ดักซื้อก่อนเงินนอก Take off มุมมอง KGI

ดักซื้อก่อนเงินนอก Take off มุมมอง KGI

ผ่านมา 9 เดือน ต่างชาติสะสมหุ้น 1.33 แสนล้านบาท สัญญาณนี้บ่งบอกหุ้นไทยเสน่ห์แรงสุดในอาเซียน หลังพื้นฐานประเทศโดดเด่น 'สมชาย กาญจนเพชรรัตน์'

หุ้นไทยเด้งทะลุ 1,500 จุด รับข่าวธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นในช่วง 0.25-0.50% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับติดลบ 0.1% เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามลำดับ ได้ไม่นาน

ผ่านมาไม่ถึงเดือน ปัจจัยภายในประเทศ กดดันให้ดัชนีหักหัวลงอีกครั้ง จนหลุด 1,400 จุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ลงไปสร้างจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,343.13 จุด ปรับตัวลดลง 36.03 จุด หรือ 2.50%

หลังนักลงทุนสถาบัน ,นักลงทุนต่างประเทศ และบัญชีหลักทรัพย์ ทยอยปล่อยหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องที่ระดับดัชนี 1457-1477 จุด นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา สวนทางกับนักลงทุนในประเทศที่ซื้อกลับ 4 วันติดต่อกัน

โดยวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบัน,นักลงทุนต่างประเทศ และบัญชีหลักทรัพย์ มีมูลค่าซื้อขายสุทธิติดลบ 1,221 ล้านบาท ,ติดลบ 3,623 ล้านบาท และติดลบ 411 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนในประเทศมีมูลค่าซื้อขายสุทธิเป็นบวก 4,656 ล้านบาท

ทว่าแม้ความกังวลภายในประเทศจะคลายตัวลง แต่ปัจจัยนอกประเทศยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงระยะสั้น โดยเฉพาะเรื่องเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.5% ในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย.และธ.ค.นี้

รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้นักลงทุนเกือบทุกประเภทตัดสินใจเก็บเนื้อเก็บตัว บางคนลดพอร์ตลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์

แม้ที่ผ่านมาโบรกเกอร์หลากหลายสำนักจะพยายามออกมาตอกย้ำว่า ตลาดหุ้นไทย ขาลงจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะหุ้นไทยยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ที่สำคัญหากพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง ดัชนีจะค่อยๆ ฟื้นตัว ความเชื่อมั่นนี้ สะท้อนผ่านเม็ดเงิน 'ซื้อสุทธิสะสม' ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 1.33 แสนล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวบ่งบอกว่า

ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในจุดที่น่าลงทุน...

'สมชาย กาญจนเพชรรัตน์' กรรมการผู้จัดการอาวุโสสายธุรกิจหลักทรัพย์บุคคล บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงสร้างผลตอบแทนในเกณฑ์ที่ดี

ฉะนั้นในช่วงที่เหลือของปี 2559 ต่อเนื่องไปในปี 2560 เม็ดเงินต่างชาติยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ซึ่งมุมของนักวิเคราะห์ต่างชาติยังคงอยู่ในลักษณะเดียวกับนักวิเคราะห์ไทย

ปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้เหล่านักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจหุ้นไทย คงหนีไม่พ้นเรื่อง 'ภาวะเศรษฐกิจ' ที่กำลังอยู่ในช่วงของการเติบโต ขณะเดียวกันยังมีมุมมองเป็นบวกต่อ 'การเมืองไทย' หลังในปี 2561 จะเป็นปีของการเลือกตั้ง เรื่องราวเหล่านี้จะสนับสนุนให้ต่างชาติเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น เขาย้ำ

สำหรับปัจจัยที่ยังกดดันหุ้นไทย แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นเรื่อง 'ส่งออก' ที่ยังคงมีตัวเลขติดลบ โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกติดลบ 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าลดลง 8.8%

'ระดับการหดตัวของมูลค่าส่งออกในปี 2559 ยังมีแนวโน้มดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับติดลบ 2% ฉะนั้นการส่งออกติดลบจะถูกชดเชยด้วยอัตราการเติบโตภายในประเทศ' 

