเตเดียม คอนเต ถอด เชส ฟาเบรกาส ที่ไม่มีบทบาทออก ส่ง มาร์กอส อลอนโซ ลงไปเป็นวิงแบ็กซ้าย และปรับการเล่นเป็น 3-4-3 ผลลัพธ์ที่ได้เกินคาด เพราะ อลอนโซ ช่วยให้ เอแดน อาซาร์ มีอิสระในเกมรุกมากขึ้น ในการประสานงานร่วมกับ ดิเอโก กอสตา และ เปโดร ที่ถูกส่งมาสมทบ

ขณะที่เกมรับซึ่งเป็นปัญหามาตลอด ก็แน่นขึ้น เมื่อ เอ็นโกโล ก็องเต ได้ เนมานยา มาติช มาช่วยแบ่งเบาภาระ ไม่ให้ต้องทำงานหนักเกินไป

ความแตกต่าง

แม้จะมีปัจจัยและบริบทอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ตัวเลขสถิติก็สามารถใช้บ่งบอกได้ว่าการปรับหมากครั้งนี้ของ คอนเต ได้ผลหรือไม่

6 นัดแรกในพรีเมียร์ลีก ที่ใช้รูปแบบ 4-1-4-1 เชลซี มีค่าเฉลี่ยทำประตูได้เพียง 1.67 ขณะที่ 3 นัดหลังสุด ในระบบ 3-4-3 สิงโตน้ำเงินครามยิงเฉลี่ยนัดละ 3 ประตู ส่วนโอกาสยิงประตูเพิ่มขึ้นจาก 16.67 ครั้ง ต่อนัด เป็น 17.3 ต่อนัด ในเกมรับ เชลซี ลดโอกาสการยิงตรงกรอบของฝ่ายตรงข้าม จาก 2.83 ต่อนัด เหลือ 2.3 ต่อนัด และยังไม่เสียประตูเลย ขณะที่ 6 นัดแรก มีค่าเฉลี่ยเสียประตูอย่างน้อย 1.5 ลูก ต่อนัด

ขณะที่สถิติในเกมกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็แสดงให้เห็นว่าลูกทีมของ คอนเต เคลื่อนไหว และครอบคลุมพื้นที่ในสนามได้มากกว่า ด้วยระยะรวม 115.88 กม. มากกว่าฝั่ง ยูไนเต็ด ถึง 8.54 กม.

 

ผู้ได้รับผลกระทบ

นอกจาก ฮัลล์ ซิตี, เลสเตอร์ และ แมนฯ ยูไนเต็ด ในฐานะผู้โชคร้าย การปรับรูปแบบมาเป็น 3-4-3 ของ คอนเต ก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้เล่นในทีมด้วย

มาร์กอส อลอนโซ อาจไม่เด่นในเกมรับ แต่รูปแบบการเล่นใหม่ เอื้อให้ไม่ต้องพะวงกับบทบาทนี้มากนัก เช่นเดียวกับ วิคเตอร์ โมเสส นักเตะผู้ถูกลืมในยุคก่อน แต่กลับมาแจ้งเกิดได้อีกครั้งในตำแหน่งวิงแบ็กขวา เช่นเดียวกับ อาซาร์ ที่ออกปากด้วยตัวเอง ว่ามีอิสระในการเล่นมากขึ้น 

กลับกันเสือเฒ่าอย่าง บรานิสลาฟ อิวาโนวิช น่าจะเป็นผู้ได้รับเคราะห์กลุ่มแรก เมื่อ คอนเต มองว่าความคล่องตัวของ เซซาร์ อัซปิลิกวยตา เหมาะกับการเล่นเซนเตอร์ฮาล์ฟฝั่งขวา และนั่นอาจรวมถึง จอห์น เทอร์รี กัปตันทีมผู้ร่วงโรยด้วย เชส ฟาเบรกาส ที่ไม่ถนัดเกมรับคงยากจะเป็นตัวจริง ตราบใดที่ คอนเต เห็นว่าคู่ของ “ก็องเต-มาติช” เหมาะกว่า เช่นเดียวกับ ออสการ์ ที่คงเป็นตัวเลือกลำดับท้ายๆในแนวรุก เพราะนอกจาก อาซาร์ ยังมี เปโดร และ วิลเลียน ที่น่าจะได้รับโอกาสก่อน

แม้ในโลกของฟุตบอลทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่ดูเหมือนตอนนี้ คอนเต จะหากุญแจไขทางไปต่อสำหรับตนกับ เชลซี ได้แล้ว เหมือนที่เจ้าตัวเคยว่าไว้ ระบบที่ผมชื่นชอบคือระบบที่นำทีมไปสู่ชัยชนะ”  

กรุงเทพธุรกิจ