คู่กัด เมอร์เซเดส ในโค้งสุดท้าย เอฟวัน

คู่กัด เมอร์เซเดส ในโค้งสุดท้าย เอฟวัน

นานแล้วที่แฟนกีฬามอเตอร์สปอร์ต ไม่ได้ลุ้นระทึกไปกับผลการแข่งขัน ฟอร์มูลา วัน จนถึงท้ายฤดูกาล

ในสองปีล่าสุด ตำแหน่งแชมป์โลกของ ลูอิส แฮมิลตัน แม้จะถูกท้าทายโดย นิโค รอสเบิร์ก เพื่อนร่วมทีม เมอร์เซเดส เอเอ็มจี แต่นักซิ่งชาวเยอรมนี ก็ไม่สามารถยืนระยะได้จนจบฤดูกาล

ช่องว่างที่ตามหลัง 59 คะแนน (ปี 2015) และ 67 คะแนน (ปี 2014) คือตัวบ่งชี้ความแตกต่าง ระหว่างตำแหน่งแชมป์และรองแชมป์โลกของคนทั้งคู่ หรือหากย้อนไปในปี 2013 ก็ยิ่งหนักข้อ เพราะ เซบาสเตียน เวทเทล คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4 กับ เร้ดบูลล์ โดยมีแต้มทิ้ง เฟร์นานโด อลอนโซ ในอันดับสอง ถึง 155 คะแนน ทั้งที่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น ตำแหน่งแชมป์โลกระหว่างคู่นี้ ตัดสินด้วยผลต่างเพียง 3 คะแนน

จนมาในปีนี้นี่เองที่คู่หู เมอร์เซเดส เอเอ็มจี ช่วยให้วงการรถสูตรหนึ่งร้อนระอุ ทั้งในและนอกสนามอีกครั้ง...

ปูมหลังที่แตกต่าง

รอสเบิร์ก คือลูกชายของ เกเก้ อดีตแชมป์โลกชาวฟินแลนด์ ช่วงต้นทศวรรษที่ 80 แต่การก้าวตามรอยเท้าพ่อสู่ความยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่าย 3 ฤดูกาลแรกในการเริ่มต้นชีวิตนักขับรถสูตร 1 ของ รอสเบิร์ก กับ วิลเลียมส์ ต้นสังกัดที่ เกเก้ เคยคว้าแชมป์โลกด้วย จบลงด้วยอันดับ 17, 9 และ 13 เท่านั้น

ผิดกับอัจฉริยะนักขับอย่าง แฮมิลตัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักขับอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของ แม็คลาเรน และเกือบคว้าแชมป์โลกได้ตั้งแต่ปีแรก ก่อนจะแก้ตัวสำเร็จ ด้วยการเป็นแชมป์โลกอายุน้อยที่สุดในฤดูกาลถัดมา

เสือสองตัวในถ้ำเดียว

ปี 2010 รอสเบิร์ก เซ็นสัญญากับ เมอร์เซเดส จีพี ทีมแข่งฟอร์มูลาวันของผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมนี โดยมีสุดยอดนักขับตลอดกาล มิชาเอล ชูมัคเกอร์ เป็นเพื่อนร่วมทีม

หลังการรีไทร์ของ “ชูมี” เมื่อจบฤดูกาล 2012 รอสเบิร์ก จึงมีโอกาสได้ร่วมงานกับ“เพื่อนเก่า” ที่คุ้นเคยกันดี ตั้งแต่สมัยแข่งขันระดับโกคาร์ท ลูอิส แฮมิลตัน 

ในฤดูกาล 2013 ที่คู่กัดแห่งวงการยังเป็น เร้ดบูลล์ กับ เฟอร์รารี นั้น ความบาดหมางระหว่างสองนักขับแห่งยุคยังไม่ปรากฎ แต่หลังการชิงตำแหน่งโพลโพซิชัน ในรอบคัดเลือก โมนาโก กรังด์ปรีซ์ 2014 ความบาดหมางระหว่างทั้งคู่ก็ค่อยๆ พอกพูน จนถูกนำไปเปรียบกับคู่ของอแลง พรอสต์ - ไอร์ตัน เซนนา ของ แม็คลาเรน ในทศวรรษที่ 90

