กนพ.ไฟเขียวพัฒนาที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัด

กนพ.ไฟเขียวพัฒนาที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัด

กนพ.อนุมัติพัฒนาที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัด ใช้พื้นที่ 8,000 ไร่ในจ.กาญจนบุรี รองรับอุตสาหกรรมเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 3/2559 ว่า ที่ประชุม กนพ.ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รายงานความคืบหน้าการจัดพื้นที่ราชพัสดุเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัด คือ จ.กาญจนบุรี จ.ตราด และจ.นราธิวาส

โดยเห็นชอบผังการจัดพื้นที่ราชพัสดุเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ในพื้นที่ 8,193 ไร่ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรม 4,898 ไร่ หรือ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะใช้สำหรับอำนวยความสะดวก เช่น พื้นที่ศุลกากร ประมาณ 1,000 ไร่ และที่เหลือดูแลชุมชน พื้นที่สำหรับให้ส่วนราชการเข้าไปใช้ประโยชน์

ส่วนการจัดพื้นที่ราชพัสดุเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกของ คณะทำงานสรรหา คัดเลือก และเจรจาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ให้บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาที่ราชพัสดุ บนพื้นที่ 895 ไร่ ตามที่กรมธนารักษ์เสนอ เนื่องจาก มีผู้เสนอโครงการเพียงรายเดียว และเสนอผลตอบแทนค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ อยูที่ 169 ล้านบาท สูงกว่าที่ภาครัฐกำหนดที่ 143 ล้านบาท

โดยเสนอพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ Golden Gate Way หรือ ประตูการค้าสู่ภูมิภาค เน้นการท่องเที่ยว เมืองอาหารปลอดภัย ส่งเสริมสินค้าเกษตร และมีศูนย์ราชการ เป็นแหล่งบริการประชาชน พัฒนาโรงพยาบาล และสถาบันการเงิน ในอนาคต ภายใต้ลงทุน 3,000 ล้านบาท อายุสัญญา 50 ปี ซึ่งภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากอัตราค่าเช่า 26,000 บาทต่อไร่ต่อปี รวมตัวเลขการลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท อีกทั้ง กนพ.ยังเห็นชอบให้สิทธิขายสินค้าปลอดภาษี (Tax free zone) แทนการขอเพิ่มระยะเวลาให้สิทธิภาษีนิติบุคคล

ด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กนพ. ยังเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อการลงทุนในที่ราชพัสดุ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะเปิดประมูลในครั้งต่อไป อาทิ คลายระยะเวลาจัดทำข้อเสนอการลงทุนจาก 60 วัน เพิ่มเป็น 90 วัน และเปิดกว้างให้ผู้เสนอการลงทุนสามารถเสนอผลงานย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี และการจัดทำข้อเสนอโครงการสมารถเสนอวิธีการคำนวนโครงการแบบง่ายได้ รวมถึงเพิ่มเติมคำจำกัดความของนิคมอุตสาหกรรม ให้ครอบคลุมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น การค้า การลงทุน โลจิสติกส์ บริการ หรือภาคการผลิต

ส่วนการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าประมูลพัฒนาที่ราชพัสดุในเขตเศรษฐกิจพิเศษในครั้งต่อไป คาดว่า จะสามารถเปิดได้ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จำนวน 5 แปลง ซึ่งจะเป็นแปลงที่เหลือทั้งหมด