ปราชญ์ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

ปราชญ์ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

พอเพียง=พอประมาณ-มีเหตุผล-มีภูมิคุ้มกัน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระมหากษัตริย์นักพัฒนาของปวงชนชาวไทย ที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล มองเห็นปัญหาการ “ถาโถม” ของกระแส “ทุนนิยม” (Capitalism) จากซีกโลกตะวันตก สู่ ซีกโลกตะวันออก ตามแรงเหวี่ยงของโลกาภิวัฒน์ (Globalization) 

ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมไทย ที่ก้าวสู่ยุค “บริโภคนิยม” (Consumerism) 

โดยพระองค์ มีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ มาตั้งแต่ปี 2517 หรือก่อนที่ประเทศไทย จะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ในปี 2540 

ปวงชนชาวไทยจึงตระหนัก !

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสย้ำเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ว่า ปรัชญาดังกล่าว คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่าง “มั่นคง” และ “ยั่งยืน” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังทำให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) นำพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549)

ในระดับโลก พระองค์ท่านยังได้รับการถวายรางวัล Lifetime Achievement Award สาขา Human Development จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดีพี ในปี 2551 ฐานที่เป็นผู้จุดประกาย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับอารยประเทศทั่วโลก 

ขณะที่ในไทย หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ภาคธุรกิจใหญ่น้อย ต่างน้อมนำ ปรัชญาของพระองค์ มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้าง “ภูมิคุ้มกันธุรกิจ” จากบทเรียนสาหัสที่ได้รับ

เครือสหพัฒน์ หนึ่งในองค์กรเก่าแก่กว่า 7 ทศวรรษ นอกจากจะมีภาพลักษณ์องค์กรคนดี มีคุณธรรม การดำเนินธุรกิจยังได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจตั้งแต่ต้น 

“บุญเกียรติ โชควัฒนา” ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือสหพัฒน์ ฉายภาพว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนับว่าเป็นแนวคิดที่ดียิ่ง ที่พระองค์ท่านพระราชทานให้แก่พสกนิการชาวไทยมากว่า 30 ปี เหมาะสมกับประเทศไทยในยุคนั้นที่เศรษฐกิจเริ่มก้าวหน้า คนไทยใช้เงินมาก โดยอาจไม่ได้พิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้หรือไม่ และยังนำเงินในอนาคตออกมาใช้ หรือ การกู้ ก่อหนี้ นั่นเอง

คำสอนของพระองค์จึงเป็นการย้ำเตือนไม่ให้คนไทย “ใช้เงินเกินตัว” ไม่ใช่มีเงินเยอะแล้วใช้น้อย แต่หมายถึงต้องใช้ให้เหมาะสมกับฐานะ รายได้ของตน ใช้เงินอย่างมีเหตุมีผล

ในส่วนของไอ.ซี.ซี. ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยองค์กรจะไม่ใช้เงินเกินตัว ไม่ฟุ่มเฟือย บริหารธุรกิจให้มีเงินเหลือ และหากจะใช้จ่ายลงทุนต้องมีเหตุและผลรองรับ โดยคำพูดสมัยใหม่เรียกว่า “ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ” (Feasibility study) ในอดีตทำเรื่องนี้กันน้อย อีกทั้งต้องเลือกลงทุนที่เหมาะสม ไม่โลภ ไม่ลงทุนในสิ่งที่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ การตัดสินใจลงทุนหรือทำโครงการต่างๆของบริษัท จะไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว ต้องปรึกษาหลายคน และประเมินความเสี่ยง เพิ่มความระมัดระวัง  ทำให้การเติบโตของธุรกิจเกิดจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ 

“การลงทุนมีความเสี่ยง หากระมัดระวังความเสี่ยงมากไปอาจไม่เกิดการลงทุน แต่บางคนไม่กลัวความเสี่ยง เพราะโลภ อยากได้ผลลัพธ์ ผลตอบแทนดีๆ ซึ่งผมก็เคยได้รับการนำเสนอการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดี ดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้ Too good to be true  (เหลือเชื่อ) แต่ก็ไม่สนใจและมองว่าความโลภนั้นอันตราย”

ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ไอ.ซี.ซี. ยอดขายตกวูบ แต่บริษัทมีกระแสเงินสดมากขึ้น จากการนำปรัชญานี้มาใช้ ทำให้ธุรกิจพลิกฟื้นได้ภายใน 3 ปี 

