อสมท เปิดแผนเยียวยา เคลียร์ปัญหาโครงข่าย

อสมท เปิดแผนเยียวยา เคลียร์ปัญหาโครงข่าย

อสมท ยืนยันขยายโครงข่ายตามมาตรฐาน กสทช. แจงแผนแยียวยา-แก้ปัญหา ร่วมผู้ใช้บริการ 3 ช่องทีวีดิจิทัล สัญญาณบวก

นายพิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจากกรณีที่ผู้ใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (Mux) ของ อสมท ได้แก่ ช่องวอยซ์ทีวี, สปริงส์นิวส์และไทยรัฐทีวี ค้างชำระค่าบริการโครงข่ายฯ ตามเงื่อนไขสัญญาจนเป็นที่มาของการยื่นหนังสือขอระงับการให้บริการโครงข่าย ที่ผ่านมา อสมท ได้พยายามเจรจากับผู้ใช้บริการโครงข่ายเพื่อหาข้อยุติมาโดยตลอด ไตรมาสนี้มีความคืบหน้าในการเจรจาไปมาก และเชื่อว่าจะมีผลการเจรจาในเชิงบวก 

ประเด็นหลักในการเจรจาที่ผู้ใช้บริการระบุว่าโครงข่ายอสมท ไม่เป็นพรีเมียมนั้น ยืนยันว่าอุปกรณ์ที่ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานที่ กสทช. กำหนด 

ด้านการติดตั้งโครงข่ายในช่วงที่ 1 เดือนก.ค.-ต.ค. 2557 ก่อนโครงข่ายครอบคลุม จำนวนครัวเรือน 50% ซึ่งมีความล่าช้าในการติดตั้งนั้น  อสมท ได้พิจารณาแนวทางการเยียวยาค่าบริการดังกล่าวให้กับผู้ใช้บริการทั้ง 3 รายแล้วและอยู่ระหว่างการเจรจา อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีชำระค่าบริการล่าช้า ในช่วงที่ 2 ระหว่างเดือน พ.ย.2557 - พ.ค.2559 แม้ อสมท ได้ขยายโครงข่าย จนครอบคลุมจำนวนครัวเรือนตามกรอบเวลาที่ กสทช. กำหนดแล้ว 

“อสมท ได้เยียวยาโดยลดค่าบริการในอัตราที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย จากการที่ทั้ง 3 ราย ชำระค่าบริการล่าช้า อสมท จึงคิดค่าชดเชย ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทางบวกว่าทั้ง 3 ราย จะชำระค่าบริการในช่วงที่2นี้”

สำหรับช่วงที่ 3 ระหว่างเดือน มิ.ย.2559-ปัจจุบัน หลังจากที่มีการเจรจาเรื่องการชำระค่าบริการร่วมกับผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย จน กสทช.ได้เข้ามาร่วมหารือจนเกิดการตรวจรับสัญญานทั่วประเทศร่วมกัน โดยมี กสทช เป็นพยานและสรุปผลร่วมกันในเดือน พ.ค.2559 จากนั้น อสมท และผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย จึงเริ่มเจรจาเรื่องการชำระค่าบริการคงค้างอีกครั้งซึ่ง อสมท ได้พิจารณาแนวทางการเยียวยาค่าบริการดังกล่าวให้กับผู้ใช้บริการทั้ง 3 รายแล้ว โดยผู้ใช้บริการต้องชำระค่าปรับจากการชำระค่าบริการล่าช้า

ขณะนี้ อสมท ได้ดำเนินการขยายสถานีโครงข่ายครอบคลุมจำนวนครัวเรือน 90% ตามแผน กสทช. นอกจากจะขยายโครงข่ายต่อไปตามแผนที่ กสทช กำหนด ยังมีแผนพัฒนาการให้บริการโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างสถานีเสริมเพื่อปรับปรุงการให้บริการในพื้นที่สำคัญ การพัฒนาระบบ monitoring และระบบการบำรุงรักษาซึ่งเป็นจุดแข็งของ อสมท ที่มีวิศวกรระบบโครงข่ายที่มีประสบการณ์สูงกว่า 150 นาย กระจายตามพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการโครงข่ายและผู้ชมทีวีดิจิทัล