นักลงทุนเชื่อมั่นหลัง 'ตลาดเงิน-ทุน' เข้าสู่ปกติ

นักลงทุนเชื่อมั่นหลัง 'ตลาดเงิน-ทุน' เข้าสู่ปกติ

ธปท.ชี้นักลงทุนเชื่อมั่น หลัง "ตลาดเงิน-ทุน" เข้าสู่ภาวะปกติ มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีหน้าดีขึ้น แม้ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ชะลอตัวบ้าง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ตลาดเงินและตลาดทุนของไทยถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจและระบบการเงินของไทย โดยช่วงที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก แต่เราก็สามารถผ่านพ้นมาได้ด้วยดี

“ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาเศร้าโศกของคนไทยทุกคน ซึ่งทางแบงก์ชาติพยายามทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ต่างๆ ในตลาดเงินและตลาดทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่า ช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านเหล่านี้ ตลาดเงินและตลาดทุน จะสามารถทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายวิรไท ยอมรับว่า ระยะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางประเภทอาจชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ทางธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่ง ธปท. มีทีมงานที่คอยติดตามดูแลและคอยประเมินสถานการณ์ในเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว

สำหรับสถานการณ์ในตลาดการเงิน ณ ปัจจุบันนั้น พบว่า ตลาดโดยรวมยังมีเสถียรภาพและธุรกรรมต่างๆเป็นไปด้วยความปกติ และการที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวกลับขึ้นมาเร็ว จนเข้าสู่ภาวะปกติ ก็เป็นเครื่องสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดีว่าระบบเศรษฐกิจไทยจะสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รับเศรษฐกิจไตรมาส 4 ชะลอ

ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอาจได้รับผลกระทบบ้างจากบรรยากาศของประเทศที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้า

อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะที่ตลาดการเงินและตลาดทุนเองก็ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่มีต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง และความมีเสถียรภาพของตัวตลาด

“เศรษฐกิจไทยยังน่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่เป็นไปได้ว่าระยะสั้นกิจกรรมบางส่วนอาจชะลอลงไปบ้าง”

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้า ถ้าดูจากปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ เชื่อว่าจะไม่เลวร้ายไปกว่าปีนี้ แม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่แนวโน้มคิดว่าจะเติบโตได้ดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยเกื้อหนุนอื่นๆ ที่เห็นไม่ได้สะท้อนภาพที่เลวร้ายลง เช่น สภาพอากาศ ซึ่งปีที่แล้วเราโดนผลกระทบจากภัยแล้ง แต่เท่าที่ดูอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก สะท้อนภาพภัยแล้งที่ไม่น่าจะรุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้นบ้าง ทำให้กำลังซื้อของประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันน่าจะดีขึ้น และอาจทำให้การส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวได้ โดยราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นไม่อยากให้มองเป็นปัจจัยลบอย่างเดียว เพราะถ้าดูการลงทุนในสหรัฐจะเห็นว่า พอราคาน้ำมันปรับลดลง การลงทุนภาคเอกชนของสหรัฐก็ลดลงตามไปด้วย

สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ นางรุ่ง กล่าวว่า ยังคงเป็นภาพของการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ยังไม่ดีนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังได้ภาคการท่องเที่ยวมาช่วย ประกอบกับภาครัฐสามารถเบิกจ่ายได้ดีกว่าที่ ธปท. คาดการณ์เอาไว้ จึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องแม้ว่าภาครัฐจะเริ่มมีการลงทุนออกมาค่อนข้างมากแล้วก็ตามนั้น นางรุ่ง กล่าวว่า เรื่องนี้ ธปท. ก็มีการศึกษาเช่นกันว่า ทำไมการลงทุนภาครัฐออกมาค่อนข้างมากแล้ว แต่การลงทุนภาคเอกชนจึงยังไม่ตามมากนัก ซึ่งพบว่า หัวใจสำคัญสุดของการลงทุนที่แท้จริง คือ ความต้องการของผู้บริโภค หากความต้องการมีไม่มาก ภาคเอกชนก็ยังไม่พร้อมที่จะลงทุน

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาคบริการที่มากขึ้น ซึ่งการลงทุนในภาคบริการมักน้อยกว่าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นในแง่เม็ดเงินลงทุนก็ต้องทำใจว่า อาจจะมีไม่มากเท่ากับในอดีต

“การลงทุนสร้างโรงแรม กับการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมัน จะเห็นว่าเม็ดเงินก็แตกต่างกันแล้ว”
ทั้งนี้ประมาณการล่าสุดของ ธปท. ยังคงประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าไว้ที่ 3.2%

นักวิชาการเชื่อศก.ปีหน้าดีขึ้น

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโต 3.0% การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ไม่ได้เกิดขึ้นมา 4 ปี ก็มีความหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ในปีหน้า

จากการสำรวจของเวิลด์แบงก์พบว่าอุปสรรคของไทยมี 3 เรื่องคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ระบบคมนาคม และดีมานด์

ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศจีน ว่าจะมีการปรับตัวจากประเทศที่พึ่งการส่งออกมาพึ่งการบริโภคในประเทศได้หรือไม่ เท่าที่ดูก็ทำได้ดี และจะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกของไทยด้วย ส่วนปัจจัยลบคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะกระทบกับจีนมาก อย่างไรก็ตามในส่วนของไทย ฐานะการเงินและการคลังดี มั่นใจว่ารับมือได้

“นโยบาย 4.0เป็นแผนที่ดีและเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาว20ปีที่จะให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การโตจากภาคบริการ ภาคส่งออกคงไม่ใช่ภาคเอกเหมือนเดิม ผู้ประกอบการก็ต้องโยกย้ายส่วนระยะสั้นเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ภาคส่งออกยังไม่ฟื้นตัว”

กำลังซื้อเพิ่มหลังรถคันแรกหมด

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ว่าในปีนี้รัฐบาลจะมีการลงทุนจำนวนมาก แต่เป็นการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก ทำให้ภาคเอกชนไม่ได้มีการลงทุนตาม เห็นได้จากสินเชื่อในช่วง 8 เดือนแรกไม่มีการเติบโตเลย อย่างไรก็ตามหากในปีหน้า รัฐบาลลงทุนโครงการขนาดใหญ่ การลงทุนของเอกชนน่าจะตามมา

นอกจากนี้มองว่าปีหน้ายังมีปัจจัยบวก เรื่องกำลังซื้อที่อาจจะมีมากขึ้น จากภาระหนี้รถยนต์คันแรกที่จะเริ่มหมดไปในช่วงครึ่งปีหลังถึง ปลายปีหน้า ซึ่งมีคนใช้สิทธิซื้อรถคันแรก ประมาณ 1 ล้านคัน เป็นภาระหนี้กว่า 6 แสนล้านบาท หากคิดว่ามีคนที่ใช้สินเชื่อครึ่งหนึ่ง ก็ 3 แสนล้านบาท เมื่อหนี้ก้อนหนี้หมดไป น่าจะมีกำลังซื้อไปกลุ่มอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัย หรือ โทรทัศน์ เป็นต้น

“เศรษฐกิจปีหน้าดีกว่าปีนี้เล็กน้อย ประเด็นบวกคือหนี้ครัวเรือน เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อกลับมา อะไรที่เป็นอุปสรรคในปีนี้ เช่นการใช้จ่ายภาครัฐ ก็อาจจะยังมีอยู่ แต่โดยรวมทุกคนพอใจพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ทั้งฐานะการเงิน และฐานะการคลัง ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้”