“ตอนนั้น ประธานเครือสหพัฒน์ บอกว่าเราหลุดพ้นจากวิกฤติปี 40 เรารอดแล้ว เพราะใช้ความเพียร ขยันหมั่นเพียร อดทน และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด”

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าธุรกิจที่ขับเคลื่อนอย่างพอเพียง จะช่วยให้ก้าวข้ามสถานการณ์ดังกล่าวได้

“พระราชดำรัสนี้ใช้ได้ตลอดเวลาในชีวิต และทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิตของแต่ละคน หากทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้”

@“พอเพียง”กุญแจเคลื่อนโตชิบาฯ

“โตชิบา ไทยแลนด์” ดำเนินธุรกิจผลิตและทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ย่างเข้าปีที่ 48 โดยองค์กรผ่านเหตุการณ์ต่างๆมามากมาย โดยเฉพาะปี 2540 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ “หนักที่สุด” ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ประโยคย้อนอดีตที่ “กนิษฐ เมืองกระจ่าง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เล่าถึงองค์กร

ห้วงเวลานั้นองค์กรจึงกล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพระมหาชนก พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้อมนำมาปรับตัวภายในองค์กร ว่าจะทำอะไรต้อง “ไม่ก้าวกระโดด” ย้อนดูว่า “จุดแข็ง” ของบริษัทอยู่ตรงไหน 

“ตอนนั้นพ่อแม่ (ดร.กร - ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์) ยังมีชีวิตอยู่ ได้ให้คติพจน์ (Motto) ประจำใจซึ่งล้วนน้อมนำมาจากพระบรมราโชวาทในหลวง ร.9 อย่างแรก คือ ใจสู้ สองคือ ความพากเพียร สามคือ ประหยัดฉลาดใช้ เป็นสิ่งที่ยึดถือมาตลอด”

ทั้งนี้ ไม่ว่าธุรกิจจะเผชิญปัญหาใด ต้องบอกตัวเองเสมอว่า “ต้องมีทางออก-อย่าท้อถอย” พยายามหาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ธุรกิจจึงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ปัจจุบัน“เราอยู่อย่างพอเพียง” เธอย้ำ และขยายความว่า นับจากปี 2540 องค์กรมีความแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งในเวลานั้น ผู้บริหารต่างลดเงินเดือนและผลตอบแทนของตนเอง เพื่อให้ค่าใช้จ่ายขององค์กรลดลง

การทำงานยังต้อง “รู้ลึก-รู้จริง” และ “ผู้รู้ต้องรู้จักถ่ายทอด” สอน (โค้ชชิง) ให้คนอื่นเก่งและทำเป็นด้วย เพื่อสร้างให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ หากมีการลงทุน บริษัทจะไม่เน้นกู้หนี้ยืมสิน เพราะมองว่าไม่นาน ก็ต้องหาเงินคืนเจ้าหนี้ มีภาระดอกเบี้ย แต่จะใช้กำไรจากการดำเนินธุรกิจมาเป็นทุนในการขยายกิจการ หากจำเป็นต้องกู้ ก็จะรีบหาทางคืนเงินโดยเร็ว

“เรียนรู้จากปี 40 หากมีโอกาสเข้ามา บริษัทจะพิจารณาความเสี่ยงและปัจจัยโดยรอบก่อน มีบางสิ่งที่อยากทำ แต่ถ้าไม่เก่ง ไม่เข้มแข็ง อย่าไปทำ ส่วนนโยบายการลงทุนต้องระมัดระวัง เราไม่เน้นกู้เพราะคือภาระ

กับคำถามถึงภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อเปราะบาง เธอเชื่อว่า ธุรกิจสามารถเติบโตได้ภายใต้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

@อมตะฯ ชนะไปด้วยกัน

เป็นนักพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ที่ระยะหลังผันตัวเป็นนักเขียน สำหรับ“วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เขาบอกว่า องค์กรน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ใน 3 ด้าน

1.ไม่ทำเกินกำลัง พร้อมยกตัวอย่าง อมตะค่อนข้างเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง บางโครงการที่ลงทุนไม่มีหนี้ ขณะเดียวกันจะไม่เน้นแตกไลน์ธุรกิจไปทำอย่างอื่นที่นอกจากการขายที่ดิน และลงทุนสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม

หลักการของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือทำให้พอดี เราจะไม่ทำธุรกิจที่ไม่ถนัด ไม่แตะเลย เพราะเรายึดคำว่าพอดี ระวังการลงทุน”

2.ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นสิ่งที่อมตะจะไม่ยอมหยุดนิ่ง โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี กราฟการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจเป็นขาขึ้นตลอด “พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้!”เขาบอก 

และ 3.ไม่มีคำว่า win win ชนะแค่ 2 ฝ่าย แต่ให้ความสำคัญกับ All win คือ “ชนะร่วมกันทั้งหมด” กิจการที่ทำต้องไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

--------------------------------------

SMEs ยึดคำพ่อ “พอเพียง คือ มั่นคง”

ดินสอแท่งสีชมพูจรดวาด พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยตั้งใจใช้ดินสอเพียงแท่งเดียว เพื่อบอกเล่าแนวพระราชดำรัส ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการรู้จักประมาณตน ที่พ่อของแผ่นดินเคยฝากคำสอนไว้

เราได้เห็นผลงานสวยๆ จากหัวใจ ระหว่างสัมภาษณ์ “จุฑามณี อาจกล้า” เจ้าของแบรนด์ Nineshop99 ผลิตภัณฑ์แฟชั่นจากการ์ตูนคาแรคเตอร์ เอสเอ็มอีนักสู้ที่วันนี้หยุดวางทุกสิ่งอย่าง แม้แต่ความโศกเศร้า เพื่อมาสร้างผลงานระลึกถึงพระองค์ท่าน เธอตั้งใจนำผลงานชิ้นนี้ไปถ่ายทอดแนวคิดดีๆ ให้กับผู้คน

“พระองค์ท่านทรงสอนให้เราพอเพียง ให้ใช้สิ่งที่เรามี ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีแค่นี้ก็ทำแค่นี้ จะได้เกิดความสุข ซึ่งตลอดที่ผ่านมา ตนเองก็พยายามยึดแนวทางนี้มาโดยตลอด ทำธุรกิจและใช้ชีวิต อยู่บนความพอเพียง รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น พยายามเป็นคนดีได้อย่างที่พระองค์ท่านอยากให้พวกเราเป็น และเราก็อยากเป็นเช่นนั้น”

จุฑามณี ไม่ใช่คนที่มีต้นทุนชีวิตสูงนัก เธอจบการศึกษาแค่ ป.6 แสวงหาความรู้จากการเรียน กศน. สร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยความอดทนและเพียรพยายาม เธอเล่าว่า เริ่มสนใจศึกษาประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่สมัยเรียน แต่มาอินมากๆ ก็ตอนธุรกิจประสบวิกฤติครั้งใหญ่ หลังกิจการที่เคยอยู่ดีกินดี มีเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เลี้ยงดูสมาชิกทุกคนในครอบครัว และเคยประสบความสำเร็จชนิด มีถึง 4-5 สาขา มีรายได้หลายแสนบาทต่อเดือน แต่วันหนึ่งธุรกิจเจ๊ง! ต้องปิดไปหลายสาขา ถึงขนาดต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

วันนั้นเองที่เธอเริ่มคิดถึง “คำพ่อสอน”

“บทเรียนที่ได้จากครั้งนั้น คือ ถ้าเรายังไม่พร้อม แล้วไม่ประมาณตน ยังไปทำอะไรที่เกินตัวเราไปมาก ธุรกิจก็จะประสบปัญหา พอกลับมาทำความรู้จักกับตัวเอง ดูความถนัดของตัวเรา ไขว่คว้าหาความรู้ อยู่บนความพอเพียง รู้จักประมาณตน เลิกฟุ่มเฟือย ใช้เท่าที่มี ที่เหลือก็แบ่งปันให้ผู้อื่น กลายเป็นว่า แม้วันนี้ธุรกิจยังตกลงตามสภาพเศรษฐกิจ แต่เรากลับมีความสุขมากขึ้น” เธอบอกผลลัพธ์ที่ได้เรียนรู้จากคำสอนของพ่อ

จากแม่ค้าอารมณ์ศิลปิน ที่ไม่เคยง้อลูกค้า เมื่อได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่พระองค์ท่านยังลงมาหาประชาชน ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดใหม่ทันทีว่า เราเป็นแค่แม่ค้าทำไมไม่ “เข้าถึงลูกค้า” เหมือนพระองค์ท่านเข้าถึงประชาชน

