ใต้ร่มเงาน้ำพระทัย

ใต้ร่มเงาน้ำพระทัย

ทุ่งมะขามหย่องมีความสำคัญเป็นพิเศษในฐานะพื้นที่“รวมหัวใจชาวไทย”ใต้ร่มพระบารมี

เหตุมหาอุทกภัยภาคกลาง ปี 2554 น้ำท่วมอยุธยาแทบทั้งจังหวัด พื้นที่ทุ่งมะขามหย่องพันกว่าไร่ได้รองรับมวลน้ำมหาศาลที่ผันเบี่ยงเข้ามา ช่วยชะลอการท่วมตัวเมืองไปได้ระยะหนึ่ง และลานดินรอบพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ก็กลายเป็นแหล่งพักพิงของประชาชนผู้ประสบภัยนับพัน รวมไปถึงช้างม้าวัวควาย เป็ดไก่สุกร เป็นเวลานานนับเดือน นั่นคือคุณประโยชน์อันเป็นที่ประจักษ์แจ้งของโครงการแก้มลิง “ทุ่งมะขามหย่อง” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เตรียมพื้นที่ไว้ เป็นแหล่งเก็บน้ำในหน้าแล้ง และรองรับน้ำท่วมในหน้าฝน ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 มิฉะนั้นแล้ว ที่ดินใกล้ตัวเมืองบริเวณนี้คงได้กลายเป็นทำเลทองของบ้านจัดสรรและอาคารร้านค้า เรียงรายรอรับน้ำท่วมไปเสียหมด

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทุ่งมะขามหย่องรองรับน้ำจากลำน้ำหลายสาย เมื่อเกิดสงครามประชิดกรุง กลศึกอย่างหนึ่งของผู้นำทัพสยามก็คือป้องกันพระนครไว้ ไม่ยกทัพออกไปไล่ตามตีให้สิ้นเปลืองกำลังไพร่พล สู้ถ่วงเวลาจนกว่าจะถึงฤดูน้ำหลากท่วมทุ่ง ข้าศึกก็จะต้องถอยร่นหนีน้ำไปเอง ทุ่งมะขามหย่องมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงได้มีการก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2535

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาประวัติศาสตร์ และทรงเข้าพระทัยกฏเกณฑ์ธรรมชาติเป็นอย่างดี แม้โครงการแก้มลิงใหญ่น้อยยังมีอีกหลายแหล่งที่ แต่ทุ่งมะขามหย่องมีความสำคัญเป็นพิเศษในฐานะพื้นที่“รวมหัวใจชาวไทย”ใต้ร่มพระบารมี กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2539 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเกี่ยวข้าวในท้องทุ่งด้วยพระองค์เอง เป็นภาพประทับใจปวงพสกนิกรไทยมิรู้ลืม และในปี พ.ศ.2549 เมื่อเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาในที่ดินส่วนพระองค์ที่ทุ่งมะขามหย่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร 

ครั้งสุดท้าย เมื่อสี่ปีก่อน พ.ศ.2555 ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 85 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ทุ่งมะขามหย่องก็ได้รับเสด็จล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประชาชนนับหมื่นเดินทางมาชุมนุมรอรับเสด็จ และเฝ้าชมการแสดงบนเวทีกลางน้ำครั้งยิ่งใหญ่ ในวันที่ 25 พฤษภาคม ซึ่งพสกนิกรทั่วประเทศก็ได้ชื่นชมพระบารมีจากการถ่ายทอดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ แม้บรรยากาศทางการเมืองในช่วงนั้นยังอึมครึม แต่เป็นวันที่ชาวไทยทุกคนมีความสุขเมื่อได้เห็นทุกพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ “ในหลวง”ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เสด็จฯออกจากโรงพยาบาลศิริราชมาสักการะพระราชานุสาวรีย์ และประทับนั่งชมการแสดงเป็นเวลาหลายชั่วโมง

ค่ำคืนนั้น ดิฉันได้รับพระบรมราชานุญาต พระราชทานโอกาสอันเป็นมงคลชีวิต ได้ขึ้นเวทีร่ายบทกวีร่วมกับเพลงขลุ่ยโดยอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นความทรงจำประทับใจไม่รู้ลืม และหลังจากนั้น เมื่อมีใครถามว่า “รู้สึกอย่างไรเมื่อได้เห็นในหลวงพระองค์จริง?” ดิฉันมักตอบอย่างปลาบปลื้มภาคภูมิใจเป็นที่สุดว่า (ขออนุญาตใช้ถ้อยคำจริงๆที่หลุดปากจากหัวใจ) 

ไม่ได้เห็นหรอก เพราะเวทีอยู่ไกลและแสงไฟเข้าตา แต่พระองค์เห็นเรา และได้ยินเสียงเราด้วย” 

----------------------------------------------------

ณ ชานกรุงทุ่งกว้าง         อโยธยา

มะขามหย่องเคยยาตรา         ศึกสู้

ยุทธหัตถีหลังคชา              สละชีพ

ศรีสุริโยทัยสถิตคู่              ถิ่นทุ่ง ทิพย์สวรรค์

ณ ชานกรุงทุ่งกว้าง         อโยธยา

มะขามหย่องยามฝนมา         รับน้ำ

ชัยภูมิป้องนครา               กรุงเก่า กลศึก

ทัพใหญ่อริรุกล้ำ               ท่วมน้ำ ถอยหนี

 

ทุ่งมะขามยามศึกจารึกค่า ภูมิปัญญาป้องภัยให้เมืองหลวง

ประวัติศาสตร์ซึมซับรับผลพวง เวลาล่วงหลายร้อยปีที่ลืมเลือน

 

ทุ่งมะขามยามนี้ยิ่งมีค่า เมื่อถึงคราป้องภัยน้ำใต้เขื่อน

เป็นแก้มลิงโอบอุ้มคุ้มบ้านเรือน ครั้นถึงเดือนร้อนแล้งคือแอ่งธาร

 

น้ำเลี้ยงนา พานิเวศเกษตรสุข ยามท่วมทุกข์ ผันเบี่ยงเลี่ยงเมืองบ้าน

สร้างอาชีพ สร้างชุมชนดลบันดาล ร้อยโครงการ ชุบทุ่งทองให้รองเรือง

 

น้ำพระทัยสองพระองค์หลั่งลงรด ให้ปรากฏแผ่นดินทองนองสุขเนื่อง

ณ วันนี้ ทุ่งนี้ ที่แก้มเมือง อีกบทเบื้องประวัติศาสตร์สร้างชาติไทย

 

เพลงขลุ่ยพลิ้วริ้วทุ่งมะขามหย่อง ราชานุสาวรีย์ทอดมองส่องสมัย

พสกพร้อมน้อมหมายถวายชัย ใต้ร่มเงาน้ำพระทัย-- น้ำ-ใจ-เมือง

 

 

จิระนันท์ พิตรปรีชา

25 พฤษภาคม 2555