เพราะนับแต่นั้นมา แฮมิลตัน และ รอสเบิร์ก ก็ชิงดีชิงเด่นกัน จนเกิดเหตุการณ์เฉี่ยวชนหลายครั้ง ตามด้วยบทสัมภาษณ์ตอบโต้กันตลอด

นอกสนาม ทั้งคู่ก็จวนเจียนจะฟาดปากกันจริงหลายรอบ ร้อนถึง โตโต้ โวล์ฟ ประธานฝ่ายมอเตอร์สปอร์ต ต้องปรามว่าอาจตัดสินใจเลือกคนใดคนหนึ่ง หากความบาดหมางจะส่งผลเสียต่อทีม ทั้งคู่ถึงยอมสงบปากสงบคำ 

ล้างตาหรือย้ำแค้น

2 ปีหลังสุด แฮมิลตัน เป็นฝ่ายได้รับการชูมือ ในฐานะนักขับสหราชอาณาจักรคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้แชมป์เอฟวัน สองปีซ้อน ขณะที่ รอสเบิร์ก ทำได้ดีที่สุดคือเพิ่มสีสันให้การแข่งขัน

จนในปี 2016 นี่เอง ที่การแข่งขันระหว่างทั้งคู่พลิกผันไปมา จนคาดเดาได้ยากว่าสุดท้ายจะมีบทสรุปอย่างไร

รอสเบิร์ก เริ่มต้นอย่างดุดันด้วยตำแหน่งแชมป์ 4 สนามแรก จนขึ้นเป็นผู้นำในตารางอันดับคะแนน ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลแข่งขันในยุโรป

แต่ แฮมิลตัน ซึ่งต้องการคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 4 ก็โต้ตอบกลับ ด้วยการคว้าแชมป์ถึง 6 จาก 8 สนาม ระหว่างช่วง พ.ค.-ก.ค. ลดช่องว่างจากที่เคยตามถึง 43 คะแนน กลับมาเป็นฝ่ายนำ 19 คะแนน หลังจบ เยอรมัน กรังด์ปรีซ์

ทว่า ใน 5 สนามหลังสุด โมเมนตัมก็เหวี่ยงกลับมาที่ รอสเบิร์ก อีกครั้ง โดยเฉพาะใน มาเลเซียน กรังด์ปรีซ์ เครื่องยนต์ของ แฮมิลตัน เกิดปัญหาจนแข่งขันไม่จบ ขณะเหลือเพียง 16 รอบ ทั้งที่ขึ้นนำอยู่ในเวลานั้น

จากนี้ ฟอร์มูลาวัน เหลืออีกเพียง 4 สนาม คือ ยูเอส กรังด์ปรีซ์ (23 ต.ค.) เม็กซิโก กรังด์ปรีซ์ (30 ต.ค.) บราซิเลียน กรังด์ปรีซ์ (13 พ.ย.) และ อาบู ดาบี กรังด์ปรีซ์ (27 พ.ย.) ในสถานการณ์ที่ รอสเบิร์ก มีแต้มนำ แฮมิลตัน 33 คะแนน

ต่อให้ แฮมิลตัน คว้าแชมป์ทั้ง 4 สนาม (25 x 4 = 100 คะแนน) แต่หาก รอสเบิร์ก ประคองตัวจบอันดับ 2 ทั้งหมด (18 x 4 = 72 คะแนน) ก็ยังเพียงพอต่อการคว้าแชมป์โลกอยู่ดี

แต่ในแง่ของประสบการณ์ แฮมิลตัน เคยตกอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นหัวใจแบบนี้ ถึง 4 ครั้ง คือในปี 2007, 2008, 2010 และหนล่าสุด คือปี 2014 ที่ทั้งคู่ขับเคี่ยวกันเอง

นอกจากประสบการณ์ ปัญหาเครื่องยนต์ และปัจจัยอื่นๆในสนาม ล้วนแล้วแต่สามารถตัดสินผลแพ้ชนะได้ เพราะในปี 2007 แฮมิลตัน ซึ่งเคยมีแต้มนำ 17 คะแนน ก่อนเข้าสู่สองสนามสุดท้าย ยังเคยเสียแชมป์โลกให้ คิมี ไรโคเนน มาแล้ว 

ฉะนั้น การลุ้นแชมป์ระหว่างเสือสองตัวในถ้ำเดียวนี้ คงยังด่วนสรุปไม่ได้ จนกว่าแต้มในมือจะขาดลอยแล้วเท่านั้น