“ท่านเป็นถึงเจ้า ยังลงมาหาประชาชน เราเป็นแค่แม่ค้า แต่ไม่เคยคุยกับลูกค้า ไม่เข้าถึงลูกค้า ไม่ถามความต้องการของลูกค้า ได้อย่างไรกัน เราทำงานศิลปะก็จริง แต่ก็ควรเรียนรู้นิสัยของลูกค้าด้วย ซึ่งหลังจากเปลี่ยนความคิด ทำให้ได้ลูกค้าที่เป็นมากกว่าลูกค้า คือเขากลายเป็นเหมือนญาติ ที่อุดหนุนเรามาถึงวันนี้” เธอบอกสิ่งดีๆ ที่ได้รับ

ด้าน“ดร.วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์” ประธานกรรมการ บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด เป็นอีกองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ทัศนะว่า องค์กรต้องสมดุล ต้องรู้จักพึ่งพาตัวเอง ทำอะไรต้องโฟกัส ไม่ใช่ทำธุรกิจที่กำไรดีแต่ตัวเองไม่ถนัด และไม่ลงทุนสุดโต่ง ใช้ทรัพยากรในประเทศ การบริหารจัดการภายในต้องสมดุล ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง รู้เรา รู้เขา รู้โลก มีภูมิคุ้มกัน และปฏิบัติต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) ด้วยความรัก

แนวทางของพ่อ ไม่ได้ทำให้ธุรกิจล้าสมัย ทว่ายังคงเติบโต และประสบความสำเร็จเอามากๆ ในเวทีธุรกิจ เขาย้ำว่า ไม่จำเป็นว่า พอเพียงแล้วธุรกิจจะไม่พัฒนา เพราะคำว่า พอเพียง คือ ความสมดุล แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ทำให้ธุรกิจชะงัก 

ทว่ากลับทำให้ธุรกิจเดินไปอย่างมั่นคง โดยสิ่งที่พวกเขาทำคู่กันไป คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ ด้วยการ สร้างแบรนด์ สร้างนวัตกรรม และใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็น “ภูมิต้านทาน” ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

“แนวทางของพระองค์ท่าน คือแนวทางที่ประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่พื้นฐานขององค์กร เป้าหมาย ประโยชน์และความสุข โดยในการทำธุรกิจเราต้องอย่าเอาแต่เงินเป็นตัวตั้ง อย่าคิดแค่ว่าฉันจะต้องโตเท่าไร แต่ต้องตั้งความสุขของคนในองค์กร และแบ่งปันประโยชน์และความสุขไปสู่คนนอกองค์กรอย่างเท่าเทียมด้วย” เขาบอก

ในคำสอนของพ่อ บอกว่า เราไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำมาหากินไปวันๆ หรือจะต้องแข่งขันและทำกำไรเพียงเท่านั้น เพราะทุกสิ่งที่หามาได้ ก็ต้องวางทิ้งไว้บนโลกใบนี้ เอาอะไรไปไม่ได้เลย ขณะที่บางสิ่งซึ่งสำคัญกว่า และเราอาจหลงลืมไป นั่นคือการให้ความสุขกับคนทั้ง 6 ทิศ ทั้ง ทิศเบื้องหน้า บิดา มารดา ทิศเบื้องหลัง บุตร ภรรยา สามี ทิศเบื้องขวา ผู้มีพระคุณที่ทำให้เรามีวันนี้ได้ ทิศเบื้องซ้าย เพื่อนแท้  ทิศเบื้องล่าง คือผู้ด้อยโอกาสในสังคม 

ที่สำคัญ ทิศเบื้องบนคือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

------------------------------------

เคลื่อนธุรกิจ บน“ทางสายกลาง”

ความพอประมาณ คือ “ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากจนเกินไป”ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

ความมีเหตุผล คือ “การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียง” จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล คิดถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน รอบคอบ

ภูมิคุ้มกัน คือ “การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ไม่ต่างจากการเดิน “ทางสายกลาง” (มัชฌิมาปฏิปทา) หมายถึง ทางปฏิบัติที่ไม่สุดโต่งไปในทางอุดมการณ์ใด อุดมการณ์หนึ่งเกินไป มุ่งเน้นใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา มักไม่ยืดถือหลักการอย่างงมงาย