ทว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังคงอิงอยู่กับการบริโภคภายในประเทศมากกว่าการส่งออก แตกต่างจากอดีตที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอิงอยู่กับตัวเลขการส่งออกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ต้องติดตาม เขา ตอบว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยคงเป็นเรื่องแรกๆที่ต้องเกาะติด เพราะปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินต่างชาติชะลอตัว แต่คงกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นตลาดหุ้นจะค่อยๆฟื้นตัว ตามปัจจัยพื้นฐานที่ดีของเมืองไทย

'เวลาหุ้นตกแรง มักดีดกลับแรงเช่นกัน'

'สมชาย' วิเคราะห์สถานการณ์ในแต่ละประเทศให้ฟังว่า สำหรับ 'เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกา' ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ฉะนั้นอาจเห็นเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อพี่ใหญ่ขยับเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ย่อมดีตามไปด้วย โดยเฉพาะประเทศไทยที่จะได้ประโยชน์ในเรื่องของการส่งออก

ส่วน 'เศรษฐกิจกลุ่มยุโรป' อาการยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากยุโรปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่มีหลายประเทศเกี่ยวข้อง ฉะนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจต้องใช้เวลานาน ยิ่งมาเจอเรื่องประเทศอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือ เบร็กซิท ยิ่งได้รับผลกระทบในวงกว้าง
ล่าสุดมาเจอประเด็นธนาคารดอยซ์แบงก์ ถูกกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาเรียกค่าปรับ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จากกรณีวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2551 ทำให้คาดการณ์สถานการณ์ไม่ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะทำให้การฟื้นตัวต้องใช้เวลา

สำหรับมุมมองที่มีต่อ 'เศรษฐกิจญี่ปุ่น' เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เริ่มดีขึ้น หลังซบเซามานาน ฉะนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่น ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะจะมีลักษณะค่อยๆฟื้นตัว

ยิ่งปลายปีนี้ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงทันที ส่งผลให้สินค้าในประเทศญี่ปุ่นมีระดับราคาที่ดีขึ้น ซึ่งการพึ่งพาส่งออกในสัดส่วนที่มากของญี่ปุ่นจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

ส่วน 'เศรษฐกิจจีน' ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่จะไม่หวือหวานเหมือนที่ผ่านมา ทว่าหากมองในแง่ของการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ถือว่า ยังพอลงทุนได้ หลังราคาปรับตัวลงสู่พื้นฐานแท้จริงแล้ว แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ตลาดอยู่ในลักษณะโอเวอร์

กูรูตลาดหุ้น เล่าต่อว่า ยังคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2559 ที่ระดับ 1,510 จุด และ 1,670 จุด ในปี 2560 ปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ 1.ตัวเลขจีดีพี ในปี 2560 อาจขยายตัวอยู่ในระดับ 3.8% ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวในระดับต่ำเฉลี่ย 2.8-3%

2.ราคาสินค้าทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น หลังเมืองไทยพ้นวิกฤติภัยแล้ง ขณะเดียวกันหนี้ที่เกิดจากรถยนต์คันแรกจะเริ่มทยอยหมดลงตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศขยับตัวมากขึ้น

3.รัฐบาลคงเดินหน้าลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 รวมถึงยังจะลงทุนโครงการทางหลวงระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทาง ,รถไฟรางคู่, โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น

'มูลค่าการก่อสร้างของภาครัฐจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเฉลี่ยสูงกว่า 10% ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณประจำยังคงขยายตัว ตามเงินงบประมาณที่ขยายตัวมากกว่า 4%' 

4.หนี้สาธารณะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้การลงทุนขนาดใหญ่จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 1-2% จากระดับ 43% ในปัจจุบันก็ตาม ฉะนั้นจะไม่มีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่อยู่ระดับ BBB+

5.ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง หลังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่า 10% ตามการขยายตัวของสายการบิน Low cost ซึ่งจะช่วยหนุนการใช้จ่ายในประเทศ ภาคบริการ และกลุ่มโรงแรม ให้อยู่ในระดับสูง

'หลังเมืองไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศจะมีเสถียรภาพมากขึ้น'