SCB - ซื้อ

SCB - ซื้อ

กำไรไตรมาส3/59 ต่ำคาดจากสำรองหนี้สูญฯเพิ่มขึ้น

กำไรต่ำกว่าที่เราคาด 12%

SCB รายงานกำไรไตรมาส3/59 ที่ 1.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% YoY แต่ลดลง 10% QoQ ซึ่งต่ำกว่าที่เราประมาณการ 12% และตำกว่าที่ Bloomberg ประมาณการ 6% ส่วนใหญ่มาจากการสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯที่ขยายตัวมากขึ้น เราคาดธนาคารจะรายงานการสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯไตรมาส3/59 ที่ 5.5 พันล้านบาท เทียบกับตัวเลขของธนาคารที่ 7.0 พันล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานที่ไม่รวมสำรองหนี้เสียเติบโต 7% YoY และ 5% QoQ มาอยู่ที่ 2.04 หมื่นล้านบาท (เป็นไปตามที่เราคาด) กำไร 9 เดือนของปี 2559 ลดลง 1.4% มาอยู่ที่ 3.49 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 69% ของประมาณการกำไรก่อนหน้านี้ที่ 5.05 หมื่นล้านบาท

ประเด็นหลักผลประกอบการ

สินเชื่อปรับตัวสูงขึ้น 2.7% QoQ และ 4.3% YTD ซึ่งสูงกว่าเราคาดที่เพียง 1.5% QoQ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไตรมาส3/59 อยู่ที่ 3.38%, เพิ่มขึ้น 27bps YoY และ 9bps QoQ สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยเติบโต 7.5% QoQ และ 0.3% QoQตามลำดับ ในขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีปรับตัวลดลง 0.4% QoQ ส่วนการสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯลดลง 56% YoY และ 18% QoQ มาอยู่ที่ 7.0 พันล้านบาท อัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไตรมาส3/59 ของ SCB ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.85% ในปลายเดือนก.ย. 2559 จาก 2.77% ในไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไตรมาส3/59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.5% QoQ มาอยู่ที 6.1 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 129% ในปลายเดือนก.ย. จาก 130% ในไตรมาสที่แล้ว รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิปรับตัวพิ่มขึ้น 11% YoY และ 2% QoQ มาอยู่ที่ 2.22 หมื่นล้านบาท ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% YoY และ 9% QoQ มาอยู่ที่ 1.05 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายรับปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 39.0% ในไตรมาส3/59 จาก 38.4% ในไตรมาส3/58 แต่ลดลงจาก 39.8% ใน ไตรมาสที่ผ่านมา (จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและการขยายฐานสินเชื่อที่ดีขึ้น)

แนวโน้ม

SCB น่าจะรายงานกำไรไตรมาส4/59 ดีขึ้นเล็กน้อย YoY จากสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง, ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้นและรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น

สิ่งที่เปลี่ยนแปลง


จากการเน้นนโยบายการสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯที่สูงใน 9 เดือน เราจึงปรับประมาณการการสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯ ขึ้น 13% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้น 14% ในปี 2560 มาอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เราปรับลดประมาณการกำไร 5.4% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 4.78 หมื่นล้านบาท และ 4.6% ในปี 2560 มาอยู่ที่ 5.58 หมื่นล้านบาท

คำแนะนำ

กำไรที่ลดลงส่งผลให้เราปรับลดราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2560 ลง 5.7% มาอยู่ที่ 182 บาท อ้างอิงจากมูลค่า PBV ณ สิ้นปี 2560 ที่ 1.66 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.82 เท่า) ถึงแม้ว่าเราจะปรับลดกำไรลง เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อกำไรของ SCB ปี 2559 และ 2560 โดยมีปัจจัยดังนี้ 1) การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของกำไรและกิจกรรมด้านสินเชื่อที่ดีจากโครงการภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส4/59 เป็นต้นไป, 2) การบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี (สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่เพียง 2.85% กอปรกับเงินสำรองหนี้สูญฯสูงที่ 129%) และ 3) SCB มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นสูงที่ 14.8% ในปี 2559 และ 15.8% ในปี 2560 